เจาะลึก CEA ดันธุรกิจอนาคตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างโอกาส-เพิ่มมูลค่า พาเศรษฐกิจไทยก้าวไกลสู่สากล
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ Creative Business Transformation ร่วมกับภาคีเครือข่ายพันธมิตร 15 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เข้ามาตอบโจทย์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไกลสู่สากล ผ่านงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “Creative Economy Foresight & Transformation : อนาคตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย” โดยตัวแทนวิทยากรจากหน่วยงานและเครือข่ายองค์กรพันธมิตร ที่เล็งเห็นความสำคัญของการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ที่ควรบูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันอย่างครอบคลุม ใน 4 มิติหลัก ได้แก่ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจสร้างสรรค์ การขยายองค์ความรู้การจัดการธุรกิจสร้างสรรค์ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและแนวทางการลงทุนทางธุรกิจอย่างยั่งยืน และแนวโน้มของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566
เปิดภาพอนาคตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้ปาฐกถาในหัวข้อ “Creative Economy Foresight & Transformation” เผยให้เห็นถึงมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลกอยู่ที่ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเติบโตจาก 10 ปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า สำหรับประเทศไทยล่าสุดอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท จึงเทียบเป็น 6.8% ของ GDP ซึ่งถือว่าสูงมาก รวมทั้งมีอัตราการเติบโต เฉลี่ยสะสม ในสภาวะปกติอยู่ที่ 5.7% มีการจ้างงานประมาณ 9 แสนคน และจากการร่วมลงนามความร่วมมือระหว่าง CEA กับอีก 15 หน่วยงานแล้ว CEA มีการตั้งเป้าว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จะเติบโตขึ้นเพิ่มอีก 5% จากเดิมที่นับเป็น 6.8% จาก GDP
นอกเหนือจากการส่งเสริมสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลัก อันได้แก่ 1. Creative Originals (กลุ่มรากฐานทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์) 2. Creative Content and Media (กลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์) 3. Creative Services (กลุ่มบริการสร้างสรรค์) 4. Creative Product (กลุ่มสินค้าสร้างสรรค์) และ 5. Related Industries (กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกยิ่งขึ้นนั้น ต้องสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาสินค้าและบริการ อย่างการทำงานแบบ Cross Industry Collaboration จึงเป็นหนึ่งในแนวทางการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการ และองค์กรต่าง ๆ ต้องวิเคราะห์ตัวเองถึงความพร้อมในการนำความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจ โดยทาง CEA มีเครื่องมือ Creativity Maturity Assessments Index ที่ช่วยวัดความพร้อมของบุคคล และองค์กร เพื่อชี้ให้เห็นถึงจุดต่าง ๆ ที่ต้องมีการพัฒนาเพิ่ม
สำหรับทิศทางของภาพอนาคตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประกอบไปด้วย 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. Cultural Value Added การนําเสนอความคิดสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สะท้อนคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม เน้นให้เกิดตลาดใหม่เฉพาะกลุ่ม 2. Sustainability Rebalanced การนําแนวทางปฏิบัติที่เข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการประกอบธุรกิจแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในการบริโภคและการผลิตมากขึ้น 3. Technological Blending for Every Scale การผสานรวมเทคโนโลยีเข้ากับทุกแง่มุมของชีวิตที่จะพลิกโฉมขอบเขตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 4. Prosperity Downturn ที่อาจจะมีการ Collapse ในบางอุตสาหกรรมเมื่อเศรษฐกิจเติบโต ซึ่งจากภาพอนาคตดังกล่าวทำให้เกิดการวางแนวทางการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับ 15 เครือข่ายพันธมิตรในความร่วมมือ Creative Business Transformation
กลยุทธ์สร้างเครือข่าย การขาย การตลาด
เริ่มต้นการเสวนาในหัวข้อ ความร่วมมือด้านเครือข่ายธุรกิจชุมชน องค์ความรู้การจัดการธุรกิจ และการขายและการตลาด โดยมี กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย , วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมเสวนานั้น ต่างให้มุมมองที่น่าสนใจในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การขยายการรับรู้องค์ความรู้การจัดการธุรกิจ ที่เน้นการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพด้วยการ Reskill และ Upskill ให้กับบุคลากรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงานตลอดจนผู้บริหาร การเพิ่มความต้องการทางการตลาดและการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ได้กว้างขึ้น เพื่อกระตุ้นการขายผลิตภัณฑ์และบริการจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ คุณอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ยังได้กล่าวถึงความสำคัญในการขยายเครือข่าย พัฒนา และเสริมความรู้ด้านการจัดการธุรกิจสร้างสรรค์ที่ให้แก่กลุ่มธุรกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ OTOP ว่า “กรมการพัฒนาชุมชนได้นำภูมิปัญญาที่มีอยู่ของแต่ละชุมชนมาพัฒนาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์และจำหน่ายสร้างรายได้ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่าง CEA ให้มีการต่อยอดทั้งด้านผลิตภัณฑ์ การจัดจำหน่าย กลุ่มลูกค้าฯลฯ ที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าและขยายตัวของอุตสาหกรรม ซึ่งความยั่งยืนทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อภาครัฐช่วยสนับสนุน เอกชนช่วยขับเคลื่อน และประชาชนต้องลงมือทำ”
การปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ต่อมาในหัวข้อ ความร่วมมือด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มาร่วมพูดคุยประเด็นนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชนในการผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ก็สามารถยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้
คุณชาญ กุลภัทรนิรันดร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ด้วยสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่อย่าง AI, Robotics หรือแม้แต่ Digitalization ก็สามารถใช้ยกระดับสร้างสรรค์ผลงานด้านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ผ่านแพลตฟอร์ม หรือคอมมูนิตี้ได้ สำหรับความร่วมมือกับ CEA ทำโครงการ Content Lab ให้นักสร้างสรรค์ได้มีโอกาสเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีประกอบผลงานสร้างสรรค์ โครงการ Technology Fun เดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานในอนาคต และโครงการศิลปกรรม ปตท. แบบ Virtual Gallery ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทาง ปตท.ทำเป็นเสมือน Backbone ที่อยู่เบื้องหลังในการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ผ่านเทคโนโลยี และเครื่องมือต่าง ๆ”
แหล่งเงินทุน ปัจจัยสำคัญหนุนการสร้างสรรค์ให้เติบโต
ในหัวข้อความร่วมมือด้านการเข้าถึงแหล่งทุน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank), สินวัฒนา คราวด์ฟันดิ้ง, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ที่มาร่วมเสวนาต่างมีความเห็นตรงกันในการสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านการเข้าถึงแหล่งทุนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความรู้และทักษะทางการเงินให้ผู้ประกอบการ การเสนอทางเลือกที่หลากหลายทั้งผลิตภัณฑ์และโปรแกรมทางการเงินที่ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจสร้างสรรค์ รวมถึงโอกาสในการการแสวงหาตลาดใหม่ในต่างประเทศ และการเข้าถึงแหล่งทุนที่ออกแบบเฉพาะสำหรับธุรกิจสร้างสรรค์อย่างคราวด์ฟันดิ้ง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการสร้างระบบนิเวศทางการเงินสำหรับธุรกิจสร้างสรรค์แบบครบวงจร
คุณชลัช รัตนบุญนิธิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) กล่าวเสริมว่า “แนวทางความร่วมมือในการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยสำหรับผู้ประกอบการนั้นมี 2 ปัจจัยหลักที่ควรพัฒนาและลงทุน ได้แก่ 1.Infrastructure การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และด้านโลจิสติกส์ 2.Working Capital เงินทุนหมุนเวียน ที่เป็นเงินทุนสำรองระยะสั้นสำหรับธุรกิจ โดยทาง EXIM Bank พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการทุก ๆ ด้าน โดยผู้ประกอบการสามารถนำผลงานของธุรกิจมาสร้างวงเงินในลักษณะของ Working Capital เพื่อเติมโอกาสและเติมเงินทุนในการสร้างสรรค์ผลงานทั้งคอนเทนต์ สื่อสร้างสรรค์ รวมทั้งสินค้าและบริการได้อย่างไม่มีสะดุด”
พลังแห่ง Creative Content ไทยสร้าง Soft power ไปไกลสู่ตลาดโลก
สุดท้าย สำหรับหัวข้อความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ มีการแลกเปลี่ยนความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าด้านคอนเทนต์ได้อย่างน่าสนใจ ได้แก่ บริษัท เน็ตฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด, สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย, สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ, สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย โดยเน้นความสำคัญว่า ครีเอทีฟคอนเทนต์นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยที่มีศักยภาพในการสร้าง Soft Power สูงสุด ทั้งในรูปแบบของการถ่ายภาพยนตร์และซีรีส์ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ รวมถึงการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในกลุ่มอุตสาหกรรมดนตรี เพื่อให้กลุ่มอุตสาหกรรมดนตรีของไทยได้รับผลตอบแทนจากการสร้างสรรค์ผลงานอย่างยุติธรรมและก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งคอนเทนต์คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก หากแต่ต้องการสนับสนุนจากภาครัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเดินไปด้วยกันในการผลักดันให้คอนเทนต์ไทยสู่ตลาดสากล
ดร.ศรุต วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประเทศไทย ลาว และกัมพูชา บริษัท เน็ตฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “ประเทศไทยมีศักยภาพทั้งในแง่การเติบโตของตลาดบริการสตรีมมิง และการผลิตคอนเทนต์ ดังนั้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของไทย เราจึงควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทักษะบุคลากรในวงการ โดยเน็ตฟลิกซ์เองได้มีการจัดฝึกอบรมบุคลกรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มครีเอเตอร์ หรือบุคลากรในสายงาน Post Production โดย Post Production Workshop ของเราก็ได้รับการอนุเคราะห์โดย CEA นอกจากนี้ เน็ตฟลิกซ์ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึง CEA เพื่อส่งเสริมนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล โดยที่ผ่านมา มีการร่วมกับ CEA, ททท. และ กรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดทำ Uncover Thailand : A Creative Travel Guide ผ่านเว็บไซต์ www.thailandtravelmap.com ที่นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร และวัฒนธรรม ผ่านการตามรอยภาพยนตร์และซีรีส์จากเน็ตฟลิกซ์ที่ถ่ายทำในประเทศไทย เราเชื่อว่าการดำเนินงานและโครงการต่าง ๆ เหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย และช่วยเผยแพร่ soft power ของไทยไปสู่สายตาชาวโลกได้”
จากงานเสวนาครั้งนี้ เห็นได้ว่าภาพอนาคตด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยล้วนต้องมาจากความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทุกมิติล้วนมีผลต่อการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่หัวใจสำคัญคือการที่คนไทยด้วยกันเห็นความสร้างสรรค์ของคนไทยด้วยกัน และพร้อมช่วยกันผลักดันเพื่อให้คนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยสร้างผลงาน ผลิตภัณฑ์ บุคลากร เพื่อให้ก้าวสู่ตลาดโลกได้