สำรวจผลตอบแทนที่มากกว่าแค่ตัวเงินจากการลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศอังกฤษ
ช่วงทศวรรษที่ 1960 วงดนตรีก้องโลกอย่าง เดอะบีเทิลส์ (The Beatles) เดอะฮู (The Who) เดอะคิงค์ส (The Kinks) และควีน (Queen) ทำให้อุตสาหกรรมดนตรีของอังกฤษแซงหน้าสหรัฐอเมริกา ต่อมา ในทศวรรษที่ 1970 อังกฤษก้าวสู่แถวหน้าของวงการโฆษณาระดับโลกโดยเอเจนซี่หน้าใหม่อย่าง ซาทชิ แอนด์ ซาทชิ (Saatchi and Saatchi) บีเอช (BBH) บีเอ็มพี (BMP) ด้านวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด ก็มีผู้กำกับสัญชาติอังกฤษอย่าง เซอร์ ริดลีย์ สก็อตต์ (Sir Ridley Scott) เซอร์ อลัน ปาร์คเกอร์ (Sir Alan Parker) และ เอเดรียน ลิน (Adrian Lyne) ผู้ครองวงการแฟชั่นมายาวนานอย่างประเทศฝรั่งเศสถูกแซงหน้าโดยดีไซน์เนอร์ชาวอังกฤษอย่าง แมรี่ ควานท์ (Mary Quant) และ วิเวียน เวสต์วู้ด (Vivienne Westwood) วงการนักออกแบบมีดีไซน์เนอร์ชาวอังกฤษอย่าง เซอร์ เทอเรนซ์ คอนราน (Sir Terence Conran) และ เซอร์ จอห์น ซอร์เรล (Sir John Sorrell)
ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากนโยบายของรัฐบาลอังกฤษที่ลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา รัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริมวัฒนธรรมและการศึกษาด้านศิลปะและกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างจริงจัง โดยให้การสนับสนุนสถาบันศิลปะ โรงละคร วงออเคสตร้า แกลเลอรี่ โรงเรียนศิลปะและหอศิลป์หลายแห่ง ที่ล้วนเป็นแหล่งผลิตผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะหลากหลายแขนง เช่น นักแสดง นักดนตรี นักเต้นรำ ผู้กำกับ ผู้เชี่ยวชาญเทคนิคเฉพาะทาง จนปัจจุบันอังกฤษได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านศิลปะและวัฒนธรรมของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยดึงดูดรายได้จากชาวต่างชาติ ทั้งนักลงทุน นักท่องเที่ยว และ นักเรียน นักศึกษา อย่างต่อเนื่อง
หากไม่มีการลงทุนจากภาครัฐในด้านศิลปะและวัฒนธรรมแล้ว อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของอังกฤษจะไม่มีทางประสบความสำเร็จในเชิงเศรษฐกิจได้เลย เพราะเม็ดเงินจากภาครัฐช่วยเสริมศักยภาพทรัพยากรบุคคลและการจ้างงานในภาคสร้างสรรค์ ช่วยให้เกิดการพัฒนาทั้งความคิดใหม่ๆ เทคโนโลยี และนวัตกรรมล้ำสมัย อีกทั้งยกระดับการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ
1. สร้างคน สร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ
ปัจจุบันความสำเร็จของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศอังกฤษเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าสาเหตุของความสำเร็จนี้มาจากบุคลากรที่มีศักยภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการสนับสนุนทางการเงินโดยภาครัฐ ธุรกิจสร้างสรรค์ในอังกฤษไม่ว่าจะเป็นวงการโฆษณา สถาปัตยกรรม ภาพยนตร์และสื่อโทรทัศน์ต่างขับเคลื่อนด้วยคนทำงานหลากหลายสาขา ทั้งนักแสดง นักดนตรี ศิลปิน ผู้ผลิตรายการ ดีไซน์เนอร์ และนักแต่งเพลงที่ผ่านการพัฒนาฝีมือโดยองค์กร โครงการ กิจกรรม และหลักสูตรอบรมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เช่น โฟบี้ วอลเลอร์-บริดจ์ (Phoebe Waller-Bridge) นักแสดงที่ประสบความสำเร็จกับผลงานซีรีย์บีบีซีเรื่อง Fleabag และ Killing Eve นั้นผ่านการอบรมจาก Royal Academy of Dramatic Art: RADA และมีประสบการณ์ทำงานกับองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหลายแห่ง
เม็ดเงินจากภาครัฐทำให้องค์กรด้านวัฒนธรรมสามารถสร้างคลังบุคลากรที่มีศักยภาพอันเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การสร้างบุคลากรที่มีความสามารถนี้จะยิ่งทวีความสำคัญเมื่ออังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น
เงินทุนจากภาครัฐยังช่วยเติมเต็มความฝันของหนุ่มสาวที่มีต้นทุนน้อยอีกด้วย เช่น องค์กรไม่หวังผลกำไรในลอนดอนอย่าง ‘A New Direction’ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเงินสนับสนุนรายปีจากสภาศิลปะอังกฤษ (Arts Council England: ACE) รวมไปถึงกองทุนและมูลนิธิต่างๆ หน่วยงานภาครัฐ และธุรกิจเอกชน มีเป้าหมายหลักในการสร้างโอกาสให้เด็กและคนหนุ่มสาวที่ไม่มีต้นทุนทางสังคมและเส้นสายทางอาชีพ สามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และก้าวสู่อาชีพสร้างสรรค์ได้ ผ่านโครงการ ‘Create Jobs’ โดยตลอดห้าปีที่ผ่านมามีผู้ผ่านหลักสูตรอบรมระยะสั้นจนสามารถมีงานทำเป็นจำนวนถึง 400 คน
ในอีกแง่หนึ่ง อาจพูดได้ว่าการสร้างบุคลากรให้ภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับโลกอนาคตซึ่งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) จะเข้ามาแทนที่แรงงานคน เนื่องจากงานในภาคสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 87 ไม่สามารถอาศัยระบบอัตโนมัติทำงานแทนได้
การมีองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทำให้การจ้างงานด้านสร้างสรรค์ในอังกฤษเติบโตขึ้นมากกว่าอัตราเฉลี่ยของการจ้างงานทั้งประเทศถึงสี่เท่าและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างในกรณีของ เคธี คอปเปอร์เวล (Katie Popperwell) ผู้ทำอาชีพอิสระในเมืองแมนเชสเตอร์ (Manchester) ยอมรับว่ารายได้กว่าร้อยละ 40-60 ของเธอมาจากโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งโครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีการวางแผนและแหล่งเงินทุนที่แน่นอน มีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ ช่วยให้สามารถวางแผนอาชีพและลงทุนในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง อีกทั้งยังเป็นหนทางสร้างคอนเน็กชั่นและโอกาสได้งานใหม่อีกด้วย
การลงทุนภาครัฐในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ยังทำให้บริษัทระดับโลกตัดสินใจเลือกหลายเมืองใหญ่ในอังกฤษเป็นที่ตั้งสำนักงาน เนื่องจากมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์และมีทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ บริษัท Hawkins\Brown เป็นหนึ่งในบริษัทออกแบบชั้นนำของโลกที่มาเปิดสำนักงานในเมืองแมนเชสเตอร์ และประสบความสำเร็จจากการทำงานร่วมกับองค์กรที่สนับสนุนโดยรัฐ และศิลปินในพื้นที่ ปัจจุบัน บริษัทมีพนักงาน 29 คนที่เป็นผู้มีความสามารถจากในพื้นที่และล้วนผ่านการอบรมจากสถาบันที่สนับสนุนโดยรัฐมาก่อน
เงินทุนจากภาครัฐในศิลปะและวัฒนธรรมสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการท่องเที่ยว การสร้างงาน และความเจริญทางเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น งาน Bradford Literature Festival (BLF) ที่จัดโดยวิสาหกิจเพื่อสังคม Culture Squared ในเมืองแบรดฟอร์ด (Bradford) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเงินทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน จนสามารถเติบโตจากงานที่มีระยะเวลาจัดงานเพียงสองวันและมีผู้ชมเพียง 968 คน มาสู่งานที่มีระยะเวลา 10 วันในปี 2018 และมีผู้เข้าชมถึง 70,349 คน การสำรวจพบว่างาน BLF ในปี 2017 ได้สร้างผลตอบแทนทางสังคมคิดเป็นมูลค่า 2,672,396 ปอนด์ (กว่า 100 ล้านบาท) และสร้างเงินหมุนเวียนให้แก่ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นจำนวน 189,868 ปอนด์ ( กว่า 7 ล้านบาท) โดยทุกๆ 1 ปอนด์ของเงินทุนแรกก่อตั้ง (900,000 ปอนด์ หรือ 35 ล้านบาท ของงานนี้ หนึ่งมาจากสภาศิลปะอังกฤษและเงินภาครัฐอื่นๆ) ได้สร้างผลตอบแทนทางสังคมคิดเป็น 2.97 ปอนด์ นอกจากนี้ ชาวต่างชาติที่เข้าชมงานในปี 2018 จำนวนร้อยละ 82 กล่าวว่ามุมมองของเขาที่มีต่อเมืองแบรดฟอร์ดเปลี่ยนไปในทางที่ดี และ ร้อยละ 85 ของผู้เข้าชมท้องถิ่นซึ่งมีจำนวนเกินครึ่งหนึ่งของผู้เข้าชมทั้งหมด กล่าวว่ารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นสมาชิกของเมืองนี้
2. ส่งเสริมนวัตกรรม
นวัตกรรม หรือ กระบวนการแปลงความคิดเป็นสินค้าหรือบริการใหม่ๆ จำเป็นต้องอาศัยความคิดแปลกใหม่และการสร้างมูลค่าให้กับทรัพย์สินทางปัญญา อันเป็นหัวใจหลักของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมในภาคสร้างสรรค์เองหรือในภาคอุตสาหกรรมอื่น เช่น ภาคการผลิตและการแพทย์
แต่นวัตกรรมก็มาพร้อมกับความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยี การพัฒนาความคิดใหม่ๆ และการทดลองผลิตภัณฑ์และบริการ เนื่องจากธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและมีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงได้อย่างจำกัด การลงทุนจากภาครัฐจึงมีส่วนสำคัญในการเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้
เห็นได้จากกรณีของ Immersive Storytelling Studio (ISS) ของโรงละครแห่งชาติ (National Theatre) ที่เน้นสร้างงานด้วยเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเทคโนโลยีเสมือนจริง (virtual reality หรือ VR) เทคโนโลยีความจริงเสริม (augmented reality หรือ AR) เทคโนโลยีความจริงผสม (mixed reality หรือ MR) ระบบฉายภาพ 360 องศา (360° films projection) และเทคโนโลยีการจับภาพเคลื่อนไหว (mapping motion capture) แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (immersive technology) ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การหวังผลกำไรทางธุรกิจจึงยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี การสนับสนุนจากภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญ โดยโรงละครแห่งชาติเป็นหนึ่งในโรงละครใหญ่ที่ได้เงินทุนจากภาครัฐ ผ่านงบสนับสนุนประจำปีของสภาศิลปะแห่งชาติ ระหว่างปี 2018 และ 2022 เป็นจำนวน 16.7 ล้านปอนด์ (เกือบ 66 ล้านบาท) และมีสัดส่วน 16% ของรายได้ทั้งหมด
การลงทุนของภาครัฐในภาคสร้างสรรค์และนวัตกรรมไม่เพียงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แต่ยังกระจายไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่นด้วย เช่น ในอุตสาหกรรมการแพทย์ อย่างเครือข่าย Culture, Health and Wellbeing Alliance (CHWA) ในเมืองลีดส์ (Leeds) ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรที่สนับสนุนธุรกิจด้านสุขภาพที่มีความยั่งยืนผ่านโครงการ social prescribing ทำให้ศูนย์การแพทย์ในพื้นที่ (GP) สามารถส่งต่อคนไข้ไปยังหน่วยงานบริการที่ไม่ใช่แพทย์ได้ ซึ่งรวมถึงการใช้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษา (arts-on-prescription) เครือข่ายนี้บริหารด้วยเงินทุนทั้งหมดจากสภาศิลปะอังกฤษ และสมาชิกในเครือข่ายส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสภาศิลปะอังกฤษในฐานะองค์กรไม่หวังผลกำไรหรือผ่านเงินทุนให้เปล่า และจากกองทุนล็อตเตอรี่ (Heritage Lottery Fund) กลุ่ม Gloucestershire Clinical Commissioning Group เป็นหนึ่งในสมาชิกของเครือข่ายที่ให้บริการศิลปะและกิจกรรมสร้างสรรค์แก่ผู้ประสบปัญหาทางจิตหรือเจ็บป่วยแบบเรื้อรัง และมีบริการจัดกิจกรรมเฉพาะกรณี เช่น การบำบัดด้วยการร้องเพลงสำหรับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โครงการใช้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาของเมืองกลอสเตอร์เชอร์ (Gloucestershire) นี้ ทำให้อัตราการพบแพทย์ในศูนย์การแพทย์ท้องถิ่นลดลงถึง 37% และการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลง 27% ส่งผลให้สามารถประหยัดงบประมาณในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติไปถึง 576 ปอนด์ (ประมาณ 23,000 บาท) ต่อคนไข้หนึ่งคน
3. สนับสนุนการลงทุนรูปแบบใหม่
การมีแผนธุรกิจที่สามารถรองรับความเสี่ยงและดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนได้ไปพร้อมกัน เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม องค์กรที่ทำงานด้านวัฒนธรรมจะประสบความสำเร็จทั้งในทางสร้างสรรค์และในทางธุรกิจได้ ต้องอาศัยแหล่งรายได้ที่หลากหลาย โดยมีการลงทุนจากภาครัฐเป็นหลักในการขับเคลื่อนความคิดใหม่ๆ แล้วนำไปเสนอในเวทีที่สามารถดึงดูดนักลงทุนเอกชน
โดยทั่วไปแล้ว องค์กรสร้างสรรค์ในอังกฤษที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง จะได้รับการสนับสนุนเงินทุนให้เปล่าและเงินทุนจากภาครัฐ ซึ่งทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมเพื่อดึงดูดเงินทุนจากบริษัทเอกชน กล่าวได้ว่า การลงทุนภาครัฐนั้นมีบทบาทในการช่วยลดผลกระทบจากความล้มเหลวของกลไกตลาดที่คอยขัดขวางไม่ให้ธุรกิจเหล่านี้ประสบความสำเร็จในระยะตั้งไข่ได้ อีกทั้งเป็นสะพานช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจได้ต่อไป ซึ่งจะกลับมาส่งผลบวกให้เศรษฐกิจโดยรวมในท้องถิ่นด้วย
ตัวอย่างเช่น Fourth State ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาวีดีโอเกมส์ให้กับ Games Hub ของมหาวิทยาลัย Essex ในเมืองโคลเชสเตอร์ (Colchester) โดยมีผลงานเกมส์ชิ้นแรกคือ Lost Words: Beyond the Page ที่ได้รับรางวัลมากมาย ก่อตั้งโดย Mark Backler ซึ่งพัฒนาเกมส์นี้ในยามว่างมาเป็นเวลาสองปีด้วยเงินทุนจาก UK Games Fund ก่อนจะลาออกจากงานประจำมาก่อตั้งบริษัทนี้ หนึ่งปีผ่านไปเขาสามารถจ้างพนักงานอิสระและขยายธุรกิจด้วยอาศัยเงินสนับสนุนจากหน่วยงาน Creative England และองค์กรการกุศล Wellcome Trust ต่อมาในเวลาเพียงสองปี ก็สามารถดึงดูดเงินทุนเพิ่มจากแหล่งอื่นและพัฒนาผลงานเกมส์ออกมาได้อีก ซึ่งรวมถึงการได้รับเงินทุน 75,000 ปอนด์ (ประมาณ 3,000,000 บาท) จาก Seed Enterprise Investment Scheme และการได้เซ็นสัญญาลิขสิทธิ์กับบริษัท Modus Games
เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่า ความหลากหลายของแหล่งรายได้และกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เป็นองค์ประกอบสำคัญของความยั่งยืนทางธุรกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในการสำรวจความคิดเห็นปี 2015 พบว่า 57% ขององค์กรด้านศิลปะและวัฒนธรรมจำนวน 1,312 องค์กรคาดว่ารายได้จะเติบโตขึ้นในอีกสามปีข้างหน้า เนื่องจากรายรับและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น กลยุทธ์ของ Arts Council England Development Funds สำหรับปี 2018-2022 ก็ได้เพิ่ม ‘การพัฒนาแบบจำลองธุรกิจและความเป็นผู้นำที่มีความหลากหลาย พึ่งตนเองได้ และมุ่งเน้นนวัตกรรม’ เป็นอีกหนึ่งเกณฑ์ในการให้ทุนด้วย
ที่มา: รายงาน Public Investment, Public Gain โดย สภาศิลปะอังกฤษ (Arts Council England) และ สหพันธ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries Federation) จาก creativeindustriesfederation.com