อีสานฟีเวอร์ จากวิถีม่วนซื่นสู่อุตสาหกรรมระดับชาติ
ความบันเทิงนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่คนอีสานมาอย่างยาวนาน ภาคอีสานของไทยได้รับการขนานนามว่า เป็นดินแดนแห่งความม่วน ที่สั่งสมกันมาตามสายธารเวลา จากที่ร้องรำกันเฉพาะในหมู่บ้าน ก็ค่อย ๆ แพร่หลายไปสู่โลกภายนอกผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเมื่อผนวกรวมกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความบันเทิงที่เคยเป็นเพียง “วิถีชีวิต” ก็ขยายใหญ่ไปสู่ระดับ “อุตสาหกรรม”
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2553-2563) อุตสาหกรรมบันเทิงอีสานมีผลผลิตทั้งผลงานเพลง ละคร และภาพยนตร์ ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นอีสานออกมาอย่างต่อเนื่อง ในหลาย ๆ เรื่องก็มีความโดดเด่นและได้รับความนิยมจนสามารถสร้างกระแส ‘อีสานฟีเวอร์’ และสร้างรายได้เข้าสู่อุตสาหกรรมแตะหลักร้อยล้านบาท เริ่มต้นจาก ‘แหยม ยโสธร’ ในปี 2548 กระแสภาพยนตร์อีสาน ม่วน ๆ ฮา ๆ ที่มีโทนสีจัดจ้านทั้งฉากและคอสตูมที่โดดเด่น ได้รับความนิยมจากคนหลากหลายกลุ่มที่ไม่จำกัดเพียงคนอีสาน จนเกิดเป็น แหยม ยโสธร ภาค 2-3 ตามมาในปี 2552 และ 2556 ก่อนจะมีภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องชีวิตในท้องทุ่ง ถ่ายทอดเรื่องความรักและความฝันของคนหนุ่มสาวตามมาอีกหลายเรื่อง
กระแสนิยมนี้ยังไม่จำกัดเฉพาะวงการภาพยนตร์ ในช่วงปี 2550 วงการเพลงอีสานก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงเช่นเดียวกัน มีเพลงดังติดท็อปชาร์ตของคลื่นวิทยุไม่ขาดสาย ทั้ง ศิริพร อำไพพงษ์, ตั๊กแตน ชลดา, ไผ่ พงศธร และ ปอยฝ้าย มาลัยพร เป็นต้น ตามมาด้วยศิลปินอีสานหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นต่อมาเรื่อย ๆ และพัฒนาแนวเพลงไปตามยุคสมัย แผนภาพที่แสดงต่อจากนี้ คือ ไทม์ไลน์ที่จะฉายให้เห็นการเดินทางของอุตสาหกรรมบันเทิงของอีสาน ที่ค่อย ๆ ขยับจากต่างจังหวัดเข้ามาได้รับความนิยมในเมืองมากขึ้น ผ่านการตกแต่งปรับตัวที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
ดาวน์โหลดภาพ Infographic อุตสาหกรรมบันเทิงอีสาน
ปี 2553
เพลง คิดฮอด – การรวมตัวกันครั้งสำคัญระหว่างวงร็อคระดับประเทศ ‘Bodyslam’ กับนักร้องหมอลำระดับตำนาน ‘ศิริพร อำไพพงษ์’ ในเพลงที่ผสมร็อคเข้ากับหมอลำได้อย่างน่าตื่นตา แม้จะฟังแปลกหูไปบ้าง แต่ท่อนร้องที่ว่า “เป็นจั่งได๋ละน้อความฮัก” กลายเป็นคำฮิตที่คนหยิบไปใช้หลายรูปแบบ นับเป็นครั้งแรก ๆ ที่เพลงอีสานขยับไปอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางและเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่ได้ฟังเพลงลูกทุ่ง ว่ากันว่านี่เป็นเพลงที่คน ‘อยากได้ยิน’ มานานแล้ว
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เพลงคิดฮอดประสบความสำเร็จ เพราะเป็นการ ‘ข้ามวัย’ และ ‘ข้ามวัฒนธรรม’ ในเพลงเพลงเดียว หมอลำเจอร็อค วัยรุ่นเจอผู้เฒ่าผู้แก่ การผสมผสานจนเกิดเป็นรสชาติใหม่นี้จึงทำให้เพลง ‘คิดฮอด’ เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาเพลงลูกทุ่งอีสาน
ปี 2554
ภาพยนตร์ ปัญญา เรณู - หนังรักวัยเด็ก ที่ถ่ายทอดชีวิตของเด็กอีสานได้อย่างเป็นจริงและเป็นธรรมชาติ กำกับโดย บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ภายใต้ฉากเลี้ยงควาย ไล่จับปลาไหลและเสียงพูดอีสานเจื้อยแจ้วของเด็ก ๆ ทำให้หนังนอกสายตาเรื่องนี้เป็นที่พูดถึงอย่างมากในหมู่คนดู เมื่อหนังทำลายขนบที่นักแสดงนำต้องสวยหล่อ และก้าวข้ามโปรดักชันอลังการให้เป็นการฉายภาพชีวิตปกติธรรมดาของคนอีสาน จนทำรายได้ถึง 12.82 ล้านบาท
ปี 2555
ภาพยนตร์ ปัญญา เรณู 2 – หลังกระแสชื่นชมในภาคแรก บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ พร้อมทีมนักแสดงเด็กชุดเดิม โดยมีหม่ำ-เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา กับ ตุ๊กกี้-สุดารัตน์ บุตรพรม นักแสดงตลกที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้นมาร่วมแสดงด้วย ก็ทำรายได้แซงภาค 1 ไปจนแตะที่ 19 ล้านบาท เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนมอง ‘หนังอีสาน’ ด้วยสายตาที่แตกต่างไป ช่วยตอกย้ำว่าเรื่องเล่าของคนอีสานสามารถเป็นเส้นเรื่องหลักได้ และหนังอีสานเป็นหนังดีได้
ด้วยการแสดงที่เป็นธรรมชาติของเด็ก ๆ ทำให้กลุ่มนักแสดง โดยเฉพาะ ‘สุธิดา หงส์สา’ หรือ ‘น้ำขิง’ ที่รับบทเป็น ‘เรณู’ ถูกพูดถึงอย่างมาก ซึ่งทำให้น้ำขิงยังมีงานแสดงจนถึงปัจจุบัน
เพลง ขอใจเธอแลกเบอร์โทร – หากจะมีเนื้อร้องท่อนไหนที่ดังติดหูมากที่สุดในช่วงปีนี้ ท่อนร้อง “ท่านกำลังเข้าสู่บริการรับฝากหัวใจ” ของหญิงลี ศรีจุมพล นักร้องชาวบุรีรัมย์ น่าจะติดอันดับต้น ๆ ได้ไม่ยาก เนื่องจากเป็นเพลงที่โด่งดังลากยาวจนถึงช่วงปีใหม่และสงกรานต์ในปีถัดไป จนเป็นเพลงที่ถูกเปิดในทุกที่ ตั้งแต่ร้านส้มตำ ปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงสนามแข่งวอลเลย์บอลระดับนานาชาติ
ปี 2556
ภาพยนตร์ แหยม ยโสธร 3 – ภาคสุดท้ายของมหากาพย์ ‘แหยม’ ที่ทำรายได้ไปกว่า 64 ล้านบาท ภาพยนตร์ชุด ‘แหยม ยโสธร’ กลายเป็นภาพจำของเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด ที่งานเลี้ยงหลายแห่งเลือกใช้คำว่า ‘แหยม’ แทนธีมแต่งเสื้อผ้าแบบลายดอกสีสดใส
ปี 2557
ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้ 1 – ภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ว่าด้วยชีวิตของหนุ่มอีสานบ้านนอกที่ฝันอยากเป็นผู้กำกับ นำแสดงโดย อาร์ตี้-ธนฉัตร ตุลยฉัตร หนุ่มขอนแก่นที่โด่งดังจากเรื่อง ‘บุญชู’ ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้ เป็นภาพยนตร์ที่ฉายภาพอีสานร่วมสมัย เห็นชีวิตหนุ่มสาวในชนบท หนังเริ่มมีคนรู้จักจากปากต่อปาก จนโด่งดังไปนอกวงคนอีสาน หลังจากนั้นจึงมีภาค 2 และ 3 ตามมาในปี 2559 และ 2561
ปี 2558
ภาพยนตร์ รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendour) หนังว่าด้วยหญิงสาวที่ทำหน้าที่ดูแลทหารในศูนย์บำบัดที่หมดสติทั้งวัน จนเกิดความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในเวลาต่อมา ภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับชาวขอนแก่นที่โลดแล่นทำหนังในระดับโลก ภาพยนตร์เรื่อง ‘รักที่ขอนแก่น’ ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์จำนวนมาก อีกทั้งยังเข้าชิงรางวัล Un Certain Regard Award ใน Cannes Film Festival แต่ท้ายที่สุดหนังเรื่องนี้กลับไม่ได้เข้าฉายที่เมืองไทย
เพลง ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน – เพลงแจ้งเกิดของ ก้อง ห้วยไร่ ศิลปินอีสานรุ่นใหม่ที่ผสมแนวเพลงลูกทุ่งเข้ากับดนตรีสากลได้อย่างน่าสนใจ โดยเขาไม่ได้ทำเพลงกับค่ายใหญ่ในกรุงเทพฯ ‘ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน’ เป็นเพลงเปิดศักราชที่ทำให้เพลงลูกทุ่งอีสานกระจายไปสู่คนภาคอื่น และยิ่งโด่งดังขึ้นไปอีกเมื่อ ไข่มุก-รุ่งรัตน์ เหม็งพานิช นำไปร้องประกวดในรายการ The Voice Thailand จนเพลงนี้กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่คนนำไปประกวดร้องเพลงมากที่สุด และถูกนำไปดัดแปลงอีกหลายเวอร์ชัน
ปี 2559
เพลง ผู้สาวขาเลาะ – ด้วยดนตรีขึ้นต้นที่ชวนให้ลุกขึ้นเต้น ด้วยเสียงร้องแหบแห้งเป็นเอกลักษณ์ และด้วยคำว่า ‘ก๊ดดัน’ ที่ติดหู ทำให้เพลง ‘ผู้สาวขาเลาะ’ ของ ลำไย ไหทองคำ ได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว เพลงลูกทุ่งอีสานที่เล่าถึงชีวิตวัยรุ่นในต่างจังหวัด โดยทั้งเนื้อร้อง ทำนอง และวิดีโอในยูทูบนั้นล้วนทำกันเองที่ต่างจังหวัด ความ ‘บ้าน ๆ’ นี้ทำให้เกิดรสชาติใหม่ในวงการเพลงขณะนั้น กลายเป็นคลื่น ‘ป่าล้อมเมือง’ ที่คนทำเพลงเองในต่างจังหวัด แล้วเผยแพร่ในช่องทางของตัวเอง
เพลง คำแพง – ในช่วงใกล้เคียงกัน เพลง ‘คำแพง’ ของแซ็ค ชุมแพ ก็โด่งดังถล่มทลาย ‘บ่แม่นหมาวัด แต่กะบ่ได้ใจนาง หว่านแห ลงดาง กะดางใจนางไว้บ่ได้’ กลายเป็นท่อนคลาสสิกที่ได้ยินแล้วต้องร้องตาม แม้คนนอกภาคอีสานจะฟังไม่เข้าใจก็ตาม เป็นช่วงเข้าสู่ปีทองของ ‘อีสานฟีเวอร์’
ละคร นาคี/เพลง คู่คอง – ละครที่ว่าด้วยตำนานรักของพญานาค พูดกันด้วยภาษาอีสานทั้งเรื่อง ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในแง่จำนวนคนดูและรางวัลที่ได้รับ ‘นาคี’ กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ที่ทุกคนต้องพูดถึงเมื่อละครออกอากาศ ส่งให้ประโยค “อีคำแก้วเป็นงู” กลายเป็นประโยคคลาสสิกที่ไม่ว่าคนภาคไหนก็หยิบไปพูด เช่นเดียวกับ ‘คู่คอง’ เพลงประกอบละครเรื่องนี้ที่มียอดคนฟังในยูทูบถล่มทลาย ส่งให้ก้อง ห้วยไร่โด่งดังขึ้นอีก นับเป็นความสดใหม่ของเพลงลูกทุ่งอีสาน ที่ประยุกต์รวมหมอลำเข้ากับเปียโนและไวโอลิน
ศาลเจ้าแม่นาคีที่บ้านดุง อุดรธานี ได้รับความนิยมหลังจากละครนาคีออกอากาศไปแล้ว ศาลเจ้าแม่นาคีตั้งอยู่เกาะกลางน้ำ ต้องนั่งเรือไปประมาณ 5 นาทีเพื่อไปสักการะ พอผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจมาท่องเที่ยว อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานีเลยกลับมาคึกคัก ร้านค้าและที่พักโดยรอบสถานที่ท่องเที่ยวได้รับความนิยม เกิดเป็นมูลค่าที่จับต้องได้ สืบเนื่องจากการเล่าวัฒนธรรมและตำนานอีสานผ่านละคร
ปี 2560
ภาพยนตร์ ไทบ้านเดอะซีรีส์ / เพลง ทดเวลาบาดเจ็บ, สเตตัสถืกถิ่ม – หนังที่รวมเอาความฮา ความโรแมนติก และเรื่องเศร้ารันทดสุดใจรวมไว้ด้วยกันอย่างกลมกล่อม ผ่านเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวในชนบท ที่มีบทสนทนาเป็นธรรมชาติ และเรื่องราวไม่ประดิดประดอย ฉายภาพอีสานอย่างที่เป็นจริง มีรัก มีเศร้า มีสุข และมีความฝัน ส่งให้เพลงประกอบภาพยนตร์มีคนตามมาฟังจำนวนมาก จนถูกนำไปร้องประกวดในหลายรายการ ไทบ้านเดอะซีรีส์ได้รับรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 27 สาขาเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นผลงานจากค่ายขนาดเล็กที่ได้รับการจับตามองและถูกพูดถึงในวงกว้าง
ภาพยนตร์ ส่มภัคเสี่ยน – หนังโรแมนติกคอมเมดี้อีสานที่ทำรายได้กว่า 74.9 ล้านบาท (ทั่วประเทศกว่า 200 ล้านบาท) เป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับสองรองจากเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง (108.1 ล้านบาท) ในปี 2560 นำแสดงโดย โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ นักร้องนักแสดงจากขอนแก่น เป็นภาพยนตร์ที่มาถูกที่ทันเวลาในช่วงที่อีสานกำลังได้รับความนิยม
เพลง เต่างอย – หลังจากปล่อยให้นักร้องอีสานรุ่นใหม่ปล่อยเพลงดังออกมาจำนวนมากในช่วงปีที่ผ่านมา จินตหรา พูนลาภ ก็ปล่อยเพลง ‘เต่างอย’ ออกมา ว่าด้วยการอธิษฐานต่อพญาเต่างอย เพื่อขอให้คนรักกลับมา ผ่านดนตรีสนุกสนานติดหู และท่าเต้นที่เต้นตามไม่ยาก กลายเป็นเพลงฮิตทั้งบ้านทั้งเมือง
ปี 2561
ภาพยนตร์ ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2 และ 2.2 – กลับมาอีกครั้ง ก็สร้างแรงกระเพื่อมในแวดวงภาพยนตร์ไทย ทั้งเนื้อหาและเพลงประกอบที่ได้รับความนิยม และยิ่งบวกกับประเด็นไม่ผ่านการเซนเซอร์ในตอน 2.2 ก็ยิ่งทำให้คนสนใจหนังตระกูล ‘ไทบ้าน’ มากขึ้น จนส่งผลให้ทำรายได้ตอน 2.2 ทั่วประเทศไปกว่า 115.26 ล้านบาท โดยทำเงินรวมกันทั้ง 3 ภาคมากกว่า 200 ล้านบาท และเข้าชิงรางวัลในสาขาภาพยนตร์อีกหลายรางวัล
ภาพยนตร์ นาคี 2 / เพลง สายแนนหัวใจ – หลังจากสร้างปรากฏการณ์เจ้าแม่นาคีในจอละคร พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง หยิบเอาตำนานมาเล่าต่อในภาคปัจจุบัน โดยมีณเดชน์ คูกิมิยะ และ อุรัสยา เสปอร์บันด์ แสดงนำ เรื่องราวความเชื่อของคนอีสาน ความรักของพระเอกนางเอก และฉากต่อสู้อลังการ ทำให้นาคี 2 กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในปี 2561 ได้ไป 161.19 ล้านบาท และเพลง ‘สายแนนหัวใจ’ ของก้อง ห้วยไร่ ก็มียอดคนฟังกว่า 169 ล้านวิว (ข้อมูลเดือนมกราคม 2564)
เพลง ห่อหมกฮวกไปฝากป้า – เพลงเนื้อหาเรียบง่ายแต่สนุกสนาน ว่าด้วยการเอาหมกฮวกไปให้ป้าที่หน้าบ้าน แต่ป้าไม่อยู่ จนเกิดเหตุการณ์วุ่นวายตามมา กลายเป็นความม่วนที่ทุกผู้ทุกคนฟังแล้วสัมผัสได้ แม้จะไม่เข้าใจความหมายของเนื้อเพลงก็ตาม เสน่ห์สำคัญของเพลงนี้คือการ เล่นเสียง ฮ.นกฮูก กับ ห.หีบ เล่นล้อไปกับดนตรีพิณแคนที่ไม่มีกั๊ก ทำให้เกิดเป็นรสชาติใหม่ของเพลงอีสานฟังสนุก
เพลง Hello Mama – เพลงจากวงอินดี้ Taitosmith ที่ผสมผสานภาษาอังกฤษเข้ากับเนื้อร้องอีสาน เล่าเรื่องลูกคุยโทรศัพท์กับแม่ เพราะเขาต้องจากบ้านมาไกล แม้เนื้อหาจะราบเรียบแต่ก็กระทบหัวใจผู้คน เสียงพิณที่ผสมกับเสียงกรีดกีตาร์ในท่อนโซโล ส่งให้เพลงนี้มีทั้งรสของข้าวเหนียวและกลิ่นของสากล
เราจะเห็นว่ากลุ่มศิลปินรุ่นใหม่หันกลับมาหาความเป็นอีสานมากขึ้น และมีความภาคภูมิใจที่จะเล่าเรื่องอีสานผ่านน้ำเสียงของตัวเองโดยไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิม ๆ เราจะเห็นว่ามีทั้งวงร็อคและนักร้องลูกทุ่งรุ่นใหม่ ที่หันมาผสมผสานดนตรีสากลเข้ากับเพลงลูกทุ่งหมอลำในรูปแบบเฉพาะตัว เช่น เพลง Hello Mama และ ห่อหมกฮวกไปฝากป้า เป็นต้น
ปี 2562
ภาพยนตร์ หน้าฮ่าน - หนังที่ว่าด้วยวัฒนธรรมอีสานอันหลากหลาย การปะทะกันระหว่างอีสานสมัยใหม่กับอีสานแบบดั้งเดิม และเรื่องราวของคนหนุ่มสาวที่รื่นรมย์กับการดิ้นหน้าเวทีหมอลำ
ปี 2563
ภาพยนตร์ ไทบ้าน x BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้ / เพลง โดดดิด่ง – หลังจากโด่งดังจนถึงขีดสุด วง BNK48 แฟรนไชส์จากญี่ปุ่น ก็หันมาจับมือกับ ‘ไทบ้าน’ ทำภาพยนตร์ ‘ไทบ้าน x BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้’ ว่าด้วยเรื่องของสมาชิกวง BNK48 มาเก็บตัวทำเพลงอีสาน เพื่อกอบกู้ชื่อเสียงวงให้กลับมาเหมือนเดิม โดยมี ‘จาลอด’ ตัวละครในไทบ้าน เดอะซีรีส์ปรากฏตัวสร้างรอยยิ้มด้วย ภาพยนตร์ได้รับความสนใจเพราะเป็นการผสมผสานรสชาติใหม่ รวมถึงเพลง ‘โดดดิด่ง’ ที่จับเอาสมาชิกวง BNK48 มาร้องเพลงหมอลำได้ม่วนกุ๊บม่วนซื่น และการได้เห็นภาพของ ‘จาลอด’ พระเอกจากเรื่อง ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’ นั่งข้างสมาชิก BNK โดยไม่ต้องซื้อบัตรจับมือ เป็นภาพที่หาดูได้ยากยิ่ง นับเป็นส่วนผสมใหม่ ๆ ของการผลิตภาพยนตร์ไทย
บันเทิงไทย ทำอย่างไรให้ดังเทียบชั้น “เกาหลี”
สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมบันเทิงของไทยนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยผู้คนเบื้องหลังจำนวนมาก ซึ่งสามารถสรรสร้างผลงานและผลิตเม็ดเงินป้อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้กับประเทศได้เป็นจำนวนไม่น้อย จากการสำรวจข้อมูลในปี 2560 พบว่า อุตสาหกรรมบันเทิงไทยมีจำนวนบุคลากรทั้งสิ้นถึง 117,500 คน
หากพิจารณาถึงจำนวนผู้ประกอบการที่ลงทุนในอุตสาหกรรมบันเทิงทั่วประเทศของไทย ปี 2560 พบว่ามีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบันเทิง จำนวนกว่า 38,831 ราย โดยที่อุตสาหกรรมเกมนั้น ครองแชมป์มีผู้เข้าไปลงทุนมากที่สุด
อุตสาหกรรมบันเทิงไทยในปี 2560 สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ถึง 206,918.52 ล้านบาท โดยกลุ่มที่สร้างรายได้สูงสุด คือ รายได้จากการบริโภคเนื้อหาทางออนไลน์ 80,000 ล้านบาท รองลงมาคือรายได้จากอุตสาหกรรมโทรทัศน์ 65,786 ล้านบาท และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ รายได้ราว 26,039.52 ล้านบาท
แม้รายได้ของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยกว่า 2 แสนล้านบาทจะดูค่อนข้างสูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ จะพบว่าอุตสาหกรรมบันเทิงไทยมีมูลค่าที่น้อยกว่ามาก มูลค่าอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ จากข้อมูลปี 2561 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.087 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 9 หรือประมาณ 9,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรายได้จากการจำหน่ายคอนเทนต์ไปยังประเทศอื่น เหล่านี้คือ Soft Power ที่สำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลี เกิดเป็นกระแสของ “Hallyu” หรือ “Korean Wave” หมายรวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิง รายการทีวี ภาพยนตร์ ดนตรี และการท่องเที่ยว ที่สร้างกำไรและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ
เกาหลีใต้พัฒนาตนเองจากการผลิตซีรีส์รักโรแมนติก เพลง K-Pop วัยรุ่น มาสู่ซีรีส์ที่มีบทคุณภาพเยี่ยม และมีมิติตัวละครที่น่าติดตาม รวมถึงเพลงหลากหลายแนวที่มุ่งขยายตลาดโลกมากกว่าแค่ตลาดเอเชีย ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ซีรีส์เกาหลีเรื่อง Kingdom ใน Netflix มีความสมบูรณ์ทั้งในระดับโปรดักชั่น นักแสดง และบทหนัง เสริมความแข็งแกร่งด้วยการร่วมลงทุนกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับต้น ๆ ของโลกอย่าง Netflix ก็ยิ่งยกระดับซีรีส์เกาหลีนี้ขึ้นมาทั้งในแง่คุณภาพงาน และเนื้อหาในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมทั่วโลกได้ในระยะเวลาอันสั้น
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับภาพยนตร์และซีรีส์อีกหลายเรื่อง เช่น Parasite และ Itaewon Class ฯลฯ ที่ครองใจคน ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่ความเข้มข้นในการวิจัยและการสืบค้นข้อมูลก่อนการเขียนบท การศึกษาพัฒนาการของตัวละครในเรื่องมาอย่างแตกฉาน จนสามารถเล่าเรื่องหนัก ๆ ผ่านตัวละครที่มีเสน่ห์ และโครงเรื่องที่น่าติดตามได้ ประกอบกับการสอดแทรกสาระทางประวัติศาสตร์ การเมือง และวิถีชีวิตของผู้คนเข้าไปอย่างแนบเนียน จนกลายเป็นงานที่ไม่ได้มีแค่เรื่องรักใคร่ แต่ผู้ชมจะได้รับรู้ถึงมิติความเป็นมนุษย์ในตัวละคร ทำให้ผลงานมีความแตกต่างและตรึงใจ สะท้อนความเป็นจริงของสังคมได้อย่างน่าชื่นชม
นอกจากที่ซีรีส์และภาพยนตร์เกาหลีใต้จะได้รับกระแสการตอบรับที่ดีแล้ว ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาที่นำมาเล่าได้ด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา คือ ซีรีส์เรื่อง Itaewon Class ที่มีอิทธิพลต่อผู้ชมอย่างสูง ถึงขนาดทำให้โคชูจังที่จำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยขาดตลาด ลามไปจนถึงวัตถุดิบในการทำอาหารเกาหลีอื่น ๆ ก็ขายดีตามไปด้วย ชวนคิดถึงการผลักดันอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของไทย ให้โด่งดังไปตามกระแสซีรีส์และภาพยนตร์ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร สถานที่ เพลง ตลอดจนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่สะท้อนวิถีทางวัฒนธรรม ทำอย่างไรให้คอนเทนต์เหล่านี้เข้าไปอยู่ในใจคน และสร้างมูลค่าเพิ่มนอกจอได้ด้วย เช่น การทำแคมเปญขายเป็นของที่ระลึก หรือ แพคเกจท่องเที่ยวตามรอยซีรีส์และภาพยนตร์ เป็นต้น
อัตลักษณ์บันเทิงไทย ยังรอวันขัดเกลาให้เฉิดฉาย หากได้รับการพัฒนาที่ถูกทาง
1. ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งเงินทุนและการอำนวยความสะดวกด้านอื่น ๆ เช่น สถานที่ และข้อมูลทางประวัติศาสตร์
2. เพิ่มคุณภาพของชิ้นงาน ทั้งเนื้อหาและโปรดักชัน ก่อนเขียนบทต้องทำวิจัย สืบค้น ให้เรื่องราวสอดคล้องกับความเป็นจริงที่สุด เจาะลึกถึงแต่ละอาชีพ ภูมิหลังของตัวละคร และความสมจริงของสถานที่ เพื่อการถ่ายทอดที่สมจริงกระทบใจคนดู
3. เพิ่มความหลากหลายของนักแสดง ไม่ผูกขาดนักแสดงให้รับบทเด่นอยู่เพียงไม่กี่คน สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือการเห็นนักแสดงใหม่ ๆ ได้รับบทบาทสำคัญ ก่อให้เกิดความตื่นเต้นประหลาดใจต่อผู้ชม ทั้งยังเป็นการสร้างพลวัตให้เกิดขึ้นในหมู่นักแสดง เกิดการสร้างงาน และไม่ผูกติดอยู่กับนักแสดงที่มีชื่อเสียงเพียงไม่กี่คน
4. สอดแทรกวัฒนธรรมเข้าไปในผลงานอย่างสมดุลและเหมาะสม
5. มองไกลกว่าในประเทศ สะท้อนวัฒนธรรมเอเชียเพื่อดึงกลุ่มคนดูจากหลากหลายประเทศ
6. ส่งเสริมและพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมบันเทิงทุกสาขาอาชีพอย่างเท่าเทียม เช่น Sound Engineer, นักออกแบบเสื้อผ้า, นักออกแบบแสง, นักเขียนบท, นักแต่งเพลง และนักออกแบบเกม เป็นต้น
7. สร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรม ไม่ให้เกิดการผูกขาดธุรกิจบันเทิงแค่เพียงไม่กี่ราย
อ้างอิง
1. สถิติและมูลค่าอุตสาหกรรมคอนเทนต์บันเทิง ประจำปี พ.ศ. 2560 โดย สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ
2. Total export value of the content industry in South Korea from 2014 to 2018 (in billion U.S. dollars), www.statista.com
3. Korea Creative Content Agency (KOCCA)
4. ที่มาของภาพ จากเว็บไซต์ภาพยนต์แต่ละเรื่อง