Research & Report

Livable Scape.....เมืองสร้างสรรค์ที่เราร่วมกันสร้างได้

ทำไมเมืองต้องสร้างสรรค์? แนวคิดเบื้องหลังการปลุกให้ กลาสโกว์ เปลี่ยนจากเมือง “ลูกเป็ดขี้เหร่แห่งยุโรป” กลายเป็น “หงส์” สร้าง GDP โตเป็นอันดับ 2 ของสกอตแลนด์ พร้อมตัวอย่างจากเมืองอื่น ๆ รวมถึงกรุงเทพฯ 

แนวคิดของเมืองสร้างสรรค์เริ่มต้นและพัฒนาตามการเปลี่ยนแปลงของการวางผังเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจ และนโยบายทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เมืองต่าง ๆ ได้เห็นถึงคุณค่าของระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่เมือง สำหรับทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมและธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการถดถอยของอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิมในเขตเมือง ทำให้เกิดพื้นที่ว่างและอาคารต่าง ๆ ถูกทิ้งร้างเป็นจำนวนมาก 

ปฐมบทของการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์คงหนีไม่พ้นการอ้างอิงทฤษฎี “Creative Class” ของริชาร์ด ฟลอริดา ที่ชี้ให้เห็นถึง บทบาทของศิลปินและนักสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมือง การเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจฐานการผลิตไปสู่เศรษฐกิจบริการ ปรับโฉมและฟื้นฟูพื้นที่เมืองที่ทรุดโทรมให้กลายเป็นย่านที่มีชีวิตชีวา ดึงดูดนักท่องเที่ยว ผู้อยู่อาศัย และนักลงทุน เมืองชั้นนำหลายแห่งขานรับแนวคิดนี้ด้วยเห็นว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เสริมการแข่งขันของประเทศ สร้างความแตกต่าง และแสดงให้เห็นถึงสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองบนเวทีโลก นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคม รัฐบาลและนักวางผังเมืองเริ่มบูรณาการงานพัฒนาเมืองสร้างสรรค์เข้ากับแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจสร้างสรรค์เข้ามาตั้งถิ่นฐานหรือทำกิจกรรมในพื้นที่เหล่านี้มากขึ้น

“กลาสโกว์” เมืองที่เคยถูกมองข้าม ได้กลายเป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวาและทันสมัยอย่างไม่น่าเชื่อหลังจากได้รับตำแหน่งเมืองแห่งวัฒนธรรมของยุโรป (European Capital of Culture) ในปี 1990 การลงทุนครั้งใหญ่ในศิลปะและวัฒนธรรมไม่เพียงเปลี่ยนแปลงทัศนียภาพของเมือง แต่ยังสร้างการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น พร้อมกับส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาอัตลักษณ์เฉพาะตัวของเมืองไว้ได้ด้วย ในกลาสโกว์มีเทศกาลและกิจกรรมต่าง ๆ มากมายที่เน้นย้ำถึงสถานะของเมืองสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น Celtic Connections เทศกาลดนตรีพื้นบ้านและดนตรีโฟล์กที่มีรากฐานจากดนตรีสก็อตแบบดั้งเดิม หรือ งานเทศกาลตลกนานาชาติกลาสโกว์ (Glasgow International Comedy Festival) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้กลาสโกว์เป็นเมืองที่สนุกที่สุดในโลก พร้อมทั้งเฉลิมฉลองบทบาทของนักแสดงตลกตามวิถีวัฒนธรรมสก็อต ทั้งนี้นอกเหนือจากการส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองแล้ว กลาสโกว์ยังมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น โดยในอนาคตเมืองวางแผนที่จะยกระดับคลัสเตอร์ “Digital and Creative Economy” ให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุด มุ่งเป้าสร้างการจ้างงานราว 34,000 ตำแหน่ง และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากกว่า 1 พันล้านปอนด์ เป็นจุดดึงดูดนักสร้างสรรค์และนวัตกรทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและนานาชาติ เป็นแหล่งรวมธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน “CreaTech” ที่สำคัญของสหราชอาณาจักร 

Source: https://bagpipe.news/event/celtic-connections-breabach

“เมืองออสติน” ในรัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา เป็นที่รู้จักในฐานะ "The home of live music" ออสตินเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงดนตรีสดและเทศกาลต่าง ๆ มากมาย ทั้งงาน Austin City Limits และ South by Southwest (SXSW) ซึ่งเมืองให้ความสำคัญกับเอกลักษณ์อันโดดเด่นนี้ โดยแผนกพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง ตั้งโปรแกรมสนับสนุนทุนที่ชื่อว่า “Austin's Live Music Event Fund Program” เพื่อให้ทุนในวงเงิน 5,000-10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อราย แก่นักดนตรี วงดนตรี และโปรโมเตอร์ เพื่อชูจุดขาย “เมืองหลวงแห่งดนตรีสดของโลก” นอกจากนี้ออสตินยังมีโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญอื่น ๆ เช่น โรงละคร The Paramount Theatre และโรงภาพยนตร์ Alamo Drafthouse เป็นต้น

Source: https://fortemag.com.au/south-by-southwest-sxsw-is-expanding-to-sydney-in-2023-for-its-first-festival-outside-the-us

“เมืองไครสต์เชิร์ช” ของนิวซีแลนด์ แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี 2010
ไครสต์เชิร์ช กลายเป็นที่รู้จักในด้านนวัตกรรมการฟื้นฟูเมืองและการใช้แนวคิดเชิงสร้างสรรค์พัฒนาเมือง โดยเป็นเจ้าภาพจัดงานสำคัญต่าง ๆ เช่น งาน World Buskers Festival เป็นเทศกาลนานาชาติประจำปีของนักแสดงข้างถนน (Street performers) ซึ่งในบริบทของเทศกาลนั้น ครอบคลุมทุกด้านของสตรีทอาร์ตและโรงละครริมถนน เช่น การเล่นกล การแสดงผาดโผน การแสดงตลก หรือการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน เวทีแสดงจัดขึ้นใจกลางเมืองโดยเฉพาะในจัตุรัส Cathedral Square, Victoria Square the Arts Centre และ City Mall การสนับสนุนเมืองไครสต์เชิร์ช ด้วยแนวคิดเชิงสร้างสรรค์นี้ จากข้อมูลปี 2022 พบว่า เมืองได้สร้างการจ้างงานมากกว่า 5,500 คน และมีส่วนสนับสนุน GDP ของประเทศนิวซีแลนด์ คิดเป็นมูลค่าราว 718 ล้านดอลลาร์ 

Source: www.timescolonist.com/islander/around-town-buskers-festival-packs-em-in-4625067

ประเทศไทยเองก็มีคอนเซ็ปต์การพัฒนาเมืองและย่านสร้างสรรค์เช่นเดียวกัน โดยมีหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อน คือ สำนักพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของ CEA ร่วมกับเครือข่ายทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ดำเนินงานผ่านยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเมืองใน 5 ด้าน ประกอบด้วย

1. Strategic planning & development – สร้างเครื่องมือและกลไกในการยกระดับพื้นที่ให้เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในการจัดทำแผนหรือเพิ่มเติมแผนพัฒนาย่านบูรณาการเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัด การพัฒนาเครื่องมือประเมินเชิงนโยบาย เช่น Creative City Index (CCI) และการเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network)

2. Creative placemaking – การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative space) โดยทดลองนำพื้นที่เก่าในเมืองมาฟื้นการใช้ประโยชน์ใหม่

3. Strengthen creative business – การพัฒนาสภาวะเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ภายในย่าน ตัวอย่างเช่น โครงการ Made in Charoen Krung

4. District branding - การสร้าง เผยแพร่ สื่อสาร และส่งเสริมการรับรู้อัตลักษณ์ย่านสร้างสรรค์ ผ่านโครงการ Storytelling เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ของพื้นที่นำไปต่อยอดในมิติต่าง ๆ

5. Co-creating a creative community – การบริหารการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่ายในการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ด้วยเครื่องมือ Design Week หรือ เทศกาลการออกแบบ ในแต่ละพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และพื้นที่อื่น ๆ เพื่อสื่อสารแนวคิดการพัฒนาเมืองและย่านสร้างสรรค์ให้เข้าใจง่าย ดึงดูดการมีส่วนร่วมของคนทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามาร่วมกันทำให้เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน

จากยุทธศาสตร์ทั้ง 5 จะเห็นได้ว่า ตั้งต้นจากการพัฒนาพื้นที่เล็ก ๆ อย่าง “ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” เพราะเมื่อย่านหลาย ๆ ย่านมีโอกาสทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็เป็นเสมือนผลรวมที่ทำให้เมืองทั้งเมืองดีตามไปด้วย 

งานเทศกาลเป็นเครื่องมือหนึ่งที่หลาย ๆ ประเทศใช้ในการตั้งต้นพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ช่วยสร้างภาพจำและแบรนด์ของเมืองและย่าน ด้วยเพราะเป็นสิ่งที่สื่อสารและดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาทำความเข้าใจและมีส่วนร่วมกับเมืองได้ง่ายที่สุด สำหรับประเทศไทยการจัดงานเทศกาลนั้นเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเมือง ลำดับที่ 5 เรื่อง “Co-creating a creative community” ซึ่งปัจจุบัน CEA ดำเนินการจัดเทศกาลประจำปีทั้งสิ้น 4 เทศกาลหลัก ประกอบด้วย Bangkok Design Week, Chiang Mai Design Week, Isan Creative Festival และ Pakk Taii Design Week 

ยกตัวอย่าง เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week (BKKDW) เริ่มต้นจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2018 มุ่งเน้นนำเสนองานออกแบบและงานสร้างสรรค์ ที่สะท้อนความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ของกรุงเทพฯ ต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เป็นเวทีแสดงผลงานของนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ตั้งแต่ขั้นทดลองไปจนถึงผลงานระดับมืออาชีพ จัดแสดงผ่านการใช้งานพื้นที่ในเมืองและย่านสร้างสรรค์ พร้อมด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสีสันและประสบการณ์ที่สนุกสนาน น่าจดจำให้กับชาวเมือง อีกทั้งยังดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาสัมผัสกับความเคลื่อนไหวล่าสุดของกรุงเทพฯ ผลกระทบของการจัดเทศกาลไม่ได้ส่งผลเชิงบวกเพียงแค่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นด้วย เกิดการจับจ่ายใช้สอยร้านค้า ร้านอาหาร และที่พักในบริเวณย่านที่จัดงาน ช่วยกระตุ้นธุรกิจในท้องถิ่น จากการประเมินผลกระทบในปี 2023 พบว่าเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ สร้างให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 721 ล้านบาท คิดเป็น 23 เท่าโดยประมาณจากเงินลงทุนในการจัดงาน และเกิดการจ้างงานอยู่ที่ 1,392 อัตรา อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคมมากถึง 86.5% 

CEA มุ่งหวังว่าการจัดงานเทศกาลจะเป็นกลยุทธ์หลักที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจและเพิ่มคุณค่าทางวัฒนธรรม ทำให้เมืองน่าดึงดูดทั้งในแง่ของการท่องเที่ยวและการลงทุน ส่งเสริมการจ้างงาน และสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้น เทศกาลยังช่วยให้เมืองสามารถฟื้นฟูพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานด้วย ทั้งหมดนี้ช่วยให้เมืองมีชื่อเสียงในฐานะศูนย์กลางความคิดสร้างสรรค์และเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นบนเวทีโลก

เรียนรู้เกี่ยวกับเมืองสร้างสรรค์เพิ่มเติมได้ที่ คอร์สออนไลน์ “Creative City เมืองสร้างสรรค์เบื้องต้น” (1 ชม. 18 นาที) ทาง CEA Online Academy
เรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมใบรับรองการจบหลักสูตร
academy.cea.or.th

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Information Center: CIC)