Research & Report

“MAY THE SOFT POWER BE WITH YOU” ขอพลังแห่งซอฟต์พาวเวอร์จงสถิตอยู่กับท่าน

เชื่อว่าทุกประเทศแผ่หรือรับอิทธิพลบางอย่างระหว่างกันทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว หากเราตั้งใจจะขยายอิทธิพลเพื่อให้ประเทศอื่น ๆ รับรู้และยอมรับความเชื่อและค่านิยมตามแบบฉบับที่เราต้องการ คำถามที่ว่า 'ทำไปทำไม' และ 'หวังผลอะไร' เป็นสิ่งสำคัญต่อการกำหนดทิศทางในการสร้างและใช้ซอฟต์พาวเวอร์นั้น 

การแข่งขันเทคโนโลยีอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็นนั้น ถือเป็นปฐมบทของการใช้ "ซอฟต์พาวเวอร์" ในการสร้างอิทธิพลทางความคิดและแข่งขันกันทางเทคโนโลยี แทนการใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกันโดยตรง การส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ บนนั้น สะท้อนถึงความก้าวหน้าทางวิทยาการของแต่ละประเทศ ผลกระทบของการแข่งขันนี้ไม่เพียงส่งเสริมให้ประเทศผู้พัฒนาได้รับการยอมรับด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของนานาประเทศที่สนใจพิชิตห้วงอวกาศอันไกลโพ้น ทั้งประเทศจีน อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างเข้ามามีบทบาทในการส่งดาวเทียมและสำรวจอวกาศด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศที่เข้มข้นยิ่งขึ้นในปัจจุบัน

picryl.com/media/survival-in-space-3a56bc

การให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่หลายประเทศเลือกใช้เพื่อแทรกซึมการเผยแพร่อุดมการณ์ ค่านิยม และบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมของตนแบบเนียน ๆ ผ่านเครื่องมือ เช่น

  • โครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน การตั้งสถาบันการศึกษา หรือการมอบทุนการศึกษา ตัวอย่างเช่น สถาบันขงจื่อของจีนที่เผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมจีนในกลุ่มประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 
  • การให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่นให้กับไทย มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาไทยให้เป็นฐานการผลิตสินค้าคุณภาพสำหรับส่งออกสินค้าภายใต้แบรนด์ญี่ปุ่น 
  • การร่วมลงทุนและทำการค้า อย่างโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนที่ลงทุนมหาศาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและการสื่อสารเพื่อฟื้นฟูเส้นทางการค้าโบราณ หรือการลงทุนของจีนในโครงสร้างพื้นฐานในทวีปแอฟริกาเพื่อแลกกับการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ
  • การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งมหาอำนาจใช้เป็นเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์และเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตอันดีกับประเทศเป้าหมาย 

ในยุคที่การแข่งขันทางวัฒนธรรมกลายเป็นพื้นที่ใหม่ของการต่อสู้ระหว่างประเทศ ฝรั่งเศสได้ฉวยใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในการสื่อสารความหรูหรา เป็นเสมือนแบรนดิ้งของประเทศ โดยเริ่มต้นจากการปกป้องสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ของฝรั่งเศส ผ่านการบังคับใช้กฎหมาย Longuet ที่เข้มข้น เพื่อปกป้องสินทรัพย์ทางความคิดของแบรนด์หรูคู่เมืองจากการลอกเลียนแบบ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการกระจายสินค้าไฮเอนด์สู่ตลาดต่างประเทศในทุกช่องทาง โดยรักษาไว้ซึ่งคุณภาพและงานคราฟต์ชั้นสูง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่สะท้อนความเป็นฝรั่งเศส ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกที่ช่วยกันถ่ายทอดไลฟ์สไตล์หรูหราผ่านโซเชียลมีเดีย กลไกทั้งหมดนี้จะสำเร็จไม่ได้หากขาดความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งฝรั่งเศสขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยใช้สมาคมที่ชื่อว่า Comité Colbert เป็นผู้เล่นสำคัญในการช่วยส่งเสริมและปกป้องอุตสาหกรรมหรูหราของฝรั่งเศส โดยประกอบด้วยสมาชิกจากทั้งวงการแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องประดับ โรงแรม และอาหาร มีภารกิจเพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ และจัดแคมเปญเพื่อเผยแพร่คุณภาพและค่านิยมของฝรั่งเศสไปทั่วโลก ส่งผลให้ฝรั่งเศสยังคงรักษาและเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมได้อย่างทรงพลัง

www.comitecolbert.com

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก รายงาน MAY THE SOFT POWER BE WITH YOU ขอพลังแห่งซอฟต์พาวเวอร์จงสถิตอยู่กับท่าน 

 

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Information Center: CIC)