Music Copyright 102: คู่มือการใช้ลิขสิทธิ์ดนตรีที่ชาวออนไลน์ต้องรู้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงที่ได้ยินในทุกวัน เราไม่ได้ฟังผ่านวิทยุเครื่องโตหรือหน้าจอโทรทัศน์กันอีกต่อไป แต่ฟังผ่านแอปพลิเคชัน YouTube, TikTok, Spotify ฯลฯ ในเมื่อวิถีการฟังเพลงและเสพคอนเทนต์โยกย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ พวกเราเหล่าผู้ผูกพันกับเสียงเพลงทั้งผู้สร้างสรรค์และผู้ใช้เพลง ก็ต้องอัปเกรดระบบปฏิบัติการด้าน “ลิขสิทธิ์เพลง” ให้กลายเป็นเวอร์ชันที่ตามโลกดิจิทัลให้ทัน
นี่คือเหตุผลที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมมือกับ บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MCT จัดทำ “Music Copyright 102: คู่มือการใช้ลิขสิทธิ์ดนตรีที่ชาวออนไลน์ต้องรู้” หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้ขึ้น หากใครเคยอ่าน “Music Copyright 101: คู่มือการใช้ลิขสิทธิ์ดนตรีเบื้องต้น” มาก่อนจะร้องอ๋อ เพราะนี่คือซีรีส์ภาคต่อของเล่มแรก โดยฉบับ 102 นี้จะว่าด้วยเรื่องราวของลิขสิทธิ์เพลงบนสื่อดิจิทัลในประเทศไทยแบบเน้น ๆ
เพราะผู้สร้างสรรค์ในวงการดนตรีคือตัวละครสำคัญของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หนังสือความยาว 50 หน้าเล่มนี้ จึงตั้งใจถ่ายทอดผ่านสำนวนภาษาที่เข้าใจง่าย มาพร้อมคำถาม-คำตอบที่คิดแทนใจผู้ใช้จริง พร้อมภาพประกอบและอินโฟกราฟิกที่ช่วยเปลี่ยนข้อมูลวิชาการและภาษากฎหมายที่ย่อยยาก ให้กลายเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไปสำหรับนักแต่งเพลง นักดนตรี และผู้ใช้เพลงในโลกออนไลน์
อย่าลืมว่าเสียงเพลงก็คือทรัพย์สินมีค่ารูปแบบหนึ่ง หากรู้จักปกป้องรักษา ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่อย่างถูกต้องและเป็นธรรมได้แล้ว ปัญหาก็จะไม่เกิด แต่สิ่งที่จะเกิดคือรายได้ล้วน ๆ!
และผู้สนใจสามารถย้อนอ่าน “Music Copyright 101: คู่มือการใช้ลิขสิทธิ์ดนตรีเบื้องต้น” ที่จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในปี 2565