Research & Report

5 เรื่องที่ครีเอเตอร์ต้องรู้ ในการดูแลลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ และการนำไปต่อยอด

นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการ Content Lab: Animation โครงการพัฒนาโปรเจ็กต์สร้างสรรค์สำหรับสายงานด้านแอนิเมชัน โดยมุ่งเน้นกลุ่ม Mid-Career โดยเฉพาะ ภายใต้โครงการ Content Lab 2024 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้จัดกิจกรรมเวิร์กช็อปและอบรมบ่มเพาะ เพื่อยกระดับทักษะและพัฒนาโปรเจ็กต์ของนักสร้างสรรค์แอนิเมชันของไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

ไฮไลต์หนึ่งที่สำคัญของโครงการ คืองาน Open House Content Lab: Animation ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 15 มิถุนายน 2567 โดยนำเสนอหลากหลายเซสชั่นที่น่าสนใจ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนและเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานในหัวข้อต่าง ๆ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในวงการแอนิเมชันกันอย่างเต็มอิ่ม โดยเซสชั่นสุดท้ายที่ปิดท้ายกิจกรรมนี้ คือ “Session 5: ประสบการณ์การดูแลลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ และการนำไปต่อยอด” โดยได้รับเกียรติจาก 2 ผู้เชี่ยวชาญในวงการมาเป็นวิทยากร อย่าง คุณอณิตา ตันตสิรินทร์ กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อาร์วามะ จำกัด เจ้าของคาแรกเตอร์ Warbie Yama และ คุณสืบสิริ ทวีผล ทนายความหุ้นส่วน บริษัทกฎหมาย Tilleke & Gibbins International ซึ่งดูแลแผนกทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property (IP) Department) มาร่วมแบ่งปันความรู้และข้อมูล เซสชั่นนี้ดำเนินการเสวนาโดย ดร. มาริสา จันทมาศ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

นอกจากผู้เข้าร่วมจะได้รับฟังมุมมองการเป็นเจ้าของคาแรกเตอร์ และการดูแลลิขสิทธิ์จากฝั่งกฎหมาย พร้อมนำไปสู่การต่อยอดในรูปแบบอื่น ๆ ของครีเอเตอร์แล้ว ยังได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ท่าน เพื่อให้นักสร้างสรรค์และชาวแอนิเมเตอร์ได้นำไปปรับใช้ในการพัฒนาโปรเจ็กต์และนำไปต่อยอดต่อไปในอนาคต โดยถอดบทเรียนสรุปออกมาได้ 5 เรื่องด้วยกัน

1. ทำความรู้จัก 4 ประเภทของระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

เริ่มต้นด้วยคุณสืบสิริซึ่งได้แบ่งปันมุมมองของนักกฎหมาย ที่มีประสบการณ์ในการดูแลเรื่องลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญามากว่า 20 ปี โดยเคยมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับผู้ผลิตคอนเทนต์ใน Netflix Original Series เขาอธิบายระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาว่ามีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ 

  1. ลิขสิทธิ์ (Copyright) ให้ความคุ้มครองงานสร้างสรรค์ตามกฎหมาย ซึ่งผู้สร้างสรรค์ทำด้วยตนเอง ไม่ขัดต่อกฎหมาย ได้รับความคุ้มครองทันทีโดยไม่ต้องจดทะเบียน
  2. สิทธิบัตร (Patent) ให้ความคุ้มครองการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีต่าง ๆ โดยต้องมีการยื่นจดทะเบียน ทั้งนี้ ผลงานนั้นจะต้องมีความใหม่ หรือมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น สามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมได้
  3. เครื่องหมายการค้า (Trademark) ให้ความคุ้มครองเครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ เพื่อแยกความแตกต่างของสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการแต่ละราย โดยให้ความคุ้มครองแก่เครื่องหมายที่จดทะเบียนแล้วเป็นหลัก เครื่องหมายการค้านั้นต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย และไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว
  4. ความลับทางการค้า (Trade Secret) ให้ความคุ้มครองข้อมูลทางการค้าที่ไม่รู้จักกันโดยทั่วไป หรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคล มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และได้รับการรักษาโดยใช้มาตรการที่เหมาะสม โดยจะได้รับความคุ้มครองตราบที่ยังเป็นความลับ โดยไม่ต้องจดทะเบียน

“สิ่งที่ผมอยากจะเน้นเป็นพิเศษ คือความแตกต่างของคอนเทนต์ที่เป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ และ Branding ที่เป็นเรื่องเครื่องหมายการค้า กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ที่เรียกว่าเป็นคอนเทนต์ ซึ่งรวมถึงงานดนตรี ภาพยนตร์ หรือซอฟต์แวร์ต่าง ๆ โดยให้ความคุ้มครองทันทีโดยไม่ต้องจดทะเบียน ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ผลงาน และนับต่อไปอีก 50 ปี หลังจากที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต ส่วนเครื่องหมายการค้านั้น กฎหมายให้ความคุ้มครองโดยการจดทะเบียนเป็นหลัก นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียน และสามารถต่ออายุความคุ้มครองได้ครั้งละ 10 ปี โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง”

ทั้งนี้ ในกรณีที่ผลงานนั้นมีผู้สร้างสรรค์งานหลายคน กฎหมายลิขสิทธิ์จะคุ้มครองโดยนับจากที่ผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายเสียชีวิต ซึ่งบางกรณีเราต้องแยกระหว่างผู้สร้างสรรค์ผลงานกับเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะบางครั้งเจ้าของลิขสิทธิ์อาจเป็นนิติบุคคลที่เป็นบริษัท เช่นเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าที่เจ้าของเป็นบุคคลผู้สร้างสรรค์ผลงานหรือนิติบุคคลก็ได้

2. ต่อยอดความชอบไปสู่ผลงานเชิงพาณิชย์ได้อย่างไร

หลังจากที่ได้รู้ข้อกฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว มาถึงเรื่องการต่อยอดผลงานในเชิงพาณิชย์กันบ้าง คุณอณิตาเล่าถึงที่มาของการสร้างแบรนด์ Warbie Yama ว่าเริ่มต้นมาจากหนังแอนิเมชันขนาดสั้นเรื่อง Cheez…z ที่คุณอรุษ ตันตสิรินทร์ น้องชายของเธอเป็นแอนิเมเตอร์ โดยสร้างเป็นโปรเจ็กต์ธีสิสสมัยเรียนปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นจึงได้ส่งเข้าไปประกวดในงานเทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชันต่าง ๆ จนได้รับรางวัล 

นอกจากจะสร้างสรรค์คาแรกเตอร์และเนื้อเรื่องแล้ว คุณอรุษยังได้แต่งเพลง Original Music ในแอนิเมชันเรื่องดังกล่าว โดยหนึ่งในคาแรกเตอร์หลักก็คือ Warbie นกสีเหลือง ซึ่งกลายเป็นซิกเนเจอร์ จนกระทั่งได้ร่วม Collab กับศิลปินไทยอย่าง ป๊อด-ธนชัย อุชชิน ผลิต มิวสิกวิดีโอ “เขิน” (Shy) โดยนำคาแรกเตอร์ Warbie มารวมกับคาแรกเตอร์ Balloon Boy ของศิลปิน จนทำให้ผลงานนี้ได้รับรางวัลมากมาย นอกจากนี้ เขายังมีผลงาน Original Animated Short Film ที่ผู้จัดงานในต่างประเทศได้มีการขออนุญาตนำไปฉายในเทศกาลต่าง ๆ

หลังจากสร้างคาแรกเตอร์แอนิเมชันจนโด่งดัง จึงต่อยอดและนำไปสู่การสร้างแบรนด์ Warbie Yama ในเชิงพาณิชย์ ทั้งคอมิก, ไลน์สติกเกอร์ และสินค้าต่าง ๆ อย่างตุ๊กตา, เสื้อ, หมวก, กระเป๋า ฯลฯ พร้อมขยายเข้าสู่ธุรกิจอย่างเต็มตัว ด้วยการเปิดหน้าร้าน หรือ Physical Store ในห้างสรรพสินค้า คุณอณิตากล่าวว่านอกจากการจดแจ้งลิขสิทธิ์ผลงาน หลังจากนั้นเมื่อทำแบรนด์จริงจัง จึงได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือ Trademark ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความชื่นชอบในแอนิเมชันสามารถต่อยอดผลงานสร้างสรรค์ไปสู่ธุรกิจได้หลากหลายรูปแบบ

“จุดเริ่มต้นจากหนังแอนิเมชันสั้น ๆ เราพัฒนาคาแรกเตอร์ให้เป็นโปรดักต์สินค้าอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ถ้าเรามีคาแรกเตอร์ที่แข็งแรงแล้ว ก็สามารถต่อยอดไปเป็นการทำ Branding โดยตั้งแต่แรกเราได้ทำการจดลิขสิทธิ์ ซึ่งรวมทั้งตัวคาแรกเตอร์ เพลงประกอบ เส้นทางการดำเนินเรื่องหรือ Storyline ทุกชิ้นงานมีมูลค่า เราสามารถเพิ่มช่องทางต่าง ๆ เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้หนังเสร็จ ระหว่างนั้นเราอาจจะใช้คาแรกเตอร์มาโปรโมตหนังในช่องทางอื่น ๆ ไปด้วยได้ อยากให้มองว่าการที่เราทำคอนเทนต์ขึ้นมาด้วยแพสชันและความทุ่มเท ไม่ได้มีเพียงแค่ช่องทางเดียวในการเผยแพร่เท่านั้น เราควรเปิดโอกาสให้กับช่องทางอื่น ๆ ด้วย”  

3. การเตรียมความพร้อมส่งออกผลงานสู่สากล

หลังจากแบรนด์เติบโตจนพร้อมบุกตลาดในระดับสากลแล้ว ผู้สร้างสรรค์ควรเตรียมพร้อมอย่างไร ในฐานะที่ดูแลด้านการตลาดและการผลิตสินค้าของแบรนด์ คุณอณิตาได้แชร์ประสบการณ์ว่าทางแบรนด์ได้มีการจดลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ดีไซน์ รวมทั้งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ เมื่อมีการขาย Licensing การอนุญาตให้ใช้สิทธิในคาแรกเตอร์ให้กับคู่ค้าต่างชาติ

“ทางพาร์ตเนอร์ชาวจีนของเราแนะนำว่าเราควรจะจดทั้งลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าในประเทศของเขาใหม่ทั้งหมด เพื่อป้องกันการดัดแปลงหรือก๊อปปี้ เราจึงจดทะเบียนทุกอย่าง ทั้งจดลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ดีไซน์ รูปลักษณ์ หรืองานศิลป์ ซึ่งการจดลิขสิทธิ์ที่จีนมีค่าใช้จ่ายไม่สูง รวมทั้งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทั้งรูปคาแรกเตอร์ IP ที่เป็นซิกเนเจอร์ และชื่อที่เป็น Trademark ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน”

ทั้งนี้ หลังจากที่ทำการขยายตลาด และขาย Licensing ในต่างประเทศแล้ว เนื่องจากคาแรกเตอร์หนึ่ง ๆ สามารถผลิตเป็นสินค้าได้หลากหลาย จึงต้องมีการจด Trademark เป็นราย Category หรือหมวดหมู่ของสินค้าแต่ละประเภทอีกด้วย โดยผู้ประกอบการต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในอนาคต

“นอกจากการต่อยอดในการทำ Branding เพื่อผลิตเป็นสินค้าแล้ว ยังมีเรื่องของการจัดงานอีเวนต์ นิทรรศการศิลปะแนว Immersive Experience หรืองาน Theme Park ต่าง ๆ ถ้าเราสามารถพัฒนาคาแรกเตอร์จนได้ IP หรือทรัพย์สินทางปัญญา แล้วทำ Branding ดี ๆ ก็สามารถขยายตลาดออกไปได้ เพราะหนึ่งผลงานที่เราผลิตออกมานับว่าเป็นคอนเทนต์ ซึ่งสามารถเผยแพร่ออกไปตามช่องทางต่าง ๆ ได้หลายช่องทาง อย่างสินค้าของ Warbie เราถือว่าเป็นการบอกเล่าเรื่องราวผ่านผลงาน ไม่ว่าจะเป็นของเล่นสะสมประเภท Art Toy หรือแม้กระทั่งไลน์สติกเกอร์ เราถือว่าเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง” 

นอกจากสินค้าที่ผลิตออกมาภายใต้แบรนด์ Warbie Yama ทางแบรนด์ยังได้ไปร่วมทำการตลาด (Collaboration Marketing) กับต่างประเทศมากมาย เช่น iCash Card บัตรเติมเงินของไต้หวัน, กาชาปอง, เคสโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงรายการทีวี รวมทั้งยังเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการโปรโมตวัฒนธรรมในงานเทศกาลนานาชาติต่าง ๆ อีกด้วย

“ตลาดตอนนี้เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เมื่อเราตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานให้ดี เราก็จะเจอกับ พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ ก่อนอื่นเราต้องมีความพร้อมและความมั่นใจที่จะขยายศักยภาพของผลงานที่จะสามารถต่อยอดไปได้ เนื่องจากเราทำเองตั้งแต่แรก เราจึงรู้ว่ากลุ่มแฟนคลับของเราเป็นใคร ธุรกิจในสเตปต่อไปเราควรจะไปในทิศทางไหน ดังนั้น ถ้าใครสร้างแบรนด์ต้องมองหาตัวเองให้เจอ รู้ว่า Core Value หรืออัตลักษณ์ของเราคืออะไร แบบไหนที่เหมาะกับเรา”

4. การดูแลลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์

มาถึงเรื่องการดูแลลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ที่ชาวแอนิเมเตอร์ควรรู้ ดร. มาริสาได้ตั้งคำถามว่าผู้สร้างสรรค์ควรจะนำผลงานของตนไปยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อใด ประเด็นนี้คุณสืบสิริได้ตอบข้อสงสัยว่าการพัฒนาคาแรกเตอร์ดีไซน์มีหลายระดับ การจะนำไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าควรเป็นผลงานที่พัฒนาเสร็จสมบูรณ์ พร้อมที่จะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์แล้ว 

“งานคาแรกเตอร์ดีไซน์จะคุ้มครองเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งแม้จะพิสูจน์ได้ว่าคุณเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่พอถึงเวลานำไปบังคับใช้จริง สิทธิมันไม่ชัดเจนเท่ากับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ส่วนกรณีที่คาแรกเตอร์ดีไซน์มีหลายลักษณะ แล้วควรจะนำลายไหนไปจดทะเบียนเป็น Branding คำตอบก็คือควรใช้ลายที่คิดว่าเราจะใช้บ่อยที่สุด และเป็น Iconic ที่โดดเด่นของเรา”

คุณสืบสิริอธิบายเพิ่มเติมว่าการจดลิขสิทธิ์เป็นระบบการจดแจ้ง ไม่ใช่การจดทะเบียน เพราะเราได้สิทธิในการเป็นเจ้าของโดยอัตโนมัติตั้งแต่สร้างสรรค์ผลงานแล้ว แตกต่างจากการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้า เพื่อให้ภาครัฐออกเอกสารรับรองสิทธิให้ ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ยื่นจดลิขสิทธิ์ แต่ก็สามารถคุ้มครองสิทธิได้ในต่างประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ ซึ่งหมายความว่าเราคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ของคนประเทศเขาในบ้านเรา ในขณะเดียวกันเขาก็คุ้มครองงานลิขสิทธิ์ของเราด้วยเช่นกัน

“ถึงแม้ว่าลิขสิทธิ์ที่คุ้มครองคอนเทนต์ คาแรกเตอร์ ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว รวมทั้งเพลงในงานแอนิเมชัน จะไม่ต้องจดทะเบียนลิขสิทธิ์ก็ตาม แต่อย่างน้อยเราก็ควรเก็บหลักฐานว่าเราเป็นผู้สร้างสรรค์ไว้ด้วย เพราะถ้าหากมีปัญหาภายหลังจะได้ใช้ในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของผลงาน หากเป็นกรณี Independent Creation ที่ต่างคนต่างทำแล้วบังเอิญเหมือนกัน อย่างนี้ถือว่าไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ในขณะที่เครื่องหมายการค้านั้น หากนำไปยื่นจดทะเบียนแล้วมีใครบังเอิญใช้เหมือนกัน อย่างนี้ถือว่าละเมิด ระบบ Trademark จึงเข้มแข็งในการบังคับใช้มากกว่า และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าในการจดทะเบียน” 

ถัดมาคือประเด็นจากเรื่องลิขสิทธิ์ (Copyright) ไปสู่กรณีการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing) โดย ดร. มาริสาตั้งคำถามว่าเรื่องนี้มีกฎหมายคุ้มครองแบบไหนและควรมีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร

คุณสืบสิริได้อธิบายว่าการ Licensing คือการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของเรา แต่ต้องพิจารณาว่าสิทธินั้นคือการให้สิทธิประเภทใด แม้อาจเป็นเรื่องยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายมากในการดำเนินการเพื่อจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานต้องคำนึงถึง เมื่อคิดจะต่อยอดผลงานในเชิงพาณิชย์ในระดับสากล 

“อย่างที่คุณอณิตาได้พูดถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นการลงทุนในช่วงต้น แต่มันสามารถนำมาซึ่งผลตอบแทนกลับมาภายหลังในรูปแบบของค่า Licensing ได้ ลิขสิทธิ์นั้นไม่ต้องจดทะเบียน แต่สามารถไปจดแจ้งกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในขณะที่เครื่องหมายการค้าจำเป็นต้องจดทะเบียน จึงจะสามารถนำไป Licensing ได้ ซึ่งถ้าหากทาง Warbie Yama ใช้แค่ลิขสิทธิ์อย่างเดียวในการคำนวณค่าสิทธิที่จะได้จากการ Licensing จะน้อยกว่าการที่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าควบคู่ไปด้วย เพราะในการคำนวณจะแยกกันทั้งสองอย่าง”

ข้อแนะนำอีกอย่างคือเราสามารถนำคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นอื่น ๆ ในเรื่องไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอาไว้ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถจดชื่อเครื่องหมายการค้าของคาแรกเตอร์ทุกตัวที่สร้างสรรค์ขึ้นมาในงานแอนิเมชันได้ก็ตาม แต่อาจจะตัดสินใจเลือกจากคาแรกเตอร์ที่มีมูลค่าตลาด หรือ Market Value เพียงพอ ในการต่อยอดผลิตเป็นสินค้าในเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ ในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น จำเป็นต้องจดทะเบียนให้ครบทุก Category ของสินค้า เนื่องจากในทางกฎหมายไม่ได้คุ้มครองเครื่องหมายการค้าครอบคลุมสินค้าและบริการทั้งหมดทุกประเภท โดยการจดทะเบียนแค่ครั้งเดียว ปัจจุบันมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศที่เรียกว่าระบบ Madrid System โดยสามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพร้อมกันทีเดียวหลายประเทศได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนแยกทีละประเทศ

คุณสืบสิริได้ยกตัวอย่างว่าหากผู้ประกอบการต่างชาติหรือผู้สร้างสรรค์ผลงานไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศจีน มักจะมีกลุ่มคนที่เรียกว่า Trademark Squatter ชิงตัดหน้าไปจดทะเบียนจองเอาไว้ก่อน ส่งผลให้เมื่อจะนำผลงานไปต่อยอดเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ที่ประเทศจีน เจ้าของผลงานจำเป็นต้องซื้อการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

“ถึงแม้ว่าการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จะเป็นเรื่องที่ใครจดก่อนได้สิทธิก่อน แต่ความจริงแล้วมีกฎหมายในการยกเลิกเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนโดยบุคคลอื่นโดยความไม่สุจริต แบบ Bad Faith ซึ่งสามารถยื่นเพิกถอนได้ แต่ขั้นตอนในการดำเนินการตรวจสอบอาจใช้ระยะเวลาหลายปี และค่าใช้จ่ายอาจเป็นหลักแสนหรือหลักล้านขึ้นไป จึงแนะนำให้จดทะเบียนเอาไว้ก่อน”

5. The New IP (Intellectual Property) ที่มากกว่าแค่เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา

แม้ว่าการจดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าในการต่อยอดผลงานเชิงพาณิชย์ในตลาดต่างประเทศนั้นจะสำคัญมาก แต่ทางผู้บริหารแบรนด์ Warbie Yama ได้แชร์มุมมองว่าการเผยแพร่ผลงานหรือ Publish นั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน นอกจากแอนิเมชันสั้นแล้ว ทางแบรนด์ก็ยังใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ผลงาน โดยคุณสืบสิริได้เสริมว่าในทางกฎหมายลิขสิทธิ์ การเผยแพร่ผลงานต่อสาธารณะนั้น มีน้ำหนักในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ค่อนข้างสูง

“การ Publish หรือ Publication กฎหมายไทยใช้คำว่า ‘การโฆษณางาน’ ก็คือการนำผลงานของเราเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะ ซึ่งเป็นการเริ่มนับความคุ้มครอง โดยมีการเปิดเผยความเป็นเจ้าของผลงานนั้นออกไป ขึ้นอยู่กับครีเอเตอร์ว่าอยากจะนำผลงานของเราไปเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อใด อาจโพสต์ในโซเชียลมีเดียของเรา หรือจะเริ่มผลิตสินค้าออกวางขายในตลาด สิ่งที่อาจต้องพึงระวังคือเมื่อเผยแพร่ออกไปแล้ว เราได้บอกชัดเจนหรือไม่ว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานนั้นคือใคร มีกฎหมายในต่างประเทศระบุไว้ว่าจะต้องใส่ชื่อเจ้าของและระบุปีที่ Publish ครั้งแรก มีสัญลักษณ์ลิขสิทธิ์กำกับเอาไว้ด้วย ตรงนี้ก็อาจเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีในการประกาศความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งาน”

ส่วนประเด็นที่ผู้เข้าร่วมโครงการหลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าการขอทุนจากหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาโปรเจ็กต์แอนิเมชัน เมื่อผลิตงานออกมาแล้วลิขสิทธิ์จะเป็นของใคร คุณสืบสิริชี้แจงว่าสิทธินั้นควรเป็นของผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงโดยมีการทำสัญญาให้ชัดเจน แต่ละองค์กรก็มีวัตถุประสงค์ในการให้ทุนเพื่อพัฒนาโปรเจ็กต์แตกต่างกันไป หากผู้สร้างสรรค์พิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถยอมรับเงื่อนไขนั้นได้ จึงค่อยเซ็นสัญญาก่อนจะรับทุนมาพัฒนาในการผลิตผลงานต่อไป

ทางด้านคุณอณิตาแชร์ประสบการณ์ว่า ที่ผ่านมาทางแบรนด์ Warbie Yama ก็เคยร่วมงานกับภาครัฐที่มาขอใช้คาแรกเตอร์ Warbie ในการโปรโมตโครงการต่าง ๆ ซึ่งตัว Warbie เป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ มี Trademark อยู่ จึงต้องอ่านสัญญาให้ดีว่างานนั้นลิขสิทธิ์เป็นของใคร พร้อมระบุระยะเวลาที่ใช้ผลงานในสัญญาให้ชัดเจน

ความน่าสนใจของเซสชั่นนี้ ผู้ดำเนินรายการอย่าง ดร. มาริสาบอกว่าเป็นประเด็นเรื่อง The New IP ซึ่งมากกว่าแค่ทรัพย์สินทางปัญญา แต่ยังครอบคลุมนับตั้งแต่การดูแลลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ ไปจนถึงการสร้างแบรนด์เพื่อต่อยอดในเชิงธุรกิจ สอดคล้องกับที่คุณอณิตาได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานในเชิงพาณิชย์ ไม่อาจหลีกเลี่ยงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาได้ ฉะนั้น นอกจากความรู้เรื่องแอนิเมชัน ครีเอเตอร์จึงจำเป็นต้องมีความรู้และเข้าใจกฎหมายลิขสิทธิ์ ควบคู่ไปกับความรู้ด้านธุรกิจและการตลาดด้วย

คุณสืบสิริแนะนำปิดท้ายว่า สิ่งที่นักสร้างสรรค์หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องเข้าใจ คือค่าใช้จ่ายในการนำผลงานของตนเองไปสู่ตลาดต่างประเทศนั้น นอกจากเรื่องการหาพาร์ตเนอร์และการส่งเสริมการขายแล้ว งบประมาณเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา หรือ IP ก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเช่นกัน เพราะจะเป็นการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ของตนเองในอนาคต และยังช่วยให้คู่ค้าทางธุรกิจสามารถตัดสินใจร่วมลงทุนได้ง่ายขึ้น

ในช่วงท้าย ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ซักถามในประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์ผลงานและทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งวิทยากรทั้ง 2 ท่านก็ได้ช่วยให้คำแนะนำและตอบคำถามทุกข้อสงสัย เรียกว่างานนี้ทุกคนต่างได้ความรู้กลับไปกันอย่างเต็มอิ่ม พร้อมที่จะต่อยอดในการพัฒนาโปรเจ็กต์แอนิเมชันในเชิงพาณิชย์กันต่อไป

Capture Your Ideas with the Creative Asset Platform (CAP) by CEA

CEA นำเสนอแพลตฟอร์มบริหารสินทรัพย์สร้างสรรค์ หรือ Creative Asset Platform (CAP) นวัตกรรมที่มาพร้อมโซลูชันสำหรับนักสร้างสรรค์โดยเฉพาะ CAP ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและ NFT เพื่อจัดการ ปกป้อง และเพิ่มโอกาสสร้างรายได้จากผลงาน คุณสมบัติเด่นของ CAP คือการประทับเวลา (Timestamp) ซึ่งเปรียบเสมือนการติดป้าย “นี่คือผลงานของฉัน” กำกับไว้บนชิ้นงาน นักสร้างสรรค์สามารถใช้ CAP เพื่อบันทึกหลักฐานกระบวนการสร้างงาน ตั้งแต่ร่างแบบจนถึงงานที่เสร็จสมบูรณ์ โดยระบบจะประทับเวลาและออกใบรับรอง (Blockchain Certificate) ให้กับผลงานได้ในทุกขั้นตอน ผู้ที่สนใจสามารถเข้าใช้งาน CAP ได้ฟรีที่ https://cap.cea.or.th โดยมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก เพียงสมัครและยืนยันตัวตน อัปโหลดไฟล์ผลงาน (รองรับงานสร้างสรรค์ถึง 18 ประเภท 16 สกุลไฟล์ ทั้งที่เป็นภาพ เอกสาร หรือวิดีโอ) Timestamp และจัดการสินทรัพย์ได้เองผ่าน Dashboard ส่วนตัว ไม่ผ่านตัวกลาง พร้อมทั้งสามารถดาวน์โหลดใบรับรองเพื่อการยืนยันสิทธิได้ทันที