Research & Report

เลนส์ภาพยนตร์ บันทึกหน้าประวัติศาสตร์ และภาพสะท้อนร่วมสมัย

ภาพยนตร์และซีรีส์เป็นได้มากกว่าแค่สื่อบันเทิง หลายครั้งถูกหยิบยกมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีพลังในการโน้มน้าว หล่อหลอมความคิด หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการทูตระหว่างประเทศ

เปิดปี 2024 มาไม่กี่เดือน มีภาพยนตร์และซีรีส์หลายเรื่องที่ออกฉาย โดยหยิบยกรอยแผลทางประวัติศาสตร์ที่หลายประเทศ อยากลืมกลับจำ มาผลิตซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น Gyeongseong Creature, Exhuma, The Zone of Interest หรือ 3 Body Problem น่าสนใจที่แต่ละเรื่องทยอยออกฉายพอดีกับช่วงเวลาที่สถานการณ์โลกกำลังเผชิญกับภาวะตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) หากมองย้อนกลับไปในอดีต ก็มีตัวอย่างที่ภาพยนตร์ถูกใช้เป็นสื่อกลางในการส่งต่ออิทธิพลทางความคิดในหลากหลายวัตถุประสงค์ ทั้งการโฆษณาชวนเชื่อ หรือเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ

www.vulture.com/article/netflix-3-body-problem-plot-ending.html

โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ภาพยนตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมอุดมการณ์ชาตินิยมและสนับสนุนวาระทางการเมืองอย่างมีพลัง โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งอย่างสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพยนตร์เช่น Casablanca (1942) และซีรีส์ Why We Fight (1942 - 1945) มีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมความสามัคคีของคนในชาติและสร้างขวัญกำลังใจให้กับกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร อย่างไรก็ตาม การใช้ภาพยนตร์เพื่อโฆษณาชวนเชื่อไม่ได้จำกัดอยู่เพียงอดีต แต่ยังคงปรากฏชัดอยู่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น ภาพยนตร์ Crimea (2014) นำเสนอภาพที่ตอกย้ำความชอบธรรมในการผนวกไครเมียของรัสเซีย หรือ Wolf Warrior 2 (2017) หนังจีนแอ็กชันแนวรักชาติที่นำเสนอตัวละครเอกชาวจีนที่ต่อสู้กับทหารรับจ้างชาวตะวันตกในแอฟริกา สะท้อนถึงความเข้มแข็งและความเหนือกว่าทางศีลธรรมของจีน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจีนในการฟื้นฟูประเทศ 

www.flickr.com/photos/116153022@N02/15666067342

ทัศนคติแบบเหมารวม (Stereotype) ฮอลลีวูดมักตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์จากการนำเสนอตัวละครต่างเชื้อชาติในบทบาทที่อาจลดทอนคุณค่าและสร้างความเข้าใจที่บิดเบือน เช่น การกำหนดให้ตัวละครจากตะวันออกกลางเป็นผู้ก่อการร้าย หรือตัวละครเอเชียเป็นคนก่อปัญหา ซึ่งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สุมไฟให้เกิดความรู้สึกต่อต้านชาวเอเชียที่รุนแรงขึ้น ในทำนองเดียวกันกับตัวละครแอฟริกัน แม้ภาพยนตร์อย่าง Black Panther (2018) จะได้รับการยกย่องสำหรับการนำเสนอวัฒนธรรมแอฟริกันในเชิงบวก แต่ภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ยังคงนำเสนอทวีปนี้ผ่านมุมมองของความยากจนและความขัดแย้ง การบิดเบือนเหล่านี้เสี่ยงต่อการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมและเพิ่มทัศนคติแบบเหมารวมที่อันตราย 

ตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง ภาพยนตร์และสารคดีมีบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อกลางสร้างความตระหนักรู้ต่อประเด็นความเสี่ยงในเวทีโลก เช่น ปัญหาโลกเดือด ภาวะสงคราม หรือความยุติธรรมทางสังคม การนำเสนอเรื่องราวที่กระตุ้นความคิด ช่วยให้ผู้ชมเข้าใจและมีแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมามีส่วนร่วม สร้างสรรค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ตัวอย่างเช่น The Social Dilemma (2020) สารคดีของ Netflix ที่สำรวจผลกระทบของการเสพติดโซเชียลมีเดียและด้านมืดของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลบัญชีผู้ใช้งาน และอัลกอริทึมเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเงิน กระตุ้นการสนทนาเกี่ยวกับความจำเป็นในการกำกับดูแลและมาตรฐานทางจริยธรรมในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หรือภาพยนตร์อย่าง Seaspiracy (2021) ที่เผยให้เห็นผลกระทบของการประมงที่มากเกินไปต่อระบบนิเวศทางทะเล กระตุ้นการอภิปรายเกี่ยวกับการบริโภคอาหารทะเลอย่างยั่งยืน และความจำเป็นในการปกป้องมหาสมุทร ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

ภาพยนตร์มีพลังที่จะก่อรูปการรับรู้ มีอิทธิพลต่อผู้ชม และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ผู้สร้างภาพยนตร์จึงต้องใช้พลังนี้อย่างระมัดระวังและมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน ผู้ชมภาพยนตร์ก็ต้องมีสติและวิจารณญาณในการรับชม ซึ่งนั่นไม่เพียงช่วยให้ผู้ชมเข้าใจบริบทและแรงจูงใจเบื้องหลังการเล่าเรื่องได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยให้เกิดการสนทนาที่สร้างสรรค์และขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่เหมาะสม

 

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Information Center: CIC)