ประเทศไหนสนใจ “กางเกงช้าง” กันบ้าง สืบได้จาก “Google Trends”
พื้นที่ความสนใจตามกรอบของไทยซอฟต์พาวเวอร์ ระหว่างคนไทยและชาวโลกนั้น มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร คำค้นจาก “Google Trends” บอกอะไรเรามากมาย แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราเห็นถึงเส้นทางที่จะไปต่อในอนาคต
เมื่อค้นหาความสนใจของคนไทยด้วยคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ในช่วงเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่าช่วงเดือนที่พีคที่สุดของการค้นหา คือ ต.ค.-พ.ย.2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลประกาศนโยบายขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ เจาะประเด็นที่คนสนใจค้นหาข้อมูลมากที่สุด ได้แก่ ความหมายและตัวอย่างของซอฟต์พาวเวอร์ โดยรายละเอียดปลีกย่อยเช่น นโยบายเรือธงอย่าง One Family One Soft Power การจัดตั้งหน่วยงานใหม่อย่าง THACCA คณะอนุกรรมการ 11 สาขา และงบประมาณสำหรับขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ยังพบการค้นหาอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นการค้นหาจากประชากรในเขตกรุงเทพฯ เป็นหลัก
หากถอยกลับมาดูคำค้นว่า “Soft Power” ทั่วโลก จะพบว่ามีการค้นหาสูงสุดอยู่ในประเทศไทย เยเมน และสหรัฐอเมริกา ที่น่าสนใจคือคำค้นว่า “China soft power” มีผู้สนใจค้นหาจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ และอินเดีย น่าเสียดายที่ยังมีรายละเอียดไม่มากพอในการพิจารณาว่าแต่ละประเทศให้ความสนใจในประเด็นใดภายใต้คำค้นนี้ และเมื่อเปลี่ยนคำค้นเป็น “Hallyu” และ “Korean wave” ซึ่งเป็นต้นแบบการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ที่ไทยมักอ้างอิงถึงนั้น พบว่าผู้คนทั่วโลกมักคิดถึงเรื่องของ K-pop วงไอดอลอย่าง BTS บาร์บีคิวแบบเกาหลี และงานเทศกาลดนตรี Hallyu Pop Fest เป็นหลัก
องค์ประกอบสำคัญของซอฟต์พาวเวอร์ตามนิยามของ Joseph Nye คือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงชวนมาสำรวจถึงคำค้นของชาวต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย เพื่อพิจารณาว่าเขาเหล่านั้นสนใจเรื่องอะไรในประเทศของเราบ้าง พบว่าประเทศที่สนใจค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับไทยสูงที่สุด ได้แก่ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และรัสเซีย ส่วนในเอเชียมีญี่ปุ่น เวียดนาม และลาวเป็นหลัก รายละเอียดของคำค้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องของผัดไท ร้านอาหารไทย การนวด และมวยไทย ที่น่าสนใจคือละครไทย หรือ “Thai drama” เมื่อเข้าไปส่องในรายละเอียดจะพบว่าคำค้นนี้ถูกค้นโดยประเทศกัมพูชาสูงที่สุด รองลงมาคือ ภูฏาน เมียนมาร์ บรูไน และมาเลเซีย โดยละครหรือซีรีย์ที่กลุ่มประเทศเหล่านี้สนใจได้แก่เรื่อง คืนเปลี่ยนชีวิต (One night stand) มาตาลดา (To the moon and back) คนหิว เกมกระหาย (Hunger) เมื่อหอยทากมีรัก (When a snail falls in love) และ Boy love (BL) series อย่างเรื่อง Cherry magic 30 ยังซิง เป็นต้น
กระแสสังคมไทยปัจจุบัน ที่ชูให้วัฒนธรรม สินค้า หรือบริการบางเรื่องเป็นซอฟต์พาวเวอร์นั้น พบสัญญาณความสนใจจากชาวโลกอยู่จริงหรือไม่ ตัวอย่างเช่น “กางเกงช้าง” จากสถิติเกือบ 100% เป็นการค้นหาจากไทย ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่สนใจร่วมด้วยคือ ลาว ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ที่น่าสังเกตคือ “แจ็คสัน หวัง” เป็นคำค้นที่เกี่ยวเนื่องกับกางเกงช้าง ชี้ให้เห็นว่าการได้ดาราหรือไอดอลที่มีชื่อเสียงมาใช้สินค้า อาจนำพาซึ่งความสนใจได้มากขึ้น ถัดมาที่คำค้น “ข้าวเหนียวมะม่วง หรือ Mango sticky rice” ในมุมมองชาวต่างชาติสนใจเรื่องของสูตรการทำ และที่น่าสนใจคือมีคำค้น ก.พานิช ร้านข้าวเนียวมูนชื่อดังพ่วงมาด้วย อีกหนึ่งคำค้น “Thai silk” พบว่าชาวต่างชาติส่วนใหญ่สนใจคำนี้ในบริบทแวดล้อมมากกว่า เช่น Royal silk class ของการบินไทย หรือ ร้านอาหารไทยที่มีคำว่า Silk อยู่ในชื่อร้าน ส่วนที่เกี่ยวกับผ้าไหมจริง ๆ นั้น จะเป็นแหล่งซื้อเช่น ตลาดนัดจตุจักร ส่วนแบรนด์ที่ชาวต่างชาติค้นหาในอันดับต้น ๆ มีเพียง Jim Thompson เท่านั้น
การวิเคราะห์ผ่าน Google Trends เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความสนใจและมุมมองของประเทศเป้าหมายที่ไทยต้องการแผ่อิทธิพลไปถึง รวมทั้งนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการสร้างภาพจำ สร้างแบรนด์ เพื่อพิชิตตลาดในประเทศนั้น ๆ ด้วย