รายงานสถานการณ์และความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปี 2565
จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของบริบทโลกโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงสร้างผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบอย่างมหาศาล ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานต่างให้ความสำคัญกับการศึกษาและการคาดการณ์อนาคต เพื่อตระหนักรู้และเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น หากรอเวลาให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าจะเกิดเหตุการณ์นั้น ๆ อาจล่าช้าเกินไป การให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ประเด็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกินขึ้นในอนาคต (Foresight) อาจเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม หันมาขบคิดถึงกระแสการเปลี่ยนแปลง มองเห็นความเสี่ยงและข้อจำกัดอย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การวางแผนที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงได้จัดทำ Thailand’s Creative Industries Movement Report 2022 หรือ รายงานสถานการณ์และความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปี 2565 โดยประกอบไปด้วยผลการวิเคราะห์ภาพอนาคตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในระยะ 10 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2566-2575 (ค.ศ. 2023-2032) จากหลักการชี้นำ (Guiding Principles) 3 ประการ อันได้แก่ เชื่อมโยงกับบริบทโลก (Global Context), นำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shifts), และเกิดการออกแบบระบบใหม่ (System Design)
นอกจากนี้ CEA ยังได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และแผนปฏิบัติการสำนักงานฯ ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อให้การดำเนินงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง โดยแผนดังกล่าวมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ภาพอนาคตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อพลิกโฉมประเทศไปสู่ “HI-Value and Sustainable Thailand” โดยใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนศักยภาพและพัฒนาประเทศในทุกมิติ
สำหรับร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ. 2566-2570 CEA ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ไว้ทั้งหมด 4 ประเด็น อันได้แก่ พลิกโฉมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การแข่งขันระดับโลก เพิ่มมูลค่าภาคการผลิตและบริการด้วยความสร้างสรรค์ พัฒนาและเพิ่มเมืองสร้างสรรค์ และยกระดับและเชื่อมโยงปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์
และในส่วนของแผนปฏิบัติการสำนักงานฯ พ.ศ. 2566-2570 CEA มีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานและผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามเป้าหมายแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเป้าหมายของประเทศต่อไปภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 4 ข้อ ดังนี้
1. สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของทุนวัฒนธรรมและเมืองสร้างสรรค์
2. พัฒนาศักยภาพธุรกิจสร้างสรรค์และยกระดับทักษะสร้างสรรค์ของคนไทย
3. พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยภายใต้บริบทใหม่เพื่อการแข่งขันในระดับสากล
4. พัฒนาสู่องค์กรบริหารจัดการอย่างคล่องตัวและสร้างสรรค์
CEA หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลจากรายงานฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย ทั้งในแง่การเพิ่มพูนข้อมูลความเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือการนำข้อมูลไปปรับใช้เพื่อวางแผนการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต