Research & Report

Y-niverse เปิดจักรวาลซีรีส์วายไทย แปลงความจิ้นสู่รายได้

อุตสาหกรรมซีรีส์วาย ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการบันเทิงไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นสื่อบันเทิงที่มีฐานผู้ชมขนาดใหญ่และสร้างปรากฏการณ์ "แฟนด้อม" อันเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานและกิจกรรมทางการตลาด ซีรีส์วายไทยไม่เพียงมอบความบันเทิง แต่ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจและการยอมรับความหลากหลายในสังคม พร้อมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในระดับโลก การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความนิยมและขยายโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

ที่มาของซีรีส์วายไทยมีความหลากหลาย โดยหลายเรื่องดัดแปลงมาจากนิยาย เช่น Love Sick The Series, SOTUS The Series และ เพราะเราคู่กัน (2gether: The Series) ขณะที่บางเรื่องเป็น Original Series อย่าง แปลรักฉันด้วยใจเธอ และ ชาย (Shine) อุตสาหกรรมนี้สร้างรายได้มหาศาลจากหลายช่องทาง ทั้งการจำหน่ายในต่างประเทศ การขายลิขสิทธิ์เพลง สินค้าที่ระลึก และการเป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์ของนักแสดงนำ นอกจากนี้ ซีรีส์วายยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผ่านการเดินทางตามรอยซีรีส์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมความงามและแฟชั่นในประเทศ สะท้อนให้เห็นความสำคัญทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม

ผลสำรวจ "Y Economy Study" โดย LINE Insight ในปี 2563 พบว่าผู้ชมซีรีส์วายส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (78%) อายุระหว่าง 26 - 30 ปี โดยชาวด้อมวายกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนนักแสดงที่ชื่นชอบเฉลี่ยสูงถึง 10,552 บาทต่อปี สอดคล้องกับรายงานวิจัยจาก MIDiA ที่เน้นย้ำความสำคัญของ "Superfans" และการเพิ่มขึ้นของรายได้จากสินค้าที่ระลึก ซึ่งในอุตสาหกรรมดนตรีที่ K-Pop เป็นผู้นำตลาด เติบโตสูงถึง 15.5% ในปี 2566 คิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมดจากทั่วโลก

แพลตฟอร์มการรับชมที่หลากหลายมีส่วนสำคัญในการผลักดันความนิยมของซีรีส์วาย โดยเฉพาะ WeTV และ iQIYI ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงจากจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซีรีส์อย่าง TharnType: The Series บน WeTV และ KinnPorsche: The Series บน iQIYI ได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งในไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ ช่อง GMMTV บน YouTube ยังเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มสำคัญ โดยซีรีส์ 2gether: The Series มียอดผู้ชมมากกว่า 10 ล้านครั้งต่อตอน ความนิยมของซีรีส์วายไทยได้ขยายไปสู่ต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และละตินอเมริกา ส่งผลให้ตลาดคอนเทนต์วายมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านบาทในปี 2567 

การพัฒนาเนื้อหาเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับซีรีส์วายไทยให้ก้าวไปอีกขั้น แม้ว่าที่ผ่านมาตัวซีรีส์มักเน้นเรื่องราวความรักในวัยเรียนและมหาวิทยาลัย แต่การเพิ่มเนื้อหาที่เกี่ยวกับปัญหาในที่ทำงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัว และการเติบโตด้านอาชีพ จะช่วยให้ซีรีส์เข้าถึงผู้ชมที่หลากหลายและสร้างความผูกพันได้มากขึ้น การพัฒนาเนื้อเรื่องและตัวละครให้ลึกซึ้ง รวมถึงการนำเสนอประเด็นทางสังคม เช่น การเลือกปฏิบัติและสิทธิของกลุ่มคน LGBTQ+ จะทำให้ซีรีส์มีความหมายและน่าจดจำ นอกจากนี้ การผสมผสานแนวเรื่องอื่น ๆ เช่น สืบสวน ระทึกขวัญ หรือแฟนตาซี จะช่วยเพิ่มความหลากหลายและความน่าสนใจให้ซีรีส์มากยิ่งขึ้น 

เพื่อเฉลิมฉลองปรากฏการณ์นี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้จัดนิทรรศการ "จักรวาลแฟนด้อมวาย (Y-niverse)" เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศในช่วง Pride Month ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2567 เป็นต้นมา โดยนิทรรศการนี้จะพาผู้ชมเปิดประตูสู่โลกของแฟนด้อมวาย สัมผัสพลังความจิ้นและความฟินที่สร้างความประทับใจให้แฟนคลับ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของซีรีส์วายต่อการสร้างสรรค์ผลงานในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ รวมถึงเปิดโอกาสสำหรับการพัฒนาธุรกิจจากซีรีส์วายในอนาคต นิทรรศการนี้จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน - 15 กันยายน 2567 ณ TCDC กรุงเทพฯ Front Lobby ชั้น 1