เบื้องหลังวงการบันเทิงสุดอลัง กับผลกระทบที่โลกต้องเผชิญ
อุตสาหกรรมบันเทิงเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีอิทธิพลต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นวงการภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ การแสดงสด หรือวิชวลเอฟเฟกต์ (VFX) แต่ในขณะที่เรากำลังเพลิดเพลินไปกับความบันเทิงเหล่านี้ หลายคนอาจมองข้ามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม ซึ่งปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมหาศาล
เริ่มจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนขนาดใหญ่ของวงการบันเทิง ข้อมูลจาก time.com ระบุว่า ภาพยนตร์แต่ละเรื่องสามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ในปริมาณที่แตกต่างกันไปตามขนาดของการผลิต ภาพยนตร์ขนาดเล็กสามารถปล่อยคาร์บอนได้เฉลี่ย 391 เมตริกตัน ขณะที่ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อาจปล่อยคาร์บอนสูงถึง 3,370 เมตริกตัน ซึ่งเทียบเท่ากับพลังงานที่ใช้ในครัวเรือนกว่า 656 หลังต่อปี เหตุปัจจัยมาจากกระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์ที่ต้องใช้ไฟฟ้าอย่างมากเพื่อจ่ายพลังงานให้กับอุปกรณ์ถ่ายทำ รวมไปถึงการเดินทางของทีมงานและการขนส่งอุปกรณ์ต่าง ๆ กิจกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม
ภาพ: https://www.globalproductionnetwork.com/blog/the-future-of-filmmaking
ข้ามมาที่วงการดนตรีและการแสดงสด ซึ่งเป็นอีกภาคส่วนที่มีการปล่อยมลพิษในระดับสูง รายงานจาก nature.com ระบุว่าอุตสาหกรรมดนตรีของสหราชอาณาจักรปล่อยก๊าซคาร์บอนถึง 540,000 เมตริกตันต่อปี โดย 74% ของตัวเลขนี้มาจากการแสดงสด สาเหตุหลักมาจากการใช้พลังงานจำนวนมากในระบบแสง สี เสียง รวมถึงการขนส่งอุปกรณ์และศิลปินไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ทัวร์ของศิลปินชื่อดัง การทัวร์แต่ละครั้งมีการแสดงย่อยถึง 152 โชว์ใน 5 ทวีปภายในระยะเวลา 21 เดือน ต้องอาศัยการขนย้ายเวที แสง สี เสียง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของศิลปินและผู้จัดงานยังคงเป็นที่ถกเถียง เนื่องจากมาตรการส่วนใหญ่มักเน้นไปที่การเปลี่ยนพฤติกรรมของแฟนคลับ เช่น การเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดขยะพลาสติกผ่านการใช้ขวดน้ำแบบรีฟิล หรือการสนับสนุนอาหารจากพืช มากกว่าการลดพลังงานที่ใช้ในเวทีการแสดงเอง
ในด้านของอุตสาหกรรมวิชวลเอฟเฟกต์ (VFX) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์ แม้ว่าจะไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดเกี่ยวกับปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาโดยตรง แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมนี้ต้องใช้เซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ที่ต้องการพลังงานสูงสำหรับการเรนเดอร์ภาพกราฟิกและเอฟเฟกต์พิเศษ ซึ่งทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการปล่อยคาร์บอนจำนวนมากเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทบางแห่งได้พยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือปรับเปลี่ยนไปใช้เซิร์ฟเวอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อลดการใช้พลังงาน นอกจากนี้ การย้ายไปใช้เทคโนโลยีคลาวด์และระบบประมวลผลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ความพยายามในการลดผลกระทบเหล่านี้ผ่านมาตรการที่ยั่งยืน vfxvoice.com ได้ยกตัวอย่าง Netflix ซึ่งตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ขณะที่ Amazon Studios, HBO Green และ Sony Pictures ก็เริ่มให้ความสำคัญกับการจำกัดขยะ ใช้พลังงานสะอาด และปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยออกมา นอกจากนี้ ยังมีองค์กรอย่าง Environmental Media Association และ Green Screen ที่ผลักดันให้มีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โทรทัศน์ และโฆษณา
ภาพ: https://www.amazon.com/Aisa-Yeh-Jahaan-Palash-Sen/dp/B07S6FH1KZ
ภาพยนตร์บางเรื่องเริ่มนำแนวคิดการคำนวณและชดเชยคาร์บอนมาใช้ finshots.in ได้ยกตัวอย่างภาพยนตร์อินเดียเรื่อง Aisa Yeh Jahaan ซึ่งกลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของประเทศที่อ้างว่าเป็น Carbon-Neutral Film หมายถึงกระบวนการถ่ายทำและการผลิตที่มีการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาอย่างละเอียด และดำเนินมาตรการเพื่อลดหรือชดเชยปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาให้เท่ากับศูนย์ เช่น การปลูกต้นไม้หรือสนับสนุนโครงการพลังงานสะอาด ทีมงานได้คำนวณการปล่อยคาร์บอนจากการถ่ายทำและปลูกต้นไม้ทดแทนตามปริมาณที่ปล่อยออกมา เพื่อให้แน่ใจว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมถูกชดเชยอย่างสมดุล
อุตสาหกรรมบันเทิงยังขาดมาตรฐานกลางในการวัดคาร์บอนฟุตพรินต์ของการผลิต ซึ่งเสี่ยงต่อการโฆษณาชวนเชื่อหรือ Greenwashing เพื่อแก้ปัญหานี้ จำเป็นต้องมีมาตรฐานตรวจสอบจากบุคคลที่สาม รวมถึงแนวคิดการมอบรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีระดับโลก เพื่อผลักดันให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง