Research & Report

เปิดประตูสู่เส้นทางสายอาชีพ คนทำหนังและซีรีส์ในภาคอีสาน

หลังจากที่โครงการ Content Lab 2024 ได้เปิดตัวโครงการ Content Lab: Newcomers แคมป์สำหรับคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ขึ้น ณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแห่งแรก เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางโครงการได้จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “เส้นทางสู่อาชีพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ไทย” ขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม 2567 ณ โรงละครคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจในพื้นที่ภาคอีสานและใกล้เคียง เข้าร่วมรับฟังประสบการณ์ตรงของนักทำหนังและซีรีส์มืออาชีพ ถอดบทเรียนว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้แต่ละคนมีเส้นทางเริ่มต้นอย่างไร

ในงานนี้มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในวงการ 3 ท่าน ได้แก่ คุณสุรศักดิ์ ป้องศร โปรดิวเซอร์และผู้กำกับภาพยนตร์ ไทบ้าน เดอะ ซีรีส์ และหนังภาคต่อในจักรวาลไทบ้านอีกหลายเรื่อง, คุณอุเทน ศรีริวิ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้, ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด, ผู้บ่าวไทบ้าน อวสานอินดี้ ทองคำ+ปราณี และ ดร. อภิรักษ์ ชัยปัญหา นักเขียนบทละครและซีรีส์ชื่อดัง มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองนักทำหนังและซีรีส์จากภาคอีสาน ในฐานะคนเล่าเรื่องที่ประสบความสำเร็จ โดยมี ผศ. ดร. พชญ อัคพราหมณ์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ก้าวแรกจากการถ่ายหนังสั้นแบบกองโจร สู่ผลงานหนังร้อยล้าน

สำหรับเรื่องราวการเดินทางของนักทำหนังและซีรีส์แห่งภาคอีสานทั้ง 3 ท่าน เริ่มต้นด้วยคุณสุรศักดิ์ ป้องศร ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนังภาคต่อในจักรวาลไทบ้าน อย่างภาพยนตร์เรื่อง สัปเหร่อ ที่สร้างกระแสและกวาดรายได้อย่างถล่มทลายไปถึง 700 ล้านบาท เขาย้อนภาพเส้นทางสู่อาชีพนักทำหนังของตัวเองว่าเริ่มจากสั่งสมประสบการณ์ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 โดยการเข้าร่วมชมรมศูนย์ข่าวเยาวชนไทย ผลิตสกู๊ปข่าวสารคดีท้องถิ่นส่งช่องข่าวหลัก รวมทั้งทำสื่อทุกอย่าง ทั้งทำคลิปประชาสัมพันธ์โรงเรียน, วิดีโอพรีเซนเทชันในงานแต่งงาน และเริ่มทำหนังสั้นส่งประกวดจนได้รับรางวัล จากนั้นจึงต่อยอดไปสู่การรับจ้างผลิตมิวสิกวิดีโอ ปัจจุบันนี้มีผลงานการกำกับมิวสิกวิดีโอรวมแล้วกว่า 200 ชิ้น

“ประสบการณ์ที่เราสั่งสมมาเรื่อย ๆ มีส่วนช่วยเยอะมาก เพราะเราได้เรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ ทุกขั้นตอนมาตั้งแต่เด็ก ได้เรียนรู้วิธีการถ่ายทำแบบกองโจรที่งบน้อยว่าต้องทำยังไง อย่างตอนถ่ายหนังสั้นที่ได้รับรางวัลที่ประเทศญี่ปุ่นจากผลงานที่ส่งประกวด 600 เรื่อง ณ ตอนนั้นเราใช้เงินทุนแค่ประมาณ 100-200 บาทในการถ่ายทำ โดยใช้อุปกรณ์ที่ทางโรงเรียนให้ยืม เพราะตอนนั้นอุปกรณ์มีราคาแพงมากและเข้าถึงยาก ยังไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่สามารถใช้ถ่ายทำได้”

คุณสุรศักดิ์บอกว่าเริ่มแรกเขาไม่ได้อยากเป็นผู้กำกับ แต่อยากเป็นนักเล่าเรื่องที่สามารถเล่าได้หลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังเท่านั้น โดยอาจเล่าเป็นตัวหนังสือ หรือเล่าด้วยภาพโดยวิธีการทำหนังสารคดีก็ได้เช่นกัน จิตวิญญาณของนักเล่าเรื่องจากการทำหนังสั้นส่งประกวดรางวัลที่ถ่ายทำแบบกองโจรในตอนนั้น ได้ต่อยอดมาสู่การทำหนังยาวที่สเกลใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นหนังจักรวาลไทบ้านที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

จากครอบครัวนักฉายหนังกลางแปลง สู่คนทำหนังมืออาชีพ

ทางด้านคุณอุเทน ศรีริวิ ผู้บุกเบิกภาพยนตร์ ผู้บ่าวไทบ้าน ที่ประสบความสำเร็จในระดับร้อยล้าน ได้บอกเล่าถึงเส้นทางการทำหนัง ว่าเริ่มจากตัวเขาซึ่งเกิดและเติบโตในเขตชนบทของจังหวัดขอนแก่น คลุกคลีอยู่กับมหรสพพื้นบ้าน และพ่อที่เป็นนักฉายหนังล้อมผ้าหรือหนังกลางแปลง จนเมื่อได้เรียนชั้น ปวส. มีโอกาสได้ทำวิดีโอพรีเซนเทชันและใส่เครดิตชื่อของตัวเองในตอนท้าย จึงเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะทำหนังสักเรื่องหนึ่ง แต่ทว่าช่วงเวลานั้นในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นยังไม่มีสถาบันสอนทางด้านนี้ จึงตัดสินใจไปเรียนต่อหลักสูตรเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จนกระทั่งได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ให้ไปฝึกงานในกองถ่ายภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้การทำหนังจากประสบการณ์จริง 

หลังเรียนจบเขายังไม่ได้ทำหนังทันที แต่ทำงานในบริษัทออร์แกไนซ์ก่อน จนกระทั่งได้คุยกับทีมงานว่าอยากทำหนังสั้นเกี่ยวกับอีสานสักเรื่องหนึ่ง จึงตัดสินใจหยุดพักงานแล้วขับรถตระเวนไปเก็บข้อมูลทั่วภาคอีสานแบบค่ำไหนนอนนั่น ตั้งแต่ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี จนถึงอุดรธานี 

หลังจากที่ได้ข้อมูลมาแล้ว คุณอุเทนก็ยังไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร จนกระทั่งมีคนตั้งคำถามกับเขาว่า “ผู้บ่าวไทบ้านคืออะไร” จึงย้อนกลับมาหารากเหง้าของตัวเอง และกลายเป็นจุดกำเนิดของหนังชื่อเรื่องว่า ผู้บ่าวไทบ้าน โดยเติมคำว่า อีสานอินดี้ เข้าไป เพื่อให้ดูอินเตอร์มากขึ้น

หลังจากปล่อยทีเซอร์ตัวอย่างออกไปประมาณแค่ 30 นาที ปรากฏว่ากลายเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้ชมอยากดูจนเป็นกระแสไวรัลในสื่อโซเชียลมีเดีย จากแฟนคลับหลักร้อย พอปล่อยตัวอย่างหนังแล้วก็มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นเป็นหลักแสน จนมีผู้กำกับเรียกตัวให้เข้าไปคุยเพื่อเสนอบท จากตอนแรกที่เขาตั้งใจทำเป็นหนังสั้น จึงต้องไปเขียนบทใหม่โดยใช้เวลา 1 ปี เมื่อนำมาเสนออีกครั้งกลับถูกปฏิเสธว่าบทหนังของเขาเอาต์ไปแล้ว นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณอุเทนตัดสินใจทำหนังเรื่อง ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้ ด้วยตัวเอง โดยใช้นักแสดงที่ไม่ใช่ดาราดังที่มีชื่อเสียง อีกทั้งยังไม่มีงบที่จะไปเช่าอุปกรณ์ จึงใช้วิธียืมกล้อง DSLR จากเพื่อนมาถ่ายทำผสมกันทุกยี่ห้อ เรียกว่าฝ่าฟันอุปสรรคกันมาตั้งแต่ก้าวแรก

ทว่าการทำภาพยนตร์เรื่องยาวเพื่อเข้าสู่กระบวนการฉายในโรงภาพยนตร์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจากทำหนัง ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้ เสร็จ เมื่อไปติดต่อโรงหนังแล้วกลับไม่มีใครรับจัดจำหน่ายหนังให้เขา คุณอุเทนต้องตระเวนไปติดต่อตามโรงหนังต่าง ๆ ด้วยตัวเอง กว่าจะมีโรงหนังในต่างจังหวัดรับฉายให้เพียงไม่กี่แห่ง โดยไม่ได้มีการโปรโมตใด ๆ ในสื่อหลักเลย มีแค่โปสเตอร์และสแตนดี้เท่านั้น

ปรากฏว่ารอบแรกที่ฉายก็กลายเป็นกระแสปากต่อปากในหมู่ผู้ชม เมื่อตัวหนังทำเงินจนกระทั่งโรงหนังหลักในกรุงเทพฯ ต้องติดต่อให้นำไปฉาย จนกลายเป็นปรากฏการณ์ป่าล้อมเมืองและเป็นจุดเริ่มต้นของหนังผู้บ่าวไทบ้านภาคอื่น ๆ ซึ่งทำให้ชื่อผู้กำกับชาวอีสานอย่างคุณอุเทน เป็นที่รู้จักในวงการ 

จากนักเขียนบทละครทีวี สู่ซีรีส์วายที่สร้างกระแสถล่มทลาย

อีกหนึ่งนักเล่าเรื่องจากภาคอีสาน ดร. อภิรักษ์ ชัยปัญหา นักเขียนบทละครและซีรีส์ที่มีผลงานหลากหลาย เล่าว่าตนเองมีภูมิลำเนาเป็นชาวโคราช แต่มาศึกษาต่อที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อเรียนจบแล้วได้เริ่มต้นทำงานเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย ก่อนจะมีโอกาสได้ทำงานทางด้านศิลปะละครเวทีทำให้รู้จักศิลปะการเล่าเรื่องมากขึ้น จากนั้นจึงเข้าสู่วงการนักเขียนบทละครโทรทัศน์และซีรีส์ ผ่านการชักชวนของคุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นักเขียนบทและผู้กำกับ โดยได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ALLTHIS Entertainment บริษัทโปรดักชันเฮาส์ เพื่อผลิตสื่อครบวงจรให้กับทั้งสถานีโทรทัศน์ ค่ายละคร และเผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้ ดร. อภิรักษ์ เป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนบทมืออาชีพ เช่น ละครโทรทัศน์เรื่องดังอย่าง เกมรักทรยศ, ตะวันตกดิน และซีรีส์เรื่อง คาธ (The Eclipse), วันดีวิทยา (Wandee Goodday) โดยผลงานแต่ละเรื่องมีความหลากหลาย ทั้งแนวโรแมนติก-ดราม่า และซีรีส์วายที่กำลังเป็นกระแสมาแรงในปัจจุบัน

“ด้วยความที่บริษัทของเราเปิดมาในช่วงที่เป็นการเปลี่ยนผ่านระหว่างสถานีหลัก หรือช่องละครโทรทัศน์แนวเดิม ๆ มีการเปิดช่องทางสตรีมมิงเยอะมากขึ้น แล้วบริษัทเราเป็นกลุ่มที่สนใจงานประเด็นทางด้าน LGBTQ+ หรือความหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่ต้น ก่อนที่จะมีคำว่าซีรีส์วายแล้ว แต่ว่าความเป็นวายของเราจะมีการสร้างความเข้าใจให้กับคอมมิวนิตี้ มากกว่าวายที่เป็นสายจิ้น เช่น ผลงานเรื่องแรกที่เราทำก็เป็นซีรีส์วายแนวการเมืองเรื่อง คาธ เป็นเรื่องของการจำลองสถานการณ์ทางการเมืองภายในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งดัดแปลงจากนวนิยายของนักเขียนที่ใช้นามปากกาว่าปราปต์ และได้รับรางวัล เรื่องที่ฉายทาง GMMTV ที่เพิ่งจบไปล่าสุดก็คือเรื่อง วันดีวิทยา เป็นเรื่องของหมอกับนักมวยเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศเช่นกัน ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ The Rebound เกมนี้เพื่อนาย ซึ่งเป็นซีรีส์วายเรื่องแรกที่ฉายทางแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Viu Original และเพิ่งได้ยอดวิวอันดับหนึ่งไป”

โอกาสของนักทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ชาวอีสาน

หลังจากที่ได้ฟังประสบการณ์จากวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ผศ. ดร. พชญ ได้หยิบยกประเด็นเรื่องการมีสตูดิโอและโปรดักชันเฮาส์ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานว่าจะเป็นโอกาสสำคัญต่อนักผลิตคอนเทนต์ลูกอีสานอย่างไร

คุณสุรศักดิ์แสดงมุมมองว่าความจริงแล้วอยู่ที่ไหนเราก็ทำหนังได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่ที่เจริญแล้วเท่านั้น เพราะว่าปัจจุบันทุกคนมีอุปกรณ์เทคโนโลยีเหมือนกันหมดแล้ว อยู่ที่ว่าจะเล่าในสิ่งที่เราเข้าใจและสื่อสารออกไปให้คนอื่นรับรู้ได้อย่างไร วิธีการเล่าเรื่องก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน เพราะตามบริบทในพื้นที่ต่าง ๆ ก็จะมีวัฒนธรรม และมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต่างกันออกไป

“เราไม่จำเป็นจะต้องไปเล่าสิ่งที่อยู่ไกลตัวเรา เพราะว่าเมื่ออยู่ไกลเกินไปทำให้รายละเอียดในการจินตนาการของเราอาจจะน้อย แล้วก็ต้องไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่ม ซึ่งหากไม่เข้าใจมันจริง ๆ ก็จะทำให้เข้าไม่ถึงสิ่งที่เรากำลังอยากจะเล่านั้น เราควรเลือกเล่าเรื่องที่รู้สึกว่าเรารู้จักมันดีที่สุดมากกว่าคนอื่น เป็นสิ่งที่เรากำลังทำหรือสิ่งที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ มั่นใจว่าเรื่องนี้เรารู้ดีที่สุดแล้ว เพราะเราใช้เวลากับมันมากที่สุด ก็หยิบตรงนั้นมาเล่า แม้แต่นักแสดงหรือศิลปิน เราก็สามารถให้เขามาถ่ายทำในสถานที่ของเราได้ เพราะมันเป็นบริบทเฉพาะ ไม่สามารถที่จะไป make ถ่ายในเมืองได้ พอมีสตูดิโอเกิดขึ้นในหัวเมืองแต่ละจังหวัดก็จะเริ่มมีอุปกรณ์ซัพพอร์ตกันมากขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือสตูดิโอแห่งหนึ่งสามารถถ่ายหนังได้หลายโปรดักชันเลย”

ด้านนักทำหนังชาวอีสานรุ่นบุกเบิกอย่างคุณอุเทน ที่นิยามตัวเองว่าเป็นคนทำหนังในยุคแอนะล็อก เรียนการถ่ายภาพตั้งแต่สมัยเป็นกล้องฟิล์ม สมัยที่เขาศึกษาการเขียนบทด้วยตนเองต้องดูหนังจากการเล่นวิดีโอเทปซ้ำ ๆ ทีละประโยค ซึ่งแตกต่างจากทุกวันนี้ที่เป็นยุคดิจิทัลที่ดูออนไลน์ได้ เอื้อให้คนทำหนังหน้าใหม่มีโอกาสได้เรียนรู้ ทดลอง เพื่อพัฒนาผลงานได้สะดวกมากขึ้น

“สมัยนั้นผมถ่ายหนังใหม่ ๆ ใช้กล้องฟิล์ม 16 มม. ฟิล์มม้วนหนึ่งถ่ายได้ประมาณ 15 นาที ราคาม้วนละ 4-5 พันบาท ยังไม่ได้รวมค่าล้างฟิล์ม แต่ทุกวันนี้กล้องดิจิทัลถ่ายเสร็จแล้วก็ลบถ่ายใหม่ได้ ทำให้การทำงานในยุคของผม กระบวนการคิดในแต่ละซีน แต่ละคัตต้องแม่นยำ ผมกับเพื่อนจะกำหนดกันเลยว่าถ่าย 3 เทค เอา 1 เทค เพราะว่าเป็นฟิล์ม ถ่ายแล้วก็มาล้างเอง เกรดสี ตัดต่อ กว่าจะทำหนังสั้นจบเรื่องหนึ่งก็ใช้งบประมาณสูงพอสมควร ซึ่งต่างจากยุคนี้ที่ทำให้ผมรู้สึกว่าถ้าเป็นน้อง ๆ รุ่นใหม่ ดิจิทัลอาจจะทำให้ยังไม่แม่นในการทำงานเท่าไหร่ เพราะว่าหากถ่ายไม่ดีก็ถ่ายใหม่ได้ แต่ถ้าเป็นหนังฟิล์มมันจะทำให้เรารู้จักการจัดการ ทั้งเรื่องคน เวลา และงบประมาณต่าง ๆ” 

ในฐานะนักเขียนบทมืออาชีพ ดร. อภิรักษ์แนะว่านอกจากต้องมี Story ที่แข็งแรงแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการเล่าเรื่องที่ตัวเองรู้ดีก่อน เพราะว่าถ้าเกิดเรารู้แล้วก็จะเกิดความมั่นใจ แต่ว่าในขณะเดียวกันก็ต้องดูด้วยว่าก่อนหน้านั้น เรื่องนั้นได้ถูกเล่าแบบไหนมาก่อนแล้วบ้าง เพื่อที่เราจะได้ตีความในการเล่าใหม่หรือมีมิติเพิ่มมากขึ้น 

“เราอาจเล่าเรื่องแนวเดิมก็ได้ แต่ปรับเปลี่ยนอะไรเพิ่มเข้าไป ด้วยการนำเสนอรูปแบบศิลปะหรือ Art Form ของความเป็นอีสาน หรืออาจไม่ใช่อีสานก็ได้ อย่างเช่นตลาดหนังและซีรีส์วายที่ตอนนี้มีเยอะมาก แม้จะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market แต่ตลาดแนววายนั้นใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ความเป็นอีสานเองก็เช่นเดียวกัน ทั้งเพลงและหนังที่ประสบความสำเร็จ สะท้อนว่าความเป็นอีสานนั้นเป็นอีกหนึ่ง Sub-Culture ที่ได้รับความนิยม”

ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมอีสาน สู่การผลิตผลงานในเชิงพาณิชย์

ดร. อภิรักษ์กล่าวว่า ตอนที่ตนเข้ามาในวงการนี้ ก็รู้สึกว่าโชคดีแล้ว เนื่องจากย่นระยะเวลากว่าสมัยนักทำหนังรุ่นพี่ที่ช่วยบุกเบิกกรุยทางมาให้ก่อนหน้านั้น ทั้งความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการทำหนัง รวมทั้งการมีสตูดิโอที่ตอบโจทย์ในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยการผลิตภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่เติบโตมาพร้อมกับความเป็นอีสานใหม่หรืออีสานแมส ซึ่งไม่ได้มีแค่ภาพยนตร์ แต่พัฒนาไปพร้อมกับทุนทางวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น เพลง เมื่อวัฒนธรรมอีสานปรับตัวจนแมสและกลายเป็นกระแสแล้ว จึงทำให้คนทำหนังชาวอีสานมีที่ทางและภาคภูมิใจในการทำงานที่จะสื่อสารและถ่ายทอดความเป็นอีสานออกไป

“พอมีเทคโนโลยีอย่างเช่น Facebook และ YouTube การต่อรองเพื่อเข้าไปสู่สตูดิโอส่วนกลางก็น้อยลง อย่างเมื่อก่อนเราต้องฝ่าฟันเพื่อให้สตูดิโอหนังส่วนกลางเขาตัดสินใจเลือกว่าเขาจะทำหรือไม่ทำอะไร แต่ว่าพอเป็น Individual Filmmaking คือเป็นการทำหนังแบบอิสระแล้ว ก็มีการกระจายความเป็นท้องถิ่นเข้ามา เมื่อเกิดสตูดิโอขึ้นแปลว่ามันมีความต้องการซื้อขายแล้ว ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะพอเราไปลองรีเสิร์ชพบว่ากลุ่มที่ทำรายได้และเป็นแฟนของหนังอีสานมากที่สุด ก็คือแฟนภูมิภาคอีสานเป็นหลัก ฉะนั้นแปลว่าเมื่อทำออกมาแล้วมันมีคนดูจริง ๆ ซึ่งหนังในจักรวาลตระกูลไทบ้านของทั้ง 2 ท่าน ก็ก้าวข้ามไปอีกขั้นว่าไม่ได้เป็นแค่หนังอีสานเพื่อคนอีสานอย่างเดียวเท่านั้น แม้เป็นหนังอีสานที่พูดภาษาท้องถิ่น แต่ก็ยังพูดถึงความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากลด้วย”

การมีสตูดิโอเกิดขึ้นในภาคอีสานในตอนนี้แสดงให้เห็นว่าคอนเทนต์บางอย่างที่เดิมทีแทบจะไม่ได้ถูกเล่าถึงในพื้นที่สื่อกระแสหลัก เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น ซึ่ง ดร. อภิรักษ์มองว่าปรากฏการณ์นี้คล้ายกับวัฒนธรรมของคนผิวสีที่ยุคหนึ่งเคยเป็น Sub-Culture หรือวัฒนธรรมย่อย จนเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นนั่นเอง

“เมื่อก่อนความเป็นอีสานถูกสร้างด้วยวาทกรรมเก่าที่บอกว่ามีความเป็นคนจน คนไม่ฉลาด แต่ว่าในตอนหลังคนเล่าเรื่องรุ่นใหม่หลายคน ก็พยายามสร้างนิยามใหม่ของความเป็นอีสานมากขึ้น โดยช่วงชิงคำว่า “ไทบ้าน” ซึ่งดูเหมือนกับว่าจะเป็นคำดูถูกในสมัยก่อนให้กลายเป็น Sub-Culture ใหม่ คล้ายกับวัฒนธรรมของคนผิวสีที่แมสขึ้นมาภายหลัง แล้วทุกคนก็เคารพความเป็นวัฒนธรรมของคนผิวสี จึงสามารถสถาปนาความเป็นวัฒนธรรมอีสานใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งไม่ได้แค่ในเชิงของความเป็นหนังหรือซีรีส์เท่านั้น”

คุณอุเทนเสริมในประเด็นนี้ว่า เขาเองก็เริ่มต้นทำหนัง จากการนำเรื่องราวใกล้ตัวที่อยากจะบันทึกสภาพวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวขอนแก่นไว้ รวมทั้งหยิบยกประเด็นทางสังคมอีสานมาสะท้อนและสอดแทรกไว้ในหนังด้วยเช่นกัน

“เรื่องที่เล่าในหนังของผม จริง ๆ เป็นเรื่องใกล้ตัว ผมเป็นคนขอนแก่น ในหนังเรื่องแรกของผมจึงบันทึกทุกมุมของขอนแก่นไว้ เพื่อในอีก 50-100 ปีข้างหน้า ลูกหลานมาเปิดดูแล้วเห็นภาพขอนแก่นที่เปลี่ยนไป หมู่บ้านเก่า ๆ อาจจะไม่มีแล้ว อย่างหมู่บ้านไม้ใต้ถุนโล่ง ทุกวันนี้เป็นบ้านปูนโมเดิร์นหรือเปลี่ยนใหม่หมดแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ผมพยายามแทรกเข้าไปเล่าในหนังบ่อย ๆ ก็คือการทิ้งถิ่นฐานไปทำงานต่างถิ่น ผมเห็นหมู่บ้านในชนบททั่วไปที่มักจะมีบ้าน 2-3 หลังที่เป็นบ้านร้าง ไม่มีใครอยู่ พอไปถามดูก็คือพ่อแม่ตายแล้ว แต่ลูกไปทำงานที่กรุงเทพฯ แล้วไม่ได้กลับมาเลย หรือเห็นตายายคนแก่เลี้ยงหลาน ประเด็นพวกนี้ผมจะชอบหยิบมาเล่าในหนังว่าเมื่อไหร่จะกลับมาพัฒนาอีสาน ทุกวันนี้ผมเห็นมีสตูดิโอหนัง มีอินฟลูเอนเซอร์มาขยายอาณาจักรในอีสาน ซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นนั้น ๆ ผมภูมิใจมากที่เห็นแบบนั้น หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจคำว่าถิ่นกำเนิดของตัวเอง ซึ่งอีสานแต่ละท้องถิ่นมีวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน มีเรื่องให้เล่าอีกเยอะ ไม่เฉพาะแค่คำว่าไทบ้าน ยังมีอัตลักษณ์ความเป็นอีสานอีกเยอะมากที่น่าค้นหาแล้วนำมาเล่า” 

(ที่มา: ตัวอย่างภาพยนตร์ ผู้บ่าวไทบ้าน อวสานอินดี้ ทองคำ+ปราณี)

คำแนะนำจากรุ่นพี่ ถึงคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ 

นอกจากถ่ายทอดประสบการณ์ วิทยากรทั้ง 3 ท่านยังได้ฝากคำแนะนำสำหรับคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ โดยคุณอุเทนบอกว่ายุคนี้ใครก็เป็นผู้กำกับได้ มีโทรศัพท์เครื่องหนึ่งก็ถ่ายทำ ตัดต่อ และอัปโหลดได้แล้ว แต่ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ที่การเล่าเรื่องว่าคุณจะเล่าอะไร เล่าให้ใครดู จะเล่าให้ตัวเองดู หรือจะเล่าให้ตลาดหรือเล่าให้คนทั้งโลกดู ดังนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรกคือต้องรู้ว่าจะเล่าอะไร

ทางด้านคุณสุรศักดิ์ย้ำว่า แม้ปัจจุบันจะมีทั้งสตูดิโอและเทคโนโลยีที่ค่อนข้างสะดวกมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการทำหนังเป็นเรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลาเรียนรู้ ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ซึ่งเขามองว่าทุกวันนี้มีช่องทางให้คนทำหนังได้ทดลองมากมาย การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเครื่องมือในการสร้างภาพยนตร์ได้ง่ายขึ้น แต่แค่ยังขาดการทดลองทำอย่างจริงจัง และทุ่มเทเวลาให้กับการผลิตผลงาน ฉะนั้น สำหรับมือใหม่ที่ฝันอยากจะเป็นผู้กำกับหนังหรือซีรีส์ ต้องใจสู้และพร้อมจะเรียนรู้ทุกขั้นตอน

“สำหรับผมสมัยทำหนังเรื่องแรกเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่ทำแล้วต้องดึงศักยภาพทุกอย่างออกมาให้หมด แล้วก็สู้แบบเต็มที่ ไม่ใช่แค่สู้เฉย ๆ แต่ต้องสู้จนสุดกำลังแบบเอาให้สุด แต่ถ้าเป็นปัจจุบันนี้ ผมมองว่าทุกคนในวงการตื่นตัวแล้ว เพียงแต่ผู้กำกับภาพยนตร์มีน้อยมาก ยิ่งถ้าเป็นหนังที่เล่าเรื่องแนวอีสานจริง ๆ คือมีนับคนได้เลย ถ้าทุกคนในที่นี้อยากมากำกับ หลัก ๆ สิ่งที่ต้องมี คือหนึ่ง เราต้องเล่าเรื่องเป็น เขียนบทได้ ตัดต่อได้ ขายได้ การตลาดได้ เราถึงกำกับได้ คือเราต้องเข้าใจบริบททุกอย่างก่อน เพราะไม่อย่างนั้นทำหนังมาแล้ว ถ้าไม่มีคนมาดูหมายความว่าเราติดลบหรือเป็นหนี้ ด้วยความที่เป็นผู้กำกับ เราไม่เพียงต้องเข้าใจกระบวนการการทำงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ผู้กำกับต้องเป็นนักแก้ปัญหาที่เก่ง ต้องตัดสินใจเร็วและถูกต้อง เรียกว่าเสียผลประโยชน์ให้น้อยที่สุด เพราะว่าเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอปัญหา” 

ปิดท้ายด้วยคำแนะนำจาก ดร. อภิรักษ์ที่บอกว่า ความจริงแล้วการทำหนังหรือซีรีส์แต่ละเรื่องนั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงาน แล้วผู้ชมจะเห็นความพยายามและความไม่ได้ดูถูกคนดูของเราเอง โดยจากประสบการณ์การทำงานนักเขียนบทมืออาชีพ ต้องใช้พรแสวงเยอะกว่าพรสวรรค์ จึงต้องหมั่นพัฒนาปรับปรุงทักษะอยู่เสมอ

“ประตูแรกในการเข้าสู่วงการนี้ของ Newcomers ก็คือการต้องหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ให้เจอ พร้อมกับพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ เพื่อที่เมื่อโอกาสมาถึงเมื่อไหร่ เราจะได้มีความพร้อมในการใช้โอกาสนั้นสร้างงานที่เราอยากทำได้” 

เชื่อว่าผู้ที่เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ได้ฟังแล้ว คงได้รับแรงบันดาลใจและจุดประกายไอเดียให้นักทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ ได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ ก่อนจะก้าวเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพนี้ต่อไป

งานเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Content Lab: Newcomers อีกหนึ่งโครงการย่อยภายใต้โครงการ Content Lab 2024 สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Content Lab 2024 และ Facebook: Content Lab