ก้าวแรกสู่เส้นทางสายอาชีพ คนทำหนังและซีรีส์ไทย
สำรวจวิธีการทำงานในการกำกับและเขียนบทแบบมืออาชีพ กับ “เส้นทางสู่อาชีพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ไทย” เสวนาส่งท้ายโครงการ Content Lab: Newcomers ภาคเหนือ ภายใต้โครงการใหญ่ Content Lab 2024 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 7 กันยายน 2567 ณ อาคารศูนย์นวัตกรรมการสื่อสาร คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองแนวคิดของ 3 นักทำหนังและซีรีส์ไทยมืออาชีพ ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์จากการทำงานจริง นำทีมโดยคุณอรุณกร พิค ผู้กำกับภาพยนตร์สั้นเรื่อง Ghost Defense for Beginners, เทอม 3: ศาลล่องหน และ ส้มป่อย, คุณชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ 13 เกมส์สยอง, รักแห่งสยาม, Mondo, ตาคลีเจเนซิส และคุณศิวโรจณ์ คงสกุล ผู้กำกับและนักเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Eternity ที่รัก, Distance และซีรีส์เรื่อง ลวง ละเมอ รัก, คือเธอ, 23:23 สัญญาณ และ สืบสันดาน ร่วมดำเนินการเสวนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดย ดร. อภิรักษ์ ชัยปัญหา รองหัวหน้าโครงการ Content Lab: Newcomers
จากเวทีประกวดหนังสั้นสู่หนังร้อยล้าน
เริ่มด้วยเส้นทางสู่อาชีพคนทำหนังของผู้กำกับและนักเขียนบทอย่างคุณอรุณกร พิค ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เรียนจบด้านภาพยนตร์โดยตรง แต่ศึกษาทางด้านปรัชญา โดยคุณอรุณกรเล่าว่าจุดเริ่มต้นจากความสนใจในการถ่ายวิดีโอได้ต่อยอดมาสู่การทำหนังสั้นส่งประกวดมานานกว่า 10 ปี
“ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยปีที่ 3 เริ่มรู้จักเวทีประกวดหนังสั้น ผมว่าคนทำหนังเริ่มแรกหลายคนก็น่าจะเคยผ่านเวทีประกวดอะไรมาสักเวที เราก็เริ่มส่งประกวดดูบ้าง พอส่งแล้วมันเริ่มติดใจ ยิ่งได้รางวัลก็ยิ่งอยากทำไปเรื่อย ๆ จนถึง ณ จุดหนึ่งก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วเมื่อไหร่จะได้ทำหนังยาวบ้าง”
เมื่อได้มีโอกาสเข้ามาทำหนังยาวเรื่องแรก โดยเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในโปรเจ็กต์ภาพยนตร์เรื่อง ส้มป่อย ซึ่งเป็นหนังที่นำเสนอเรื่องราวความเป็นท้องถิ่นของคนภาคเหนือ จากโปรเจ็กต์เล็ก ๆ ที่ตั้งใจจะฉายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ถูกพัฒนาและขยายไอเดีย โดยคุณอรุณกรขยับบทบาทจากที่ปรึกษาไปเป็นผู้กำกับร่วมกัน แล้วนำไปเสนอค่ายหนังจนมีโอกาสได้ฉายในโรงภาพยนตร์ในที่สุด
“ตอนแรกเราตั้งใจว่าจะหาทุนในพื้นที่ วางโมเดลไว้เหมือนหนังเรื่อง ไทบ้าน เลย แต่ปรากฏว่าหาไม่ได้ เพราะนายทุนในท้องถิ่นเขายังไม่เชื่อมั่น โดนตั้งคำถามว่าทำแล้วผลตอบรับจะเป็นยังไง มันจะได้กำไรจริงหรือ ไม่มีใครกล้าที่จะลงทุน แม้แต่เมื่อไปปรึกษากับผู้ใหญ่ในวงการภาพยนตร์ ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าภาคเหนือเอาไปเทียบกับภาคอีสานไม่ได้หรอก แค่จำนวนจังหวัดและจำนวนประชากรก็เทียบกันไม่ได้แล้ว ซึ่งก็เป็นความจริง เราก็ยอมรับ จนกระทั่งได้ลองนำไปเสนอที่ค่ายเอ็ม พิคเจอร์ส ตอนแรกเราก็ไม่คิดว่าค่ายใหญ่จะให้ทุนเรา เพราะเราเองก็เป็นผู้กำกับหน้าใหม่ด้วย แต่โชคดีที่ทางค่ายหนังก็กำลังมองหาหนังที่เกี่ยวกับคนในท้องถิ่นอยู่พอดี ถ้า ณ วันนั้นทางค่ายหนังไม่ได้สนใจหนังท้องถิ่น เราก็คงไม่มีโอกาสได้ทำหนังเรื่องนี้”
จากการทำหนังสั้นส่งประกวดแล้วได้มีโอกาสเป็นผู้กำกับหนังยาวเรื่องแรก คุณอรุณกรยอมรับว่าเป็นเรื่องยากสำหรับเขาพอสมควร เพราะเป็นสเกลการทำงานที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งตอนนั้นเขายังไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานในกองถ่ายหนังขนาดใหญ่มาก่อน จึงทำให้เขารู้สึกว่าตนเองยังขาดองค์ความรู้ในด้านการบริหารคนและการจัดการต่าง ๆ กว่าจะถ่ายทำหนังเรื่อง ส้มป่อย เสร็จก็เรียกได้ว่าสะบักสะบอมพอสมควร แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เขาได้เรียนรู้การทำงานจริงมากขึ้น
หลังจากนั้นคุณอรุณกรจึงเข้าสู่วงการนักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์มืออาชีพในเวลาต่อมา ผลงานที่สร้างชื่อเสียงเรื่องล่าสุดของเขาคือภาพยนตร์เรื่อง เทอม 3: ศาลล่องหน ที่กวาดรายได้ไปกว่า 100 ล้านบาทในปีนี้
“เรื่อง เทอม 3: ศาลล่องหน เป็นโปรเจ็กต์ที่ถูกส่งมาที่โปรดักชันเฮาส์ก่อน ซึ่งตอนแรกผมไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังแฟรนไชส์ที่เป็นภาคต่อ รู้แต่ว่าเป็นหนังผี เวลานั้นผมยังไม่ค่อยมีความมั่นใจมากนัก เพราะว่าชื่อของเราไม่ได้โด่งดังในการทำหนังแนวนี้ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจทำ ด้วยความที่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เรากำกับเดี่ยวก็กดดัน แต่เราก็เต็มที่กับมัน พยายามทำการบ้านเยอะ ๆ เพราะเรารู้แล้วว่าเรื่องแรกเราเจออะไรมาบ้าง แต่ถึงทำการบ้านมาเยอะแค่ไหน สุดท้ายก็ยังเจออุปสรรคอยู่ดี ผมว่ามันเป็นเรื่องปกติของการทำหนังในการที่เราออกกองแล้วไปเจอปัญหา หน้าที่ของเราคือคิดวิธีการแก้ไขให้ได้”
จากผู้กำกับโฆษณาสู่คนทำหนังและซีรีส์
ทางด้านผู้กำกับและซีรีส์ที่มีผลงานมากมายอย่างคุณศิวโรจณ์ คงสกุล นับเป็นอีกหนึ่งคนทำหนังที่ไม่ได้ศึกษาด้านภาพยนตร์มาโดยตรง แต่เรียนจบมาทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ จุดเริ่มต้นจากความชื่นชอบในการดูหนัง จึงเกิดแรงบันดาลใจที่อยากถ่ายวิดีโอ เมื่อเขาได้ค้นพบช่องทางในการทำหนังผ่านทางเว็บไซต์ thaishortfilm ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการสร้างภาพยนตร์ในยุคนั้น จึงได้มีโอกาสอบรมทั้งการเขียนบทและการถ่ายทำภาพยนตร์ รวมทั้งยืมอุปกรณ์ไปใช้ฝึกทำหนังสั้นเพื่อสั่งสมประสบการณ์
“เราเรียนศิลปกรรมมาก็ได้เรียนรู้เรื่ององค์ประกอบศิลป์ ทฤษฎีสีที่เป็นความรู้พื้นฐานทั้งหมด จากนั้นก็เลยมาสนใจเรื่องถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอภาพเคลื่อนไหว แล้วพอไปเจอเว็บไซต์นี้ที่มีอุปกรณ์ถ่ายหนังให้ยืมใช้ฟรี ก็เลยเริ่มฝึกทำหนังสั้น ซึ่งช่วงแรกมันออกมาเละ ดูไม่ได้เลย เราประเมินตัวเองและมีพี่ ๆ ในวงการคนอื่นช่วยแนะนำด้วย สมัยนั้นยังเป็นช่วงคาบเกี่ยวจากปลายยุคที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. แล้วมาต่อด้วยเทป MiniDV บางครั้งยังต้องใช้กล้องวิดีโอ Betacam และเทปม้วนใหญ่ถ่ายทำ พอตัดต่อก็เอาวิดีโอมาคัตชนกันอยู่เลยด้วยซ้ำ”
จุดเปลี่ยนสำคัญของคุณศิวโรจณ์คือการได้เข้าไปทำงานที่ The Film Factory บริษัทโปรดักชันชื่อดัง โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับลำดับที่ 3 ระหว่างที่ทำงานเขาก็ทำหนังสั้นส่งประกวดตามเวทีต่าง ๆ ไปด้วย พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงานกำกับโฆษณาไปเรื่อย ๆ ซึ่งเขามองว่าวิธีคิดในการทำงานกำกับโฆษณาและภาพยนตร์ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ในที่สุดเขาก็ผันตัวออกจากวงการโฆษณามาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ที่รัก (Eternity), อรุณกาล (Regretfully at Dawn) และผลงานล่าสุดคือการกำกับซีรีส์บนแพลตฟอร์ม Netflix เรื่อง สืบสันดาน ซึ่งสร้างปรากฏการณ์จนเกิดกระแสไวรัลไปทั่วโลกออนไลน์
ดร. อภิรักษ์ ตั้งคำถามต่อคุณศิวโรจณ์ที่ฉีกตัวเองจากการทำหนังอาร์ตเรื่อง ที่รัก และ อรุณกาล ที่เขาเคยทำและส่งเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์จนได้รับรางวัล มาเป็นซีรีส์เรื่อง สืบสันดาน ที่มีการผสมผสานเข้ากับละครดราม่ายุคเก่า นำมาตีความและปรับโฉมใหม่ให้มีความเป็นพรีเมียมดราม่า จนกระทั่งประสบความสำเร็จว่าผลงานไหนคือตัวตนของเขากันแน่
คุณศิวโรจณ์อธิบายว่า ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่เรียนจบศิลปกรรม จนได้มาทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในบริษัทโฆษณา เขาก็มีความฝันที่อยากจะทำภาพยนตร์มาโดยตลอด อีกทั้งด้วยงานและกลุ่มเพื่อนในวงการของเขาก็ยังอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนทำหนังและงานพาณิชยศิลป์อยู่แล้ว จึงทำให้เขาค่อย ๆ เติบโตและเรียนรู้มาจนถึงจุดนี้
“ถ้าพูดตรง ๆ ไม่ใช่ว่าผมจะเดินจากการทำหนังแล้วมาถึงซีรีส์สืบสันดานเลย ก่อนหน้านี้ผมเคยกำกับซีรีส์ยาวมาแล้วถึง 7 เรื่อง ซึ่งนั่นคือโรงเรียนชั้นดี ผมได้เรียนรู้ว่านักธุรกิจทำอะไร ช่องกำลังทำอะไรอยู่ การค้าขายเป็นยังไง เราก็ต้องปรับตัว ผมเรียนรู้ที่จะถ่ายทำเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชม ไม่เฉพาะแค่ในเชิง Cinematic หรือตีความแบบภาพยนตร์อย่างเดียว ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นผลงานที่เราสะใจแค่คนเดียว จนถึงตอนนี้เราก็ค่อย ๆ เรียนรู้จากการพัฒนางานตัวเองมาเรื่อย ๆ ซึ่งต้องลองผิดลองถูกเยอะครับ กว่าจะเริ่มเห็นจุดเด่นหรือลายเซ็นของตัวเอง”
ผู้กำกับผู้หวนกลับคืนสู่บ้านเกิดเพื่อทำหนัง
มาถึงคุณชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และนักเขียนบทที่โลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมานานกว่า 12 ปี โดยปัจจุบันเขาเป็นประธานบริษัท Studio Commuan (สตูดิโอคำม่วน) บริษัทผลิตสื่อบันเทิงที่ทั้งทำหนัง ซีรีส์ และเพลง ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์เส้นทางคนทำหนังมืออาชีพให้ฟังว่าหลังเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาภาพยนตร์และภาพนิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการทำหนังสั้นส่งประกวด ได้มีโอกาสฝึกงานที่บริษัทผลิตภาพยนตร์ไทยอย่างบาแรมยู จนกระทั่งได้ทำภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกคือ คน ผี ปีศาจ
หลังจากเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์มาผลิตภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของเขาคือการทำหนังเรื่อง Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ ที่ทำให้เขาหวนกลับไปตั้งหลักและก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ของตนเองที่ภาคเหนือ
“ผมรู้สึกว่าเราอยู่บ้านเกิดที่เชียงใหม่มันไม่ค่อยวุ่นวายเหมือนกรุงเทพฯ เลยพยายามจะทำหนังที่นี่ และทรัพยากรที่เชียงใหม่มีเยอะกว่าที่อื่นคือเวลา อยู่กรุงเทพฯ เราทำงานจะไปไหนแต่ละที่เดินทางทั้งวันมันจะเสียเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงโดยใช่เหตุ ก็เลยคิดว่ามันน่าจะดีนะถ้าเราสามารถสร้างอะไรสักอย่างที่นี่”
คุณชูเกียรติบอกว่าความจริงแล้วมีหนังมาถ่ายทำที่เชียงใหม่เยอะมาก ตั้งแต่สมัยภาพยนตร์เรื่องแรกของประเทศไทยอย่าง นางสาวสุวรรณ ก็มาถ่ายที่พระธาตุดอยสุเทพ หรือหนังไทยในยุค 90 อย่างเรื่อง อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป ซึ่งตอนนั้นเขาเรียนอยู่ชั้น ม. 3 ได้มีโอกาสไปเป็นตัวประกอบในหนังเรื่องนี้และต้องถ่ายทำอยู่ในกองถ่ายหนังทั้งเรื่องประมาณ 3 เดือน จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้คิดว่าถ้าหากเขาจะทำบริษัทผลิตหนังที่เชียงใหม่ดี ๆ ก็สามารถทำได้
“พอตั้งบริษัทตอนนั้นก็ต้องมาคำนวณว่าเราไม่ได้พึ่งพิงนายทุนในพื้นที่หรอก อย่างที่น้องโจ้-อรุณกรบอกว่ามันยาก ลักษณะของภาคอีสานและภาคเหนือไม่เหมือนกัน เขาถึงบอกว่าเชียงใหม่เป็นเมืองปราบเซียนในการทำธุรกิจอยู่แล้ว นิสัยคนเชียงใหม่ค่อนข้างเก็บตัว มีเงินแต่ไม่ค่อยใช้ รสนิยมในการเสพความบันเทิงก็ไม่เหมือนกันกับคนอีสานที่อินความเป็นท้องถิ่นแท้ ๆ มากกว่า ถ้าดูจากรายงาน Box Office หนังทำเงิน คนเชียงใหม่จะใกล้เคียงกับคนกรุงเทพฯ การทำหนังจึงต้องอิงรสนิยมของส่วนกลาง ซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูงในการสร้าง และต้องทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ ดังนั้นพอเป็นธุรกิจหนังมันก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก”
คุณชูเกียรติเล่าว่า การจะสร้างโปรดักชันเฮาส์เพื่อทำหนังในภาคเหนือ ทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องระดมสรรพกำลังทั้งบุคลากรในพื้นที่และจากส่วนกลางมาช่วยกันทำ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่ต้องเผชิญอีกหลายอย่าง ทั้งเรื่องงบประมาณที่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ถ่ายหนังใหม่ทั้งหมด และใช้วิธีลดต้นทุนด้วยการให้กองถ่ายหนังและซีรีส์จากภายนอกมาเช่าอุปกรณ์ไปใช้ในการถ่ายทำ ช่วงแรกจึงต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายปี กว่าที่จะก่อตั้งบริษัทสำเร็จ โดยใช้โมเดลการทำงานด้วยวิธีการไปดึงซีรีส์จากส่วนกลางมาถ่ายทำที่เชียงใหม่ และหาโปรเจ็กต์ต่าง ๆ มาทำในพื้นที่เพิ่มขึ้น เพราะเขาคิดว่าหากมีโปรเจ็กต์เยอะขึ้น แล้วได้ฝึกทำงานบ่อย ๆ จะช่วยพัฒนาทักษะให้กับคนทำหนังในพื้นที่ภาคเหนือเพิ่มขึ้นมาได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ คุณชูเกียรติยอมรับว่า แม้จะมีประสบการณ์พอสมควร แต่การทำหนังสำหรับเขาก็มีความยากทุกเรื่อง นับตั้งแต่เรื่องแรก ๆ อย่าง รักแห่งสยาม ที่เวลานั้นในตลาดหนังไทยยังไม่ได้เปิดกว้างสำหรับหนังวายเท่าใดนัก จนมาถึงเรื่องล่าสุดอย่าง ตาคลีเจเนซิส ที่เป็นหนังไซไฟ กว่าที่จะได้ทุนสร้าง เขาต้องทำ Pitch Deck ไปนำเสนอแก่นักลงทุนหลายเจ้า ซึ่งหากเปรียบเทียบตลาดภาพยนตร์โลกเป็นเค้กก้อนหนึ่ง ที่มีหนังหลากหลาย Genre หรือหลายประเภท สัดส่วนขนาดใหญ่ในเค้กก้อนนั้นคือหนังแนวแอ็กชัน ฮีโร่ สัตว์ประหลาด และหนังผี ในขณะที่หนังรักแนวโรแมนติกดราม่าจะเป็นส่วนเล็ก ๆ เท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสสำเร็จ ดังนั้น เขาจึงมีความเชื่อมั่นว่าหากตั้งใจทำผลงานให้ดี นับตั้งแต่การตัดต่อ เอฟเฟ็กต์ต่าง ๆ ที่ได้มาตรฐาน จะช่วยกรุยทางให้กับวงการหนังไทยได้
คำแนะนำของคนทำหนังและซีรีส์รุ่นพี่
หลังจากที่ได้แชร์ประสบการณ์เส้นทางคนทำหนังและซีรีส์มืออาชีพกันไปแล้ว ทั้ง 3 ท่านยังได้แสดงมุมมองต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ไทย พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สนใจอยากเข้าสู่วงการ โดย ดร. อภิรักษ์ ได้ตั้งคำถามในประเด็นอนาคตของวงการหนังและภาพยนตร์ในมุมมองของแต่ละท่านว่าจะไปในทิศทางไหน และคนทำหนังหน้าใหม่จะต้องเตรียมตัวหรือพัฒนาตัวเองอย่างไรเพื่อที่จะเข้าสู่วงการนี้
คุณชูเกียรติบอกว่า ในฐานะที่เขาทำโปรดักชันเฮาส์เพื่อผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ สิ่งสำคัญที่คนทำหนังในยุคนี้ควรต้องมีคือข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการไป Pitch เพื่อนำเสนอผลงาน ต้องรู้ว่านักลงทุนอยากได้อะไร เกิดอะไรขึ้นกับวงการในขณะนี้ รวมถึงเหตุการณ์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจก็ต้องติดตามด้วยเช่นกัน
“เราทำงานเป็นผู้บริหารก็ต้องมองในมุมกว้าง ดูว่าตอนนี้มีผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามาในตลาด อย่าง Disney+, Netflix หรือ Prime Video เขากำลังทำอะไรอยู่ ต้องรู้ทิศทางลม ดูว่าน่านน้ำไหนมีโอกาส อย่างละครทีวีทุกวันนี้ที่เม็ดเงินโฆษณาไหลออกไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ แทน สมัยก่อนละครเรื่องหนึ่งใช้เวลาทำนาน และใช้ต้นทุนสูง แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งสื่อ พฤติกรรมของคนดู และลูกค้าที่เลือกใช้การยิงโฆษณาในสื่อออนไลน์แทน จริง ๆ แล้วละครไทยยังมีคนดูอยู่ แต่เปลี่ยนรูปแบบให้สั้นลง เราต้องอัปเดตตัวเอง วิเคราะห์ว่าตลาดอยู่ตรงไหน เราก็ทำในสิ่งนั้น”
คุณชูเกียรติเล็งเห็นว่า ปัจจุบันตลาดภาพยนตร์และซีรีส์กำลังมาแรง เพราะมีช่องทางในการเผยแพร่มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเฉพาะการฉายในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ซึ่งเกิดจากการสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่นำผลงานไปสู่ตลาดต่างประเทศ ผ่านช่องทาง OTT (Over-The-Top) ซึ่งเป็นวิธีให้บริการเนื้อหาวิดีโอ ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ โดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต รวมทั้งทำการตลาดโปรโมตตามเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ ทำให้ผู้ผลิตหนังและซีรีส์ไทยสามารถผลิตคอนเทนต์เสิร์ฟให้ตรงกับกลุ่มตลาดของตนเองได้
ในขณะที่คุณอรุณกรมองว่า นอกจากความรู้ด้านการทำหนังและซีรีส์แล้ว ทักษะและความรู้ด้านการตลาด นับเป็นสิ่งสำคัญที่คนทำหนังในยุคนี้จำเป็นต้องมีเช่นกัน
“ปัจจุบันนี้แค่คุณภาพของหนังอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ต้องมีการวางแผนการตลาดที่เล่นใหญ่มากขึ้น ก่อนจะออกฉายจึงต้องมีการจัดอีเวนต์ มีการส่งของที่ระลึกไปตามเพจรีวิวหนัง ให้เขาถ่ายรูปโปรโมตต่าง ๆ รวมทั้งต้องมีลูกเล่นที่ทำให้ตัวหนังอยู่ในกระแส เพื่อเรียกคนดูออกมาจากบ้าน ยอมจ่ายเงินมาซื้อตั๋วเพื่อดูหนังของเรา ซึ่งอาจจะต้องมีแนวทางด้านการตลาดเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน เพื่อให้เขามองเห็นภาพว่าเมื่อหนังของเราออกสู่สายตาประชาชนแล้วจะเป็นอย่างไร ทำให้เราจำเป็นต้องเพิ่มองค์ความรู้ด้านการตลาดเข้าไปให้มากขึ้น”
ทางด้านคุณศิวกรณ์แนะว่า สำหรับคนทำหนังหน้าใหม่ อาจยังไม่ต้องข้ามขั้นไปถึงเรื่องการตลาด แต่สิ่งสำคัญคือหมั่นฝึกฝนทักษะ เก็บเกี่ยวความรู้ด้านการทำหนังตั้งแต่ขั้นพื้นฐานให้แน่นก่อน โดยเปรียบกับนักกีฬาที่ต้องผ่านการฝึกซ้อมมาก่อน ไม่สามารถลงสนามไปแข่งขันได้เลยทันที เมื่อมีทักษะและความรู้ด้านการทำหนังจนเชี่ยวชาญแล้ว จึงจะสามารถนำเสนอผลงานนั้นให้มีความเป็นสากลจนเข้าตานักลงทุนได้
“ผมเริ่มต้นจาก Passion ในการทำหนัง คือถ่ายหนังเพื่อความงาม เพื่อความสุข แต่ผมก็เติบโตมากับการกำกับหนังโฆษณา พอถึงจุดหนึ่งน้อง ๆ ก็จะได้เรียนรู้และเล็งเห็นว่า สิ่งนี้คือธุรกิจ สิ่งนี้คือศิลปะ ทำแบบไหนจึงจะอยู่รอด แบบไหนคือมืออาชีพ แม้จะมีศิลปะในนั้น สุดท้ายจริง ๆ คุณก็ต้องรันบางอย่างเพื่อมีพาณิชย์ด้วย พอเราโตถึงจุดหนึ่งมันก็มีสิ่งเดียวที่สำคัญ ก็คือเรามีงานที่ทำไปเพื่อตอบสนองความสุขเราของไปเรื่อย ๆ และสิ่งที่เราเลือกทำแล้วเรามีความสุขหรือเปล่า”
คุณศิวกรณ์ยกตัวอย่างซีรีส์ สืบสันดาน ที่เขาทำงานร่วมกับ Netflix ซึ่งสามารถขายได้กว่า 190 ประเทศทั่วโลก ซึ่งใช้เม็ดเงินในการลงทุนสูง ทำให้มาตรฐานการถ่ายทำอยู่ในระดับเดียวกับเกาหลีและฮอลลีวูด โดยใช้เวลาในการถ่ายทำเพียงวันละ 12 ชั่วโมง และนักแสดงทุกคนได้รับการดูแลทางด้านความปลอดภัยในระหว่างถ่ายทำ
“ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ผมพูดมาตลอดเป็น 10 ปี เราอยากจะพัฒนาวงการหนังไทย จริง ๆ แล้วประเทศไทยสามารถทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวันได้เหมือนกัน แล้วทีมงานของไทยเราที่เก่งมาก ๆ หลายคนก็ทำหนังต่างประเทศด้วย เขาก็ทำงาน 12 ชั่วโมง ทำไมเขาต้องมาบากบั่นทำแบบนี้ แต่พอเม็ดเงินน้อยจึงบริหารไม่ได้ เลยจำเป็นต้องถ่ายทำ 16-20 ชั่วโมง แต่สุดท้ายก็ขายผลงานไม่ได้ เพราะมันเหมือนเรือประมงที่ล่องเรือออกไปจับปลา แต่ว่าคุณใช้แรงงานผิดกฎหมาย ทำให้เขาไม่ได้นอน แล้วชาวบ้านรู้เลยบอกว่าเขาไม่รับซื้อปลารุ่นนี้ เพราะมันเป็นปลาจากการใช้แรงงานที่ผิด สิ่งนี้รัฐจึงควรเล็งเห็นและให้ความช่วยเหลือ”
คุณศิวกรณ์แสดงความเห็นทิ้งท้ายด้วยความเชื่อมั่นว่าทีมงานและคนทำหนังไทยมีความสามารถเทียบเท่าระดับสากลอยู่แล้ว เพียงรอโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ไทยไปอีกขั้น
นั่นคือมุมมองและคำแนะนำจาก 3 ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และนักเขียนบทที่สะท้อนวงการภาพยนตร์และซีรีส์ไทยในปัจจุบัน เชื่อว่าผู้ที่สนใจและกลุ่มนักทำหนังรุ่นใหม่คงได้ไอเดียนำไปปรับใช้ เพื่อพัฒนาและต่อยอดทักษะ รวมถึงมุมมองไปสู่เส้นทางมืออาชีพต่อไปในอนาคต