Research & Report

จาก Local สู่ Global ฝันไกลไปได้จริงหรือไม่

ปัจจุบันนี้คอนเทนต์สร้างสรรค์ของไทย ทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ และสารคดี เริ่มเป็นที่ยอมรับในตลาดระดับนานาชาติมากขึ้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงได้ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จัดงานเสวนา “จาก Local สู่ Global ฝันไกลไปได้จริงหรือไม่” ขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน 2567 ณ TCDC กรุงเทพฯ ห้องออดิทอเรียม ชั้น M เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด และวิธีการผลักดันคอนเทนต์ไทยที่นำเสนอผ่านวัฒนธรรมและวิถีความเป็นไทย ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ อันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอนาคต

งานนี้มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในวงการผลิตคอนเทนต์ไทย 3 ท่าน ได้แก่ คุณยุพา เพ็ชรฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าใหญ่ ครีเอชั่น จำกัด, คุณกนกพร ปรัชญาเศรษฐ ผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการขาย เทนเซ็นต์ ประเทศไทย และคุณชุดาภา จันทเขตต์ ผู้กำกับและผู้จัดละครเรื่อง ทองเอก หมอยาท่าโฉลง และ หมอหลวง ร่วมดำเนินการเสวนาโดย คุณอติรุจ กิตติพัฒนะ

หัวใจสำคัญของคอนเทนต์ท้องถิ่น (Local Content) 

หลายคนอาจสงสัยว่าคอนเทนต์ท้องถิ่น (Local Content) คืออะไร ในตอนต้นของการเสวนา ผู้ดำเนินรายการอย่างคุณอติรุจ จึงได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับนิยามของคอนเทนต์ท้องถิ่นในความคิดของวิทยากรทั้ง 3 ท่าน โดยคุณชุดาภาได้แสดงความเห็นว่าคอนเทนต์ท้องถิ่นต้องบ่งบอกถึงวัฒนธรรมและความเป็นตัวตนของผู้ผลิตในแต่ละประเทศนั้น ๆ ผลงานที่นำเสนอออกไปจึงต้องมีความเป็นไทย ซึ่งอาจไม่จำกัดแค่วัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว

ทางด้านคุณยุพากล่าวว่า คอนเทนต์ท้องถิ่นคือคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ในขณะที่คุณกนกพรเสริมว่า หากมองในภาพรวมแล้ว คอนเทนต์ท้องถิ่นเป็นเรื่องราวของคน วิถีวัฒนธรรม แต่ในมุมมองส่วนตัวคุณกนกพรคิดว่า Local Content คือคอนเทนต์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นท้องถิ่น ซึ่งบางครั้งเราสามารถหยิบประเด็นจากข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม มาทำเป็นคอนเทนต์เพื่อนำเสนอความเป็นท้องถิ่นได้เช่นกัน

ก้าวแรกสู่การโกอินเตอร์ของป่าใหญ่ ครีเอชั่น

ในฐานะผู้สร้างสรรค์สารคดีไทยไปสู่ระดับโลก คุณยุพาได้แชร์ประสบการณ์ในการผลักดันให้คอนเทนต์ท้องถิ่นไปสู่ตลาดโลกจนได้รับรางวัล ซึ่งบริษัทป่าใหญ่ ครีเอชั่น นับเป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยที่เริ่มเข้าสู่ตลาดสากลเมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว แม้ว่าโชคดีที่ผลงานสารคดีเรื่องแรกอย่าง Duck Academy จะไปสู่ตลาดสากลได้สำเร็จ แต่ทว่าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงานอยู่เกือบ 2 ปี กว่าจะลงตัว

“จุดเริ่มต้นของสารคดีเรื่อง Duck Academy เกิดจากตอนนั้นทาง Sunny Side of the Doc ซึ่งเป็นตลาดสารคดีนานาชาติจากประเทศฝรั่งเศสอยากจะขยายตลาดมาที่เอเชีย และมาจัดเวิร์กช็อปในประเทศไทย ซึ่งในเวลานั้นผู้ผลิตสารคดีในไทยมีอยู่น้อยมาก เราก็ได้ไปเข้าร่วมโครงการ โดยนำสารคดีเรื่อง ชาวนาทรนง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณลุงชาวนาที่ต่อต้านการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและใช้ภูมิปัญญาเป็ดไล่ทุ่งไปกำจัดหอยเชอร์รี่ที่มากัดกินกล้าข้าวไปเสนอ แต่ตอนนั้นเขาไม่ซื้อสารคดีเรื่องนี้ เพราะมองว่ามีเรื่องของเกษตรกรหรือคนที่ทำเรื่องรณรงค์ต่าง ๆ แบบนี้มากอยู่แล้ว แต่เขาเห็นความน่ารักของเป็ดจากเทรลเลอร์ จึงแนะนำให้ทางทีมไปหาทางนำเสนอให้เป็ดโดดเด่นขึ้น”

ทางทีมงานจึงนำไปปรับจากสารคดี ชาวนาทรนง ให้กลายเป็นสารคดี Duck Academy โรงเรียนกินนอนสอนเป็ด พร้อมเปลี่ยนขอบเขตของเนื้อหาให้เป็นเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และเล่าเรื่องการเลี้ยงเป็ดของคุณลุงชาวนา โดยกำหนดให้คุณลุงเป็นครูใหญ่ คอกที่ลุงทำเป็นโรงนอน ทุ่งนาเป็นโรงอาหารและสนามเด็กเล่น มีวิชาสำหรับเป็ด เช่น การฟังเสียงสัญญาณนกหวีดเรียกเป็ด โดยเล่าควบคู่ไปกับการเติบโตของข้าวและการเติบโตของเป็ด สอดแทรกภูมิปัญญาท้องถิ่นคือเป็ดไล่ทุ่งและการทำขวัญข้าว ทำให้เรื่องราวของสารคดีมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น 

กล้าคิดนอกกรอบ ต่อยอดองค์ความรู้

ทางฝั่งผู้ผลิตคอนเทนต์ด้านละครอย่างคุณชุดาภาแสดงความเห็นว่า เทคนิคการเล่าเรื่องนั้นสำคัญมาก โดยคุณชุดาภาอธิบายว่า ก่อนที่จะทำละคร อันดับแรกทางทีมงานจะคำนึงถึงว่าจะนำเสนออะไรให้คนในประเทศดูเป็นหลักก่อน จากนั้นจึงค่อยมองว่าตัวงานจะต่อยอดไปสู่ตลาดต่างประเทศได้หรือไม่ และควรจะไปในลักษณะไหน 

“เนื่องจากตัวเองเป็นคนไม่ถนัดเรื่องการอ่านนิยาย เพราะฉะนั้นละครที่เราเป็นผู้จัด ส่วนใหญ่จึงเป็นละครที่พล็อตเรื่องขึ้นมาใหม่เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็มีข้อดีคือเราไม่ได้ยึดติดกับรูปแบบการนำเสนอแบบเดิม ๆ ทำให้เราเล่าเรื่องแบบใหม่ ๆ ได้ เพราะเราไม่มีกรอบ ยกตัวอย่างละครเรื่องหมอหลวงที่มีการหยิบยกสมุนไพรขึ้นมาเล่า ซึ่งเราได้แรงบันดาลใจจากการดูรายการของคุณหมอสมหมายที่เป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ได้นำสมุนไพรไทยมาใช้ในการรักษาโรคควบคู่กันแล้วได้ผล ทำให้เรารู้สึกทึ่งและสนใจอยากรู้แล้วเริ่มศึกษา ซึ่งความไม่รู้นี้ก็เป็นข้อดี เพราะทำให้เรากล้า และศึกษาหาข้อมูลกันแบบบ้าเลือด ทั้งอ่านตำราและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โดยใช้เวลาเกือบ 2 ปีกว่าจะพัฒนาออกมาเป็นบทละคร”

ทั้งนี้ คุณชุดาภาบอกว่า ละครแต่ละเรื่องจะใช้เวลาในการทำงานแตกต่างกันไป และเราจริงจังในการศึกษาหาข้อมูล แม้จะทำเรื่องที่ยากที่สุด แต่เลือกที่จะนำเสนอออกมาให้ง่ายที่สุด โดยทีมงานได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องสมุนไพรอย่างเข้มข้น และพยายามเล่าออกมาให้เข้าใจง่ายควบคู่กับความบันเทิง ทำให้ผู้ชมดูแล้วรู้สึกมีความสุขและว้าวให้ได้ นั่นคือโจทย์ที่ยากและสำคัญ ซึ่งเธอคิดว่าถ้าทางทีมทำงานกันในลักษณะนี้ แล้วตลาดในเมืองไทยตอบรับ ดังนั้นตลาดในต่างประเทศอื่น ๆ ก็น่าจะสนใจด้วยเช่นกัน

ก่อน Go Global ต้องจับใจ Local ให้ได้ก่อน

จากประสบการณ์การทำงานที่ WeTV ในฐานะแพลตฟอร์มที่ผลิต Local Content อยู่เช่นกัน คุณกนกพรมองว่าก่อนที่จะส่งออกคอนเทนต์ไปยังผู้ชมชาวต่างชาติได้ ต้องทำคอนเทนต์ให้ชนะใจคนในท้องถิ่นก่อน โดยคุณกนกพรได้เล่าประสบการณ์การทำงานว่าก่อนหน้านี้ เธอมองเห็นถึงความเป็นไปได้ของคอนเทนต์ภาษาถิ่น เช่น ละครเรื่อง กลิ่นกาสะลอง หรือซีรีส์หนังในจักรวาลไทบ้านที่จะไปสู่ความสำเร็จได้ 

เมื่อมีโอกาสไปลงพื้นที่ที่จังหวัดศรีสะเกษและเห็นความน่ารักของวัฒนธรรมของอีสาน บวกกับเกิดความต้องการสื่อสารในรูปแบบความ Authentic หรือความเป็นท้องถิ่นแท้ ๆ แต่ตัวเธอเองอาจไม่ได้เข้าใจดีนัก คุณกนกพรจึงตัดสินใจไปพูดคุยกับทาง Taibaan Channel ว่าอยากลองทำซีรีส์หรือไม่ ทางฝ่ายนั้นจึงได้เสนอไอเดียเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลระดับ อบต. ที่เข้าถึงวิถีชีวิตท้องถิ่นจริง ๆ ด้วยกีฬา ซึ่งทางทีมมองว่าน่าจะสื่อสารได้ เพราะฟุตบอลเป็นหนึ่งในกีฬาสากล จนกระทั่งกลายมาเป็นโปรเจ็กต์คอนเทนต์ท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการแข่งฟุตบอล อย่าง WeTV Original ซีรีส์เรื่อง ไทบ้านคึกคัก มนต์รัก อบต. ในที่สุด

นอกจากนี้ คุณกนกพรยังได้เล่าถึงการทำงานร่วมกับนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ท้องถิ่นในมุมมองของนักลงทุนว่า เมื่อมีการนำเสนอโปรเจ็กต์ ต้องทำการบ้านเกี่ยวกับท้องถิ่น และพิจารณาว่าคอนเทนต์นั้นจะทำให้เกิดผู้ชมกลุ่มใหม่ได้หรือไม่ จำนวนผู้ชมเท่าไร คอนเทนต์เกี่ยวกับภาษาท้องถิ่นในช่วง Prime Time มีอะไรบ้าง รวมทั้งกลุ่มคนดูในภาคต่อ ๆ ไป เป็นกลุ่มที่ดูผ่านแอปฯ หรือยัง อีกทั้งต้องมองว่าเรากับทีมในท้องถิ่นนั้นมีแพสชันเดียวกันไหม เพราะคนในท้องถิ่นมีทิศทางที่ชัดเจน และเราจะช่วยทำให้คอนเทนต์ของเขาไปได้ไกลได้อย่างไร 

ทั้งนี้ คุณกนกพรเองยังได้เรียนรู้อีกว่า การทำคอนเทนต์ภาษาท้องถิ่นมีข้อจำกัด คือไม่ใช่ทุกคนที่จะเคยได้ยิน หรือคุ้นเคยกับมุกภาษาท้องถิ่นที่เฉพาะตัวมาก เช่น อินโดนีเซียที่ทำคอนเทนต์ที่พูดภาษาท้องถิ่นไปเลย แต่กลับไม่ได้แมส และเป็นได้แค่คอนเทนต์เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

ทำคอนเทนต์ท้องถิ่นอย่างไรให้จับใจคนรุ่นใหม่

ในฐานะผู้บริหาร WeTV ประเทศไทย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคอนเทนต์ชั้นนำที่มียอดผู้ใช้งานต่อเดือนในไทยรวมกว่า 13.5 ล้านบัญชี คุณกนกพรเล่าถึงการเลือกคอนเทนต์ว่าพิจารณาจากโอกาสที่จะเติบโตในแต่ละประเทศก่อน โดยหัวหอกหลักในตอนนี้คือคอนเทนต์จีน ซึ่งถ้าต้องการเติบโตมากขึ้นอาจต้องหารสชาติความเป็นท้องถิ่นเข้ามาเสริม และทำคอนเทนต์ไทยที่มีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีน น่าจะมีโอกาสในการนำเสนอเพื่อสื่อสารกับตลาดในประเทศจีนได้เพิ่มขึ้น 

“สำหรับการเลือกทำคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มออนไลน์ เราพิจารณาเรื่องกลุ่มผู้ชมเป้าหมายด้วย เพราะคนที่ใช้แอปพลิเคชันส่วนใหญ่จะเป็นคนเมือง เป็นกลุ่ม Early Adopter ที่นำเทรนด์ใหม่ ๆ อายุตั้งแต่ 18-45 ปีค่อนข้างเยอะ ดังนั้นเมื่อเลือกทำซีรีส์แต่ละเรื่อง วิธีการเลือกเส้นเรื่องและสตูดิโอพาร์ตเนอร์จึงไม่เหมือนกัน ที่ผ่านมา WeTV ก็ลองทำมาหลากหลายแนว เช่น แนวเมโลดราม่าอย่างซีรีส์เรื่อง เมียหลวง ที่เป็นปรากฏการณ์ได้รับความนิยมจนยอดวิวขึ้นอันดับ 1 ในหลายประเทศ ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเราเริ่มจากคอนเทนต์ที่คนไทยชอบ คนที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ดูแล้วก็จะเชื่อมโยงได้ คือถ้ามีหัวข้อที่สามารถนำไปใช้ในละครและเป็นประเด็นที่สังคมกำลังขับเคลื่อนอยู่พอดี เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวแบบเอเชีย การที่ผู้หญิงอยากยืนด้วยลำแข้งของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งผู้ชาย โอกาสที่คนจะมารับชมคอนเทนต์ก็มากขึ้น” 

คุณกนกพรอธิบายว่า สัดส่วนของคอนเทนต์ท้องถิ่นในแอปพลิเคชัน WeTV อยู่ที่ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้เยอะมาก เพราะเน้นผลิตเองเป็นหลัก และมองว่าคอนเทนต์ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จในกลุ่มคนไทย คือคอนเทนต์ที่ย่อยง่าย อารมณ์ดี หรือไม่ก็ดาร์กไปเลย เช่น ซีรีส์เรื่อง อาทิตย์อัสดง ซึ่งนำเสนอเกี่ยวกับความโลภ ซึ่งเป็นบริบทที่ค่อนข้างสากล โดยนำความเชื่อแบบไทย ๆ แล้วแต่การตีความไปใช้กับไอเดียที่แตกต่างกัน 

คุณกนกพรยังให้คำแนะนำสำหรับผู้ผลิตคอนเทนต์ โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมหรือวิถีคนไทยและได้รับความนิยมจากผู้ชมในต่างประเทศไว้ด้วยว่า ต้องพิจารณาว่าเราสามารถสื่อสารในเชิงสากลได้ไหม และต้องการสื่อสารออกไปอย่างไร 

ที่มา: ซีรีส์ WeTV Original เรื่อง Caged Again บอกตรง ๆ…ว่ารักเธอ ซีรีส์วายแนวรอมคอม แฟนตาซีรูปแบบใหม่ 

“ยกตัวอย่างในปัจจุบันที่บริบทสังคมที่เปลี่ยนไป เข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย หรือ Aging Society ทำให้เกิดกระแส Nostalgia หรือการหวนหาอดีตในวัยเยาว์มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่แห่งโอกาสในการสร้างคอนเทนต์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้เช่นกัน จริง ๆ แล้วการทำคอนเทนต์ในตอนนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ และไม่มีคำว่าแมสแบบที่เคยเป็น กลับกันคือจะเป็นความแมสเฉพาะกลุ่ม อย่างเช่นช่วงนี้เราก็จะได้ยินคนพูดกันถึงกระแสซีรีส์วาย ซึ่งมันเป็นอีกหนึ่ง Segment ที่มาจากปรากฏการณ์การสร้าง Fan Community กลุ่มของแฟน ๆ ที่สนใจอย่างรวดเร็ว”

รู้เขา รู้เรา เข้าใจความแตกต่างของท้องถิ่น

ที่มา: สารคดี Duck Academy โรงเรียนกินนอนสอนเป็ด

จากแพลตฟอร์มสตรีมมิงมาสู่มุมมองของผู้ผลิต คุณยุพาให้คำแนะนำในการผลิตคอนเทนต์สารคดีท้องถิ่นสู่ระดับสากลว่า เราต้องเข้าใจผู้ชมระดับ Global ให้ได้ก่อน โดยคุณยุพายกเหตุการณ์เมื่อครั้งไปตัดต่อสารคดีที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อทีมงานญี่ปุ่นเห็นว่านาข้าวในสารคดีมีสีที่ไม่สม่ำเสมอกัน มีทั้งสีดำ น้ำตาลอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในญี่ปุ่น เพราะตัวข้าวถ้าเขียวก็ต้องเขียวทั้งหมด ทำให้เขามองว่างานไม่มีความต่อเนื่อง คุณยุพาจึงอธิบายให้เขาฟังว่าที่ประเทศไทยปลูกข้าวปีละ 3 ครั้ง ดังนั้น สาเหตุที่สีของข้าวไม่เหมือนกันเกิดจากลำดับขั้นตอนที่แตกต่างกัน เช่น แปลงหนึ่งกำลังปลูกอยู่ อีกแปลงหนึ่งสำหรับเกี่ยว จะเห็นได้ว่าเราควรทำความเข้าใจผู้ชมต่างชาติด้วย เพราะวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ชาวต่างชาติอาจไม่เข้าใจวัฒนธรรมบางอย่างของเรา

“อย่าง Duck Academy มีความเป็นสากล ซึ่งได้รับคำแนะนำจากผู้ก่อตั้ง Sunny Side of the Doc ที่พาเราไปเจอกับผู้กำกับฝีมือระดับต้น ๆ พอได้ดูแล้วเขาก็บอกว่า Duck Academy ควรเป็นเรื่องของความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนกังวลและต้องการให้มี พอทำออกมาแล้วฉายไปทั่วโลก ผลตอบรับคือชาวต่างชาติชอบมาก โดยเฉพาะคนยุโรป ที่สำคัญคืออย่าคิดว่าเราแน่ เพราะถึงแม้จะทำสารคดีมา 30 ปี เราอาจแน่ในเมืองไทยพอไปเมืองนอกแล้วหงายหลังกลับมา ฉะนั้น เราต้องอ่านคนดูระดับโลกให้ออกในระดับหนึ่ง ควรรู้ว่าเขาเข้าใจ หรือไม่เข้าใจอะไร”

ที่มา: สารคดี Duck Academy โรงเรียนกินนอนสอนเป็ด

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเทคนิคการเล่าเรื่อง ซึ่งคุณยุพาบอกว่าแนวทางในการผลิตสารคดีไปสู่ระดับสากลของบริษัท ป่าใหญ่ ครีเอชั่น ส่วนใหญ่จะทำสารคดีที่มีตัวดำเนินเรื่อง (Protagonist) ที่พิเศษมาก แบบไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน โดยการเล่าเรื่องจะมีระดับและจังหวะคล้ายละคร เช่น จุดนี้ต้องทำให้ตื่นเต้นระดับไหน ตัวดำเนินเรื่องเป็นใคร มีปัญหาอะไร สามารถแก้ไขได้หรือไม่ ฯลฯ

ด้านของคนทำละครอย่างคุณชุดาภาบอกเล่าถึงแนวคิดในการทำงานของตนเองว่าสิ่งสำคัญคือ ต้องมีองค์ประกอบที่ผู้ชมชาวต่างชาติจะสามารถเข้าใจได้ด้วย เช่น ในละครเรื่อง ทองเอก หมอยาท่าโฉลง หรือเรื่อง หมอหลวง ที่มีการนำเสนออาหารที่เป็นยารักษาโรค ซึ่งคุณชุดาภามองว่ายาสมุนไพรมีการแลกเปลี่ยนกันมาเป็นพันปี อย่างสมุนไพรหลายตัวที่ใช้นั้นก็มีทั้งจากอินเดีย จีน และสมุนไพรจากอินเดียหลายตัวก็อยู่ในตำรับยาไทยด้วย ชาวต่างชาติจึงน่าจะเข้าใจไม่ยาก เพราะในประเทศของพวกเขาก็มีสมุนไพรไม่ต่างจากประเทศไทย ทำให้เนื้อหาของละครสามารถเข้าถึงผู้ชมระดับ Global ได้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่องค์ความรู้ด้านสมุนไพรไม่แตกต่างกันมากนัก

ที่มา: ละครเรื่อง ทองเอก หมอยาท่าโฉลง

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทีมงานเลือกเรื่องสมุนไพรไทยมาทำละคร ก็เพื่อที่จะเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้แก่คนรุ่นหลัง นอกจากนี้ คุณชุดาภายังเสริมว่า ในการนำเสนอคอนเทนต์ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เหมือนเช่นที่ประเทศเกาหลีใต้ทำได้ เราควรศึกษางานของคนอื่นเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนางานของตนเองให้ดีขึ้น สิ่งสำคัญคือเนื้อหาของคอนเทนต์นั้นจะต้องนำเสนอด้วยความถูกต้อง 

“เราเชื่อมั่นว่าละครไทยมีโอกาสไปสู่ตลาดระดับโลกได้ เพียงแค่ว่าถ้าเราต้องการที่จะไป เราต้องศึกษาอย่างจริงจัง เราต้องวิเคราะห์ให้แตกและทำการบ้านให้หนัก แล้วนำเสนออะไรที่แตกต่างและถูกใจชาวต่างชาติด้วย ซึ่งระบบความคิดที่จะพัฒนาผลงานไปสู่ระดับ Global หรือสากล เราต้องลบความคิดแบบเดิม ๆ ว่ามันเป็นไปไม่ได้ หรือความคิดที่เคยถูกปลูกฝังมาว่าเราสู้ต่างชาติไม่ได้หรอก ประเทศของเราด้อยกว่าเขา เราต้องไม่กลัว ต้องพยายามศึกษาหาความรู้และพัฒนาตัวเอง ต้องกล้าที่จะไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้”

ความหวังของคอนเทนต์ไทยในตลาดโลก

ที่มา: ละครเรื่อง หมอหลวง

ช่วงหนึ่งผู้ดำเนินรายการอย่างคุณอติรุจได้ตั้งคำถาม ถึงประเด็นเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง คือกำลังสำคัญซึ่งจะช่วยผลักดันคอนเทนต์ไทยให้ไปสู่ระดับสากลได้มากน้อยเพียงใด

คุณกนกพรให้ความเห็นว่า การสนับสนุนจากภาครัฐอาจเริ่มจากหน่วยงานหรือคนทำงานหลัก ๆ ก่อนเพื่อนำเสนอไอเดีย ซึ่งการที่มีหน่วยงานที่มีบทบาทในการสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศไทยอย่าง THACCA (Thailand Creative Culture Agency) ก็ทำให้เริ่มกำหนดทิศทางการทำงานได้ชัดเจนมากขึ้น เพียงแต่ว่าแต่ละฝ่ายยังพูดเรื่องที่แตกต่างกันอยู่ ยังไม่เน้นว่าจะผลักดันแกนสำคัญทางด้านไหนไปให้สุด

ส่วนคุณชุดาภามองว่า ตอนนี้รัฐบาลเริ่มมีความพยายามที่จะผลักดันแล้ว แต่ยังดูเหมือนมีการติดขัดบางอย่าง ซึ่งถ้าหากอุตสาหกรรมบันเทิงและคอนเทนต์ของไทยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง มูลค่าที่ประเทศได้รับจะมหาศาลมาก ไม่ว่าจะเป็นแง่การท่องเที่ยว วัฒนธรรม อาหาร รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศ เช่น ซีรีส์และละครไทยเรื่อง บุพเพสันนิวาส และ พรหมลิขิต ที่โด่งดังไปทั่วโลก มีชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย สวมชุดไทยถ่ายรูปในสถานที่ท่องเที่ยวตามรอยละครเป็นจำนวนมาก 

“การสนับสนุนดังกล่าวนี้ไม่เฉพาะเพียงเรื่องงบประมาณ อาจจะเริ่มต้นง่าย ๆ จากการอนุญาตให้ใช้สถานที่ราชการในการถ่ายทำก่อนก็ได้ ถ้ารัฐบาลสนับสนุนอย่างจริงจัง ผลตอบแทนที่จะกลับมาไม่ได้อยู่เฉพาะแค่วงการบันเทิงหรือสื่อเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยและส่วนอื่น ๆ อีกด้วย”

ในขณะเดียวกัน คุณยุพามองว่า ที่ผ่านมารัฐบาลก็มีงบช่วยเหลือในการโปรโมตคอนเทนต์ไทยในตลาดต่างประเทศ แต่ยังขาดในส่วนต้นน้ำของผู้ผลิต ภาครัฐควรมีทุนสนับสนุนคนทำคอนเทนต์ เริ่มตั้งแต่ตอนที่เสนอขายไอเดียในตอนแรกเพื่อรับทุนมาทำงาน เหมือนเช่นที่หลายประเทศมีงบประมาณในการสนับสนุนตรงนี้ แม้เคยได้ยินว่ามีกองทุนสื่อแล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่าได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับสนับสนุนในการผลิตคอนเทนต์ เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศด้วยหรือไม่

นอกจากการเสวนาของวิทยากรทั้ง 3 ท่านแล้ว ในช่วงท้ายภายในงานยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาในครั้งนี้ ซักถามประเด็นต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือประเด็นเรื่องการพัฒนาบุคลากรไปสู่ระดับโลก คุณยุพาได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าการนำบุคลากรสำคัญไปเข้าร่วมเวิร์กช็อปนั้นเป็นเรื่องที่ดี เช่นเดียวกับการไปร่วมงานเทศกาลสารคดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะภายในงานจะมีทั้งนักลงทุน, ผู้จัดจำหน่าย และตัวแทนจากเอเจนซี่ต่าง ๆ มาพูดคุยเพื่อสร้างคอนเน็กชัน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าสารคดีของเราเองก็ต้องมีความน่าสนใจด้วยเช่นกัน จึงจะสามารถดึงดูดกลุ่มนักลงทุนได้ 

ปิดท้ายด้วยคุณชุดาภา ซึ่งได้แสดงมุมมองต่อคำถามว่า ควรทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่รับชมละครไทยมากขึ้น คุณชุดาภาให้ความเห็นว่า คนทำละครจะต้องทำการบ้านให้หนักขึ้น โดยศึกษาผลงานรูปแบบอื่น ๆ ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์วาย ข่าว หรือคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ และนำข้อดีของงานเหล่านั้นมาพัฒนางานของตนเองให้ดีขึ้น อีกทั้งต้องปรับวิธีคิดในการทำงานใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย เช่น แทนที่จะค่อย ๆ ไต่ระดับความพีกของคอนเทนต์เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ก็ต้องปรับคอนเทนต์ให้สามารถกระชากใจผู้ชมได้ตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ ถ้าคอนเทนต์มีแก่นของความเป็นมนุษย์ งานนั้นก็จะมีความแข็งแรงและเป็นที่จดจำมากขึ้น 

บทสรุปที่ได้จากงานเสวนาในครั้งนี้ ด้วยแนวคิดในการทำงานของผู้ผลิตและคนทำงานสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทยที่ไม่หยุดพัฒนา รวมทั้งการสนับสนุนผลักดันจากภาครัฐ เชื่อได้ว่าอีกไม่นานนักคอนเทนต์ท้องถิ่นของไทย จะสามารถเติบโตจนก้าวสู่ระดับโลกได้อย่างแข็งแกร่งแน่นอน