Research & Report

How to Pitch Like a Pro เรียนรู้การ Pitching แบบมือโปร กับ Aron Warner โปรดิวเซอร์แอนิเมชันระดับโลก

ถอดบทเรียนที่ชาวแอนิเมเตอร์ห้ามพลาด จากคลาส Animation Pitching คลาสสุดท้ายของโครงการ Content Lab: Animation ภายใต้โครงการ Content Lab 2024 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ที่จัดขึ้นในวันที่ 4 กันยายน 2567 ณ TCDC กรุงเทพฯ ห้อง Auditorium ชั้น M 

สำหรับไฮไลต์ของคลาสนี้ คือการได้รับเกียรติจากวิทยากรมืออาชีพระดับโลก คุณอารอน วอร์เนอร์ (Aron Warner) โปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน จากภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องดัง อย่าง Shrek, The Book of Life และ Antz ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน และเทคนิคการนำเสนอผลงานให้พร้อมสำหรับเวทีระดับสากล ในหัวข้อ “Animation Pitching in International Stage” ดำเนินการเสวนาโดย คุณพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์แถวหน้าของไทย ร่วมแปลภาษาโดย ผศ. จรรยา เหตะโยธิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบตัวละคร (Character Design) และการเล่าเรื่องในสื่อดิจิทัล จากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง


Animated Films and Box Office Insights เจาะภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และแอนิเมชัน
หนังวัฒนธรรมมีโอกาสสร้างรายได้

คุณอารอนเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และแอนิเมชัน รวมทั้งความท้าทายในตลาดแอนิเมชันในปัจจุบัน ว่าภาพยนตร์ที่นําเสนอวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ผู้ชมทั่วโลกให้ความสนใจ เห็นได้จากหนังและแอนิเมชันหลายเรื่องที่ทำรายได้และประสบความสำเร็จใน Box Office เช่น Black Panther, Creed III, Coco, Crazy Rich Asians, Shōgun, Get Out, Girls Trip, Spider-Man: Across the Spider-Verse ฯลฯ 

คุณอารอนกล่าวต่อไปว่า บทเรียนที่ยิ่งใหญ่ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ตรงกันข้ามกับความคิดของคนทั่วไปที่มองว่าหนังที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมน่าจะขายไม่ออก แต่ความจริงได้พิสูจน์แล้วว่าหนังที่นําเสนอวัฒนธรรมสามารถสร้างรายได้มหาศาล ดังนั้น การเล่าเรื่องวัฒนธรรมของตนเองในระดับที่เหมาะสม โดยใช้วัฒนธรรมเป็นวัตถุดิบในการผลิตและสร้างสรรค์ผลงานก็สามารถช่วยให้หนังขายและสร้างรายได้ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ คุณอารอนย้ำว่า ในการสร้างสรรค์ผลงาน ไม่จําเป็นต้องยึดว่าการนำเสนอในสไตล์แบบฮอลลีวูดเท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จ เพราะผู้ชมอยากเห็นเรื่องราวจากมุมมองของผู้ผลิตใหม่ ๆ ที่มีความแตกต่างออกไปด้วย โดยคุณอารอนได้ยกตัวอย่างงานชิ้นหนึ่งที่เขากำลังทำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของชาวแอฟริกันอเมริกัน ทำให้เขาและทีมงานได้รับมุมมองใหม่ ๆ ในการทำงาน หรือผลงานอีกเรื่องที่เขาเป็นโปรดิวเซอร์อย่างแอนิเมชันเรื่อง Wish Dragon ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับความเชื่อและตำนานมังกรของประเทศจีน เมื่อภาพยนตร์แอนิเมชันออกฉายในปี 2021 ทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมนั้น ๆ ดูแล้วก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไปด้วย

ที่มา: โปสเตอร์ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Wish Dragon

ด้านคุณพันธุ์ธัมม์ตั้งคําถามว่า ในฐานะที่คุณอารอนเคยทําทั้งหนังแอนิเมชันและไลฟ์แอ็กชัน (Live- Action) หนังทั้ง 2 ประเภทนี้แตกต่างกันอย่างไรบ้างในด้านการทำงาน

คุณอารอนอธิบายว่า เขามีรูปแบบการทำงานหนัง 2 ประเภทนี้แตกต่างกัน หนังไลฟ์แอ็กชันเป็นการทำงานแบบ Director-Driven คือมีผู้กํากับเป็นผู้ขับเคลื่อน เป็นหัวเรือใหญ่ในการทำงาน มีอํานาจในการตัดสินใจชี้ขาด แต่สําหรับงานแอนิเมชันค่อนข้างเป็นงานกลุ่มมากกว่า ยกตัวอย่างหนังแอนิเมชันเรื่องหนึ่งที่เขาทำจะมีคนเขียนสตอรี่บอร์ดหลายคน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมนอกเหนือจากสคริปต์ดั้งเดิมได้ จึงมีลักษณะการทำงานเป็นทีมมากกว่างานประเภทไลฟ์แอ็กชัน


A Unique Approach ค้นหาแนวทางที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

หลังจากได้รับฟังภาพรวมของตลาดภาพยนตร์แอนิเมชันระดับโลกไปแล้ว มาถึงประเด็นวิธีการทำงานสร้างสรรค์คอนเทนต์แอนิเมชัน ซึ่งคุณอารอนได้พูดถึงเทคนิคการนำเสนอเรื่องราวแบบ “A Unique Approach” หรือแนวทางที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยต้องรู้ว่าหนังของเรามีความเป็นเอกลักษณ์ และมีความพิเศษเฉพาะตัวอย่างไร เพื่อให้คนฟังเข้าใจและเห็นภาพตามชัดเจน 

“ถ้ามันไม่ใช่หนังที่แปลกใหม่จริง ๆ เราต้องรู้ว่าแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร เช่น หนังที่เราจะทําเป็นเรื่องราวการเดินทางของฮีโร่ หรือว่าเป็นเรื่องที่คนอื่นเคยทํากันมาอยู่แล้ว เอกลักษณ์ของงานเราอยู่ตรงไหน แล้วสิ่งที่สําคัญมากก็คือ เราต้องเล่าได้ด้วยว่าหนังของเรามันมีความพิเศษเฉพาะตัวยังไง อาจมี Specialized Combination แนวทางแบบผสมผสานเฉพาะทางขึ้นมา เช่น ในหนังไลฟ์แอ็กชันก็มีบางเรื่องที่มีการผสมผสานกันระหว่างหนัง 2 เรื่อง เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจชัดเจนว่าเราจะเล่าเรื่องแบบใหม่ เราจะพูดเรื่องอะไร ซึ่งอาจช่วยทําให้เขาเข้าใจได้ง่ายขึ้น”

คุณพันธุ์ธัมม์ตั้งคําถามอีกประเด็นหนึ่งว่า ในเมื่อเราต้องการความ Unique หรือความมีเอกลักษณ์พิเศษให้กับหนังของเรา ควรทําอย่างไรให้เอกลักษณ์นั้นสามารถเข้าถึงผู้ชมที่เป็นคนหมู่มากได้

คุณอารอนยอมรับว่า การทําหนังจริง ๆ มีความยาก แต่หนังทุกเรื่องมี World Theme ที่มีความเป็นสากล โดยความเป็นเอกลักษณ์ดังกล่าวอาจนำเสนอด้วยภาพ สี หรือวิธีการเล่าเรื่อง เช่น Spider-Man: Across the Spider-Verse แอนิเมชันที่เป็นเรื่องราวแนวซูเปอร์ฮีโร่ทั่วไปที่มีอยู่ล้นตลาด แต่ได้มีการเปลี่ยนการรับรู้ใหม่ โดยลบภาพจำแบบเดิม ๆ ทําให้น่าสนใจด้วยภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ หรือ 3D แอนิเมชัน ทําให้คนสนใจไปดู หรือเรื่อง Shrek ที่เล่าแบบเทพนิยาย เป็นการเล่นกับโลกของเจ้าหญิงเจ้าชายที่งดงาม เราเล่าเรื่องที่คุ้นเคย แต่นำเสนอในมุมมองใหม่จากฝั่งตัวละครที่น่าเกลียดที่สุด คุณอารอนบอกว่ายังมีอีกหลากหลายสิ่งที่เราสามารถหยิบมาใช้ในการเล่าเรื่องได้เช่นกัน เพราะผู้ชมอยากดูสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ผศ. จรรยาเสริมประเด็นนี้ว่า แม้จะนำเสนอจากมุมมองของคาแรกเตอร์ตัวละครที่น่าเกลียด แต่ไม่ได้หมายความว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะว่าสุนทรียศาสตร์ไม่ได้มีเพียงด้านเดียว ทั้งความงาม ความน่าเกลียด และอีกหลากหลายอารมณ์ ก็สามารถเป็นสุนทรียศาสตร์ได้เช่นกัน

ที่มา: ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Spider-Man: Across the Spider-Verse 

คุณพันธุ์ธัมม์ตั้งคําถามต่อไปว่า ในเมื่อเรามองหาความเป็นเอกลักษณ์ แล้วในเชิงการออกแบบตัวละคร (Character Design) จําเป็นต้องมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไหม หรือว่ามีเฉพาะแค่เนื้อเรื่อง (Story) เพียงอย่างเดียวก็ได้

คุณอารอนอธิบายว่า คาแรกเตอร์ดีไซน์เป็นสิ่งสําคัญมากในภาพยนตร์แอนิเมชัน พร้อมยกตัวอย่างผลงานโปรดักชันเรื่องที่เขาเคยทํามาอย่าง The Book of Life ซึ่งเป็นแอนิเมชันที่มี Story โดดเด่นมาก รวมทั้งผู้กํากับเองก็ยังมีเป้าหมายในการเล่าเรื่องที่ดีมากเช่นกัน แต่พอทําเสร็จแล้วอีก 6 เดือนต่อมา มีหนังแอนิเมชันอีกเรื่องคือ Coco ออกมา ซึ่งมีแนวเรื่องใกล้เคียงกันคือเป็นวัฒนธรรมของชาวเม็กซิกัน แล้วประสบความสําเร็จมากกว่า ซึ่งเขาคิดว่าอาจเป็นเพราะคาแรกเตอร์ของตัวละครในเรื่องนั้นสามารถเข้าถึงผู้ชมได้มากกว่า ทําให้คุณอารอนบอกว่าสิ่งหนึ่งที่สําคัญคือ การสร้างคาแรกเตอร์ในหนังของเราให้เป็นตัวละครที่คนดูรัก จะทําให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมในวงกว้างได้มากขึ้น

ที่มา: โปสเตอร์ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Coco


Know Your Audience รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร

ประเด็นต่อมา คุณอารอนแนะนำว่า การที่รู้ว่าหนังของเราทําเพื่อใครเป็นสิ่งสําคัญมาก ต้องรู้ว่าใครคือคนกลุ่มแรกที่เราอยากจะให้ดู และอยากให้พวกเขารู้สึกอย่างไร เช่น แอนิเมชันที่เป็นสัตว์พูดได้อย่าง Finding Nemo แม้จะทําให้เด็กดู แต่กลุ่มผู้ใหญ่และวัยอื่น ๆ ที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ก็ดูได้เช่นกัน 

ผลงานของคุณอารอนอีกเรื่องที่เขายกตัวอย่างถึง คือแอนิเมชันเรื่อง The Book of Life ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวข้องกับความตาย แต่ห้ามพูดคําว่าตายหรือฆ่า เพราะคนดูที่เป็นผู้ปกครองไม่อยากจะต้องอธิบายให้ลูกฟัง แต่ว่าเราต้องการเล่าประเด็นนั้น ดังนั้นเราต้องทําออกมาให้ได้โดยไม่พูด ทําให้คนอยากดู เราจึงต้องรู้ว่ากำลังทําอะไรอยู่ และสิ่งนั้นตอบโจทย์คนดูที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหรือไม่

ที่มา: ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง The Book of Life


What’s Your Message? รู้สิ่งที่ต้องการจะเล่า

หลังจากที่รู้กลุ่มเป้าหมายชัดเจนแล้ว สิ่งสำคัญลำดับต่อไปคือ ต้องรู้ว่าสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสาร (Message) คืออะไร ซึ่ง Message นั้นประกอบด้วย คุณต้องการจะบอกอะไรกับโลกใบนี้, มันเกี่ยวข้องกันอย่างไรกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ทำไมถึงต้องเล่าตอนนี้ และเหตุใดการบอกเล่าเรื่องราวของคุณจึงมีความสำคัญ เมื่อได้คำตอบชัดเจนแล้วจึงเริ่มต้นในการเขียนบทและวางเส้นเรื่องของภาพยนตร์ต่อไป

คุณพันธุ์ธัมม์ถามว่า ในประเทศไทยที่ผู้กํากับแอนิเมชันส่วนใหญ่เป็นแอนิเมเตอร์ หรือไม่ก็เป็นศิลปินและนักออกแบบอย่างคาแรกเตอร์ดีไซเนอร์ ซึ่งอาจไม่ได้มีทักษะพื้นฐานด้านการเล่าเรื่องมาก่อน เมื่อขึ้นมาอยู่ในจุดที่เป็นผู้กํากับแล้วควรทำงานอย่างไร

คำแนะนำของคุณอารอนคือ อันดับแรกเราต้องเชื่อในศักยภาพของตัวเองก่อน เชื่อมั่นว่าเราสามารถที่จะเล่าเรื่องได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นแอนิเมเตอร์หรือโปรดักชันเมเนเจอร์ ทุกคนสามารถเป็นนักเล่าเรื่องได้ แต่ถ้าเราขาดทักษะ อาจต้องมีการร่วมงานกับนักเขียนบทมืออาชีพ เพื่อให้เขาช่วยนําเสนอไอเดียและแนวความคิด รวมทั้งเรื่องราวที่เราอยากจะเล่าออกมา อันดับที่สองคือเรื่องที่ทำนั้นต้องเป็นเรื่องที่เราสนใจและอยากจะเล่าจริง ๆ 

“การหาความสมดุลจากตัวอย่างงานที่อ้างอิง ความชอบ และความมีอัตลักษณ์ จึงเป็นศาสตร์ขั้นสูงของผู้ผลิตแอนิเมชัน เราต้องรู้ว่าเราไม่สามารถลอกเลียนแบบใครได้ แต่สิ่งที่เราอยากจะเล่าและสื่อสารให้กับโลกนี้คืออะไร ดังนั้น การเป็นตัวของตัวเองคือสิ่งที่ดีที่สุด ต้องหาความจริงใจกับตัวเอง”

คุณอารอนได้แชร์ประสบการณ์ด้านการค้นหาและปั้นเรื่องให้สามารถตอบโจทย์ผู้ชม โดยยังคงมีมุมมองของโปรดิวเซอร์และนักลงทุน ซึ่งช่วยให้ผู้เข้าร่วมสามารถนำเสนอโครงการของตนให้ประสบความสำเร็จ โดยให้ลองมองในมุมของผู้ชม ในฐานะมนุษย์ว่าเวลาดูแล้วเรารู้สึกตามนั้นหรือไม่ รวมทั้งเสียงและภาพที่เห็นในหนังมีความสมจริงด้วยหรือไม่

“เราสามารถทําหนังแอนิเมชันในรูปแบบที่คุ้นเคยกันมา แต่รู้สึกว่าสมจริงมาก โดยที่ไม่ต้องมีเงินทุนเยอะ หรือการออกแบบคาแรกเตอร์ที่ซับซ้อน อาจไม่จําเป็นต้องเป็นบทพูดหรือสคริปต์ แต่สามารถแสดงออกด้วยท่าทางหรืออารมณ์ของตัวละคร รวมทั้งบรรยากาศอื่น ๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบด้วยได้”

คุณอารอนยังได้ยกตัวอย่างแอนิเมชันเรื่อง Robot Dreams ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังแอนิเมชันที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ โดยบอกว่าหากอยากรู้ว่าแอนิเมชันที่ดีเป็นอย่างไรให้ลองดูเรื่องนี้ จุดเด่นคือการทําคาแรกเตอร์ที่มีความเรียบง่ายมาก แต่ว่าสามารถเล่าเรื่องได้ดี แม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่ไม่มีบทพูด (Nonverbal) ก็ตาม

ที่มา: โปสเตอร์ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Robot Dreams 


Finding The Hook หาหมัดฮุกของเรื่องให้เจอ

นอกจากคำแนะนำในการสร้างสรรค์ผลงานให้ตอบโจทย์ตลาดแล้ว คุณอารอนยังแชร์เทคนิคต่าง ๆ ในการนำเสนอผลงานบนเวทีระดับนานาชาติ ทั้งเรื่องการสร้าง “ฮุก” (Hook) หมัดเด็ดของผลงาน ที่สามารถจับความสนใจของคนฟังได้ทันที รวมทั้งการนำเสนอแก่นเรื่องหรือสิ่งที่ต้องการบอกผู้ชม และการออกแบบการนำเสนอที่แตกต่าง แต่ยังสอดคล้องกับเรื่องที่ตนนำเสนอด้วย

“คําถามแรกที่นักลงทุนมักถามคนที่มา Pitch คือคุณอยากจะบอกอะไร ทําไมถึงบอกอย่างนั้น แล้วสิ่งที่คุณอยากจะเล่ามันจําเป็นอย่างไร” 

คุณอารอนยังได้ยกตัวอย่างเพื่อนของเขาที่บอกว่าจะทําหนังเกี่ยวกับ K-Pop ที่เป็นนักล่าปีศาจ ซึ่งแม้ว่าตัวเขาเองไม่ได้ชอบ K-Pop แต่ว่าตอนนั้นก็สนับสนุนให้เพื่อนลองทำดู เพราะเขารู้สึกว่าตลาดโลกต้องการสิ่งที่กำลังอยู่ในกระแสความนิยมเวลานี้ คุณพันธุ์ธัมม์จึงถามต่อว่าแล้วเราจะทําให้เรื่องที่นำเสนอสั้นลงได้อย่างไรในการ Pitch เพราะอย่างไอเดียนักล่าปีศาจนี้นับว่ายังไม่ใช่ Story ด้วยซ้ํา คุณอารอนจึงแนะนำว่า

“จริง ๆ แล้วเวลา Pitch คนฟังไม่ได้ต้องการรายละเอียด แต่ต้องการไฮไลต์ ซึ่งผู้บริหารหรือนายทุนส่วนใหญ่ความอดทนต่ํามากเลย ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ความอดทนต่ํา จึงอยากจะฟังเฉพาะแค่ไฮไลต์เท่านั้น พอคุณเริ่มเข้ารายละเอียด คุณจะเห็นสายตาของพวกเขาเริ่มเหม่อแล้ว เพราะฉะนั้น เราต้องนำไฮไลต์ออกมานำเสนอก่อน หลังจากผ่านการ Pitch ครั้งแรกไปแล้ว ถึงค่อยพูดสิ่งที่คุณจะเล่ารายละเอียดต่อไป”

ในฐานะที่มีประสบการณ์ทั้งเป็นผู้นำเสนอในการ Pitch และผู้ฟังฝั่งนักลงทุน คุณอารอนกล่าวว่าเมื่อเราบอกคนอื่นเกี่ยวกับฮุกของเรา มันเหมือนกับเป็นการตั้งคําถามและอธิบายเกี่ยวกับโลกที่ยังไม่เคยมีใครรู้มาก่อนให้คนอื่นฟัง จึงนับเป็นเรื่องที่ท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ฟังรู้สึกสนใจต่อ ขณะเดียวกันเมื่อผู้ฟังตั้งคําถามกลับมา เราผู้ซึ่งเป็นคนเล่าเรื่องก็ต้องตอบให้ได้ ซึ่งความจริงแล้วไม่จําเป็นต้องรู้ลึกถึงรายละเอียดทุกอย่างในเรื่องก็ได้ แต่ควรรู้ข้อมูลเบื้องต้นอย่างเรื่องราว (Story), คาแรกเตอร์ และธีมหลักของเรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องรู้ และพร้อมที่จะอธิบายได้

“ฮุกเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าคุณไม่สามารถเล่าเรื่องของคุณให้น่าสนใจได้ภายใน 30 วินาที ต้องกลับไปทบทวนแล้วก็ทําใหม่ สิ่งสำคัญให้คํานึงว่าอะไรที่ทําให้เรื่องราวของคุณน่าสนใจ คุณจะเล่ายังไงให้เคลียร์ที่สุด” 

คุณอารอนแนะว่า หลังจากปล่อยหมัดฮุกของเรื่องเสร็จ จึงค่อยหยอดไปว่าเรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร รวมทั้งคาแรกเตอร์ตัวละครของเราเป็นใคร, Character Conflict หรือความขัดแย้งของตัวละครคืออะไร จากนั้นจึงค่อยพูดถึงการปฏิสัมพันธ์ของตัวละครที่ขับเคลื่อนและทําให้เรื่องราวดําเนินไป แล้วก็จบด้วยว่าทําไมเราถึงอยากจะทําเรื่องนี้ โดยสิ่งหนึ่งที่ต้องคํานึงถึงคือต้องทำให้ผู้ฟังเชื่อ โดยการแสดงให้เห็นว่าเรามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง หรือรู้สึกอินกับเรื่องราวที่เรานำเสนอ และต้องการจะทำอย่างไร

คุณพันธุ์ธัมม์ตั้งคําถามต่อว่า ในกรณีโปรเจ็กต์แอนิเมชันที่เกิดจากไอเดียตั้งต้น แล้วค่อยพัฒนาออกมาเป็นงานกลุ่ม เมื่อถึงขั้นตอนการ Pitching ที่ต้องนำเสนอต่อนักลงทุนควรทำอย่างไร และใครควรเป็นผู้รับผิดชอบหรือควบคุมดูแลในส่วนนี้

คุณอารอนตอบคำถามนี้โดยยกตัวอย่างผลงานเรื่อง Shrek ที่มีจุดเริ่มต้นไอเดียจากการ์ตูนไม่กี่หน้า ซึ่งไม่มีอะไรเหมือนกับในหนังที่เราเห็นกันเลย โดยเรื่องนี้มีผู้กำกับหลายคน ผ่านการพัฒนาโปรเจ็กต์หลายครั้ง จนสุดท้ายช่วยกันทำออกมาเป็นหนังแอนิเมชันได้สำเร็จ สิ่งหนึ่งที่สําคัญมากในการทำแอนิเมชันที่ต้องทํางานร่วมกันเป็นทีม คือต้องพิจารณาว่าใครสามารถ Pitch นำเสนอผลงานได้ดีที่สุด แล้วให้คนนั้นทำหน้าที่เป็นผู้นําเสนอโปรเจ็กต์ต่อนักลงทุน เพราะว่านั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทําให้ขายงานได้สำเร็จ

ที่มา: ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Shrek 


คำแนะนำจากโปรดิวเซอร์แอนิเมชันระดับโลก

นอกจากเทคนิคการ Pitch เพื่อนำเสนอผลงานแล้ว คุณอารอนยังช่วยชี้ให้เห็นว่าสิ่งสำคัญในการทำหนังแอนิเมชันคือการกลับไปยังจุดตั้งต้น โดยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายและการทำงานท่ามกลางข้อจำกัดต่าง ๆ โดยไม่หลุดจากสารตั้งต้น รวมทั้งการพยายามหาช่องทางใหม่ ๆ ในการนำเสนอผลงานออกไปด้วย

“ปัจจุบันมีช่องทางในการแสดงความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม แนะนําให้หาช่องทางในการนําเสนอตัวเอง เช่น ถ้าเราทํา TikTok มีคนดูเป็นล้านก็อาจจะทําให้นักลงทุนเห็นผลงานของเราได้เช่นกัน อีกคําถามที่มักได้ยินบ่อยคือ การทําตัวอย่างสินค้าจากคาแรกเตอร์หรือเรื่องการต่อยอดหรือแตกไลน์ธุรกิจควรจะต้องพูดให้นักลงทุนฟังหรือไม่ เราสามารถนำเสนอเพื่อให้นักลงทุนบางคนที่สนใจฟังได้ เช่น เรื่อง Minions ที่ทางสตูดิโอมีการวางแผนการตลาดและเน้นการทําสินค้า แม้ว่าอาจจะไม่ใช่แอนิเมชันที่ดีที่สุด แต่ก็สามารถทําให้คนที่ดูหนังดูแล้วอยากไปสวนสนุกได้ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสําคัญที่นำเสนอในการ Pitching ได้ เพราะมีนักลงทุนที่สนใจด้วยเช่นกัน”

ทั้งนี้ การทํางานแอนิเมชันในไทยที่มีความเชื่อเรื่องผีมากกว่าประเทศอื่น ๆ ซึ่งประเทศอื่นก็สนใจเช่นกัน แต่เราควรเล่าอย่างไรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีความเป็นสากล โดยเราต้องเข้าใจประเภทของหนัง (Genre) ที่จะทํา ซึ่งในมุมมองของเขาคิดว่าปัจจุบันแอนิเมชันไทยยังขาดลายเซ็นที่เป็นเอกลักษณ์ เพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่ต้องการให้เหมือนกับอนิเมะ (Anime) สไตล์การ์ตูนญี่ปุ่น หรือแอนิเมชันในสไตล์แบบดิสนีย์ ซึ่งคนทําหนังแอนิเมชันส่วนใหญ่มักจะอิงจากสิ่งที่ตนเองชอบเป็นหลัก

คุณอารอนฝากคำแนะนำทิ้งท้ายสำหรับแอนิเมเตอร์ชาวไทยว่าอยากให้ลองคิดนอกกรอบ โดยไม่จำเป็นต้องยึดแนวทางที่คนส่วนใหญ่นิยมเสมอไป แม้ปัจจุบันที่อนิเมะมีคนดูมากขึ้น ในตลาดตะวันตกต้องปรับตัวโดยการทำตามกระแสนิยม ซึ่งแม้ว่าอาจจะลดความเสี่ยงลง แต่ทว่าในอนาคตก็จะมีการเปลี่ยนแปลงของกระแสได้อีกเช่นกัน

นับว่าเกือบ 2 ชั่วโมงของการเสวนาในคลาสนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการต่างได้รับความรู้และเปิดมุมมองด้านการทำงานจากโปรดิวเซอร์แอนิเมชันมืออาชีพระดับโลกอย่างคุณอารอนกลับไปกันแบบเต็มอิ่ม นอกจากจะได้เทคนิคในการพัฒนาโปรเจ็กต์ให้น่าสนใจขึ้นแล้ว ยังได้เคล็ดลับสำหรับเตรียมความพร้อมในการขึ้นเวที Pitching เพื่อนำเสนอผลงานในเวทีระดับนานาชาติต่อไปในอนาคตอีกด้วย