ปั้นบทให้แอดวานซ์ไปกับ Choi Ran นักเขียนบทแถวหน้าชาวเกาหลีจากซีรีส์เรื่องดัง Mouse
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ฝันอยากจะเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ หรือชื่นชอบหลงใหลซีรีส์เกาหลี น่าจะเคยได้ชมผลงานจากฝีมือของนักเขียนบทแถวหน้าจากเกาหลีใต้อย่าง คุณชเวรัน (Choi Ran) นักเขียนบทสายสืบสวนสอบสวน เจ้าของผลงานซีรีส์ชื่อดัง Mouse ที่เคยสร้างกระแสฮือฮาจากแฟนซีรีส์เกาหลีอย่างถล่มทลาย และ Black ซีรีส์แนวลึกลับแฟนตาซีของยมทูตล่าวิญญาณ นอกจากนี้ ผลงานบทซีรีส์และภาพยนตร์ของเธอหลายเรื่องยังถูกฮอลลีวูดซื้อลิขสิทธิ์ไปรีเมกใหม่
มาร่วมรับฟังเรื่องราวเบื้องหลังแรงบันดาลใจ เทคนิคการเขียนบท และเคล็ดลับในการสร้างตัวละครที่น่าจดจำ กับ Master Class คลาสพัฒนาการเขียนบทระดับมืออาชีพของโครงการ Content Lab: Advanced Scriptwriting ภายใต้โครงการ Content Lab 2024 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดขึ้นในวันที่ 7 กันยายน 2567 ณ โรงภาพยนตร์ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ค้นหาแรงบันดาลใจในการเขียนบท
สำหรับ Master Class ครั้งนี้ นอกจากจะได้มือโปรด้านการเขียนบทชื่อดังอย่างคุณชเวรันมาเป็นวิทยากรรับเชิญแล้ว ยังมีตัวแทนฝั่งนักเขียนบทแถวหน้าของไทย คุณสรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ ที่ปรึกษาโครงการ Content Lab: Advanced Scriptwriting มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองของนักเขียนบทจากทั้งสองประเทศ โดยมีคุณศรุตา ชูศรี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
เริ่มต้นคลาสด้วยคุณสรรัตน์ที่ตั้งคำถามว่า ในอุตสาหกรรมการทําซีรีส์ที่เป็นงานพาณิชยศิลป์ แรงบันดาลใจน่าจะเป็นสิ่งที่สําคัญ เขาจึงอยากทราบว่าในมุมมองของคุณชเวรัน แรงบันดาลใจมีผลต่อการสร้างสรรค์ผลงาน และมีวิธีการสร้างแรงบันดาลใจอย่างไร
คุณชเวรันบอกว่า สำหรับนักเขียน แรงบันดาลใจถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก ซึ่งแน่นอนว่าแรงบันดาลใจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ในกรณีของเธอนั้นใช้วิธีการหาแรงบันดาลใจด้วยการดูข่าวเกือบทุกวัน อีกช่องทางหนึ่งคือผ่านทาง YouTube ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคอนเทนต์ออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากในเกาหลีใต้ เนื่องจาก YouTube มีเนื้อหาที่หลากหลาย จึงมีทั้งข่าวสาร รายการสถานการณ์ปัจจุบัน และเนื้อหาภาพยนตร์ ซึ่งคุณชเวรันมักคอยติดตามสิ่งเหล่านี้ทุกวัน เพื่อดูว่ากระแสในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
คุณสรรัตน์เสริมว่า ปัจจุบันการศึกษาโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องสําคัญ เพื่อทําให้นักเขียนบทสามารถเข้าถึงคนในยุคปัจจุบันได้ง่ายขึ้น ก่อนจะถามต่อไปว่าในมุมมองของคุณชเวรัน ขั้นตอนหรือกระบวนการในการเขียนบทระหว่างไทยกับเกาหลีเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
คุณชเวรันอธิบายว่า มีนักเขียนบทที่ทำงานคนเดียว และมีหลายกรณีที่นักเขียนบทเริ่มต้นจากการทำงานร่วมกันกับผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์ ซึ่งแตกต่างออกไปเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเธอมักจะวางแผนการทำงานด้วยตัวเองก่อน
“สไตล์การทำงานของฉันคือให้ความสำคัญกับการค้นหาวัตถุดิบใหม่ ๆ โดยการรวมเรื่องราวที่ผู้คนทั่วโลกสนใจแทรกเข้าไปในเนื้อหา นักเขียนบทบางคนมักออกแบบตัวละครก่อน แต่ฉันเริ่มจากการสร้างเรื่องราวขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงเตรียมสิ่งต่าง ๆ เช่น การแทรกตัวละครที่เหมาะกับเรื่องราว แล้วจึงสร้างเรื่องราวโดยรวม จากนั้นในแต่ละตอน ฉันจะมีกระดานขนาดใหญ่ในสตูดิโอของฉัน แล้วจึงเขียนสถานการณ์เฉพาะเจาะจงทีละตอน ซึ่งฉันเรียกว่าแผน”
คุณชเวรันแชร์วิธีการทำงานเขียนบทต่อไปว่า นักเขียนบทส่วนใหญ่จะเขียนแผนและเรื่องย่อไว้ประมาณ 30 หน้า แต่เธอมักจะเขียนประมาณ 100-200 หน้า เพราะถ้าหากเธอไม่มีเวลาในภายหลัง และไม่มีภูมิหลังของเรื่องราวและตัวละครที่เขียนเลย เวลานำมาเขียนบทจะยากมาก แต่ถ้าหากมีการเขียนรายละเอียดแต่ละตอนไว้ก่อนแล้ว พอถึงขั้นตอนการเขียนสคริปต์ ซึ่งเป็นบทสนทนาหรือคำพูดทั่วไป จะทำให้ทำงานได้ง่ายและรวดเร็ว
ทำงานแบบลุยเดี่ยว หรือทำเป็นทีมดีกว่า
คุณสรรัตน์ตั้งข้อสังเกตว่า จากผลงานที่ผ่านมาคุณชเวรันถนัดที่จะทํางานคนเดียว แต่ปัจจุบันทิศทางหรือแนวโน้มการทํางานของนักเขียนบทมักจะทํางานเป็นทีมมากขึ้น ทําไมเธอถึงเลือกที่จะทํางานเดี่ยว และคิดว่ามีความแตกต่างกับการทํางานเป็นทีมอย่างไรบ้าง
คุณชเวรันกล่าวว่า งานเขียนบทที่เป็นแนวหลักของเธอในเกาหลี มักเป็นแนวลึกลับ สืบสวน ระทึกขวัญ ฯลฯ นักเขียนบทแนวนี้ในเกาหลีส่วนใหญ่มักทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก เพราะสามารถช่วยกันระดมความคิดได้มากมาย แต่สำหรับสไตล์ของเธอนั้น ถนัดที่จะทำงานคนเดียวมากกว่าทำงานเป็นทีม หรือมีผู้ช่วยนักเขียนคอยช่วยหาข้อมูลหรือนำเสนอไอเดียให้ เพราะถ้าหากว่าเธอไม่ใช้ไอเดียเหล่านั้นจะต้องทำใหม่ ทำให้ใช้เวลาในการทำงานมากขึ้น ดังนั้น เธอจึงชอบทำงานเขียนบทเพียงคนเดียวมากกว่า
ที่มา: ซีรีส์เรื่อง Mouse
อีกประการหนึ่งคือเธอเริ่มด้วยการทำงานเขียนบทสารคดีวัฒนธรรมในเกาหลีมานานกว่า 15 ปี ก่อนที่จะมาเขียนบทซีรีส์ ซึ่งจุดเริ่มต้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการเป็นนักเขียนบทคือการค้นคว้าหาข้อมูล โดยเธอถนัดค้นหาข้อมูลออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์พอร์ทัล นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอรู้สึกสบายใจที่สุดที่จะทำงานด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ คุณชเวรันยอมรับว่า วิธีการทำงานของเธออาจจะล้าสมัย จึงไม่ค่อยอยากแนะนำเท่าไรนัก เพราะปัจจุบันก็มีนักเขียนบทเก่ง ๆ ที่ทำงานกันเป็นทีมหลายคน บางคนเก่งเรื่องการสร้างตัวละคร
บางคนเขียนบทสนทนาได้ลื่นไหลมาก ถ้านักเขียนเก่ง ๆ เหล่านี้มารวมตัวกันสร้างผลงาน โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละคน ก็จะเกิดการทำงานร่วมกันได้ดีมากขึ้น แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างคือ นักเขียนแต่ละคนอาจมีบุคลิกหรือสไตล์ไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างคิดว่าตัวเองถูก ส่งผลให้มีความเห็นแตกต่างกันออกไป ซึ่งกรณีเช่นนี้มักจะทำให้เกิดความขัดแย้งและทำงานเป็นทีมไม่สำเร็จอย่างราบรื่น
จากนักเขียนบทสารคดี สู่นักเขียนบทซีรีส์อาชญากรรม
ด้วยภูมิหลังที่เริ่มต้นจากการเขียนบทสารคดีมาก่อน เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นจุดเด่นที่อยู่ในผลงานของคุณชเวรัน คือการพบเบาะแสที่เป็นหลักฐานและข้อเท็จจริงอยู่ค่อนข้างเยอะมาก เช่น ในซีรีส์เรื่อง Mouse ที่เป็นเรื่องของฆาตกรต่อเนื่อง ตัวละครในเรื่องเป็นคาแรกเตอร์ที่มีความซับซ้อนค่อนข้างสูง หลายคนจึงอยากรู้ว่าเธอได้ศึกษาข้อมูลในการสร้างคาแรกเตอร์ตัวละครอย่างไรบ้าง
คุณชเวรันบอกว่า ที่เกาหลีเคยมีกรณีเด็กอายุ 17 ปี พาเด็กวัย 9 ขวบไปที่บ้าน แล้วลงมือฆ่าเขาอย่างโหดเหี้ยม ทำให้เธอรู้สึกช็อกมาก เพราะคนร้ายยังเป็นเยาวชนอยู่ แต่ตอนที่เขาอยู่ในคุกและให้สัมภาษณ์กับนักข่าว ตามสามัญสำนึกของคนปกติควรจะพูดว่ารู้สึกผิด แต่เขากลับบอกว่ารู้สึกเหมือนเป็นฤดูใบไม้ผลิที่ดอกซากุระบานสวยงาม ดังนั้น สิ่งที่เธอคิดในขณะที่ดูข่าวตอนนั้นก็คือคนโรคจิตที่เราเคยเชื่อกันว่าพวกเขาคงถูกทารุณกรรมมาก่อนจึงลงมือฆ่าคนแบบนั้นได้ นั่นไม่เป็นความจริง เธอคิดว่าพวกเขาอาจมีดีเอ็นเอพันธุกรรมแบบนั้นมาตั้งแต่กำเนิด
ที่มา: ซีรีส์เรื่อง Mouse
“ตั้งแต่นั้นมาฉันก็เริ่มสนใจศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับคนโรคจิตอย่างหนัก ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ ฉันพบว่าคนโรคจิตที่เคยได้รับการนำเสนอในซีรีส์เกาหลียังไม่ถูกต้อง เลยคิดว่าน่าจะลองเขียนบทเกี่ยวกับคนโรคจิตดีกว่า นั่นคือวิธีที่ฉันเริ่มต้นในการทำงานเขียนบทซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวน”
แต่แน่นอนว่าคุณชเวรันไม่สามารถพบกับฆาตกรโรคจิตโดยตรงได้ เธอจึงใช้วิธีการศึกษาข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญอย่างศาสตราจารย์พโยชางวอน (Pyo Chang-won) นักสืบและนักวิเคราะห์อาชญากรรมที่ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงในเกาหลีใต้ เธอฟังเรื่องราวจากนักวิเคราะห์อาชญากรรม เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของอาชญากร รวมทั้งศึกษาคดีและเหตุการณ์ฆาตกรรมต่าง ๆ มากมาย เมื่อใส่จินตนาการแบบละครแฟนตาซีลงไป ผสมผสานกับวิธีการเขียนบทที่ลงรายละเอียดและเนื้อหาแบบสมจริง โดยแต่ละตอนของซีรีส์มีคดีดังที่เกิดขึ้นจริงในเกาหลีด้วย และเปลี่ยนให้เป็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องเพื่อให้คนเกาหลีรู้ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นคืออะไร ทำให้คนดูเชื่อว่ามันสมเหตุสมผล
ทำการบ้านให้หนัก เพื่อเข้าถึงตัวละคร
คุณสรรัตน์ถามต่อไปว่า เมื่อได้รับโจทย์มาให้สร้างคาแรกเตอร์ที่ไกลตัวผู้เขียนอย่างการเป็นโรคจิตเภทหรือไซโคพาธ (Psychopath) คุณชเวรันมีการสร้างความเชื่อให้เข้าถึงตัวละครนั้นได้อย่างไร
คุณชเวรันบอกว่า ถ้าเป็นซีรีส์ทั่วไปหรือซีรีส์รักโรแมนติก เธอมักจะใช้ตัวเองเข้าไปสวมบทให้เข้าถึงตัวละคร ซึ่งนักเขียนบทหลายคนก็ใช้วิธีนั้น เมื่อเขียนบทที่พูดถึงความรัก ครอบครัว และเพื่อน แต่ในกรณีของซีรีส์ที่มีเนื้อหาแนวฮาร์ดคอร์แบบนี้ เธอไม่เคยฆ่าใครหรือทำร้ายใครเลย ดังนั้นจึงไม่ใช่ประสบการณ์ของตัวเธอเอง เพราะไม่เคยสัมผัส เธอจึงหาข้อมูลโดยการดูหนังแนวอาชญากรรม-สืบสวนสอบสวน และค้นหาสารคดีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคนโรคจิต ในขณะเดียวกันก็คิดว่ามันจะสมจริงที่สุดก็ต่อเมื่อบทหนังหรือซีรีส์เรื่องนั้นคล้ายกันกับเรื่องจริงมากที่สุดเท่านั้น
ที่มา: ภาพยนตร์เรื่อง The Chaser
“ในบรรดาหนังเกาหลีที่ฉันดูเพื่ออ้างอิง เรื่อง The Chaser ซึ่งเป็นผลงานที่มีชื่อเสียง และสร้างจากคดีที่โด่งดังมากในเกาหลีที่เรียกว่าคดี ยูยองชอล เมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้ ฉันคิดว่านักเขียนบทคนนี้ได้ศึกษามามากจริง ๆ ทำให้ฉันรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาบ้าง ดังนั้น ฉันจึงพยายามสร้างรายละเอียดเหล่านี้ด้วยตัวเอง โดยการดูวิดีโอสารคดี อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการสัมภาษณ์ฆาตกร รวมทั้งสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาพยนตร์ นั่นคือวิธีที่ฉันสร้างตัวละครขึ้นมา”
คุณสรรัตน์เสริมในประเด็นนี้ว่า วิธีการเขียนบทแบบคุณชเวรัน ซึ่งในหนังหรือซีรีส์เกาหลีนิยมใช้วิธีนี้ เรียกว่าการหาโปรโตไทป์ นั่นคือการรีเสิร์ชคาแรกเตอร์แล้วก็สรุปออกมาเพื่อนำข้อมูลมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างตัวละคร เพราะฉะนั้น เราจะเห็นข้อมูลเชิงลึกที่เป็นลักษณะ Deep Character ที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการสร้างคาแรกเตอร์ที่เป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และลักษณะเด่นบางอย่างของคาแรกเตอร์ตัวละครในเรื่องได้
การเขียนบทไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว
จากเรื่องคาแรกเตอร์ตัวละคร คุณสรรัตน์ยังชวนพูดคุยถึงประเด็นถัดมา สําหรับนักเขียนบทสาย Plot-Driven ที่ชอบเดินเรื่องด้วยพล็อตหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องเป็นหลัก ว่ามีกลยุทธ์ในการเล่าเรื่องอย่างไรที่ทําให้เรื่องของเราโดดเด่นกว่าซีรีส์เรื่องอื่น คุณชเวรันบอกว่าเธอไม่ได้ยึดแนวทางการเขียนตามทฤษฎีในตำราหรือคู่มือสอนการเขียนบท
“เมื่อฉันเขียนบทละคร ฉันจะวางแผนเรื่องก่อนแล้วจึงคิดว่าตัวละครตัวไหนจะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการทำเช่นนั้น ตัวละครจะถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติและผลงานของฉันส่วนใหญ่เนื้อเรื่องมักจะมืดมน ฉันจึงใช้เทคนิคใส่ตัวละครตลกเพิ่มเข้าไป เพื่อทำให้บรรยากาศในเรื่องไม่มืดมนจนเกินไปนัก”
ทั้งนี้ คุณชเวรันบอกว่า งานของนักเขียนไม่ใช่การสอนประชาชนผ่านบทละคร ดังนั้น เธอจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะบอกว่าสิ่งนี้ถูก สิ่งนี้ผิด หรือนี่คือคำตอบที่ถูกต้อง แต่คนเขียนบทควรอยากจะพูดถึงประเด็นที่ต้องการผ่านซีรีส์ โดยไม่ใช้วิธีการเล่าแบบตรง ๆ ที่ผู้ชมดูเพื่อความสนุกสนานแล้วรู้สึกผิดหวังในตอนท้าย เธอจึงกำหนดกลยุทธ์ในการเขียนบทโดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ โดยให้ผู้ชมไม่รู้สึกโดยตรงว่าผู้เขียนต้องการบอกแบบนั้น แต่ใครก็ตามที่เห็นก็จะรู้สึกได้ และถึงแม้ว่าจะดูละครเรื่องเดียวกัน ผู้ชมแต่ละคนก็อาจมีความรู้สึกแตกต่างกันไป
คุณชเวรันยกตัวอย่างซีรีส์เรื่อง Mouse ที่เธอเขียนบทว่าตอนแรกตัวละครหลักของเรื่องนี้เป็นตำรวจที่เก่งมาก จู่ ๆ ในตอนที่ 6 เขาก็เกิดเรื่องไม่คาดคิด และเมื่อเรื่องราวดำเนินไป ความจริงก็ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อเธอวางแผนเขียนบทเรื่องนี้ และแสดงให้บริษัทผู้ผลิตดู หลายคนคิดว่าเพื่อให้ดึงดูดใจผู้ชมควรเอาไปไว้เปิดในตอนแรก แล้วค่อยเล่าเรื่องทีหลัง แต่ถ้าหากแสดงมันไว้ตั้งแต่ต้น แม้ว่าจะมีพลังจนมีคนเข้ามาดูมากขึ้น แรก ๆ อาจจะสนุกและเข้มข้น แต่ก็แสดงให้เห็นส่วนสำคัญของเนื้อเรื่อง ทำให้คนดูไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจตัวละครนั้นได้ เธอจึงต้องใช้เทคนิคในการเขียนบทอีกแบบหนึ่ง เพื่อให้สามารถแสดงถึงอารมณ์ของตัวละครหลักต่อคนดูได้ โดยไม่กระทบต่อปมเรื่อง
ที่มา: ซีรีส์เรื่อง Mouse
“เมื่อฉันเขียนบทซีรีส์ ฉันจะเริ่มเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่ต้น แล้วระเบิดด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามมา ตัวละครหลักและผู้คนรอบตัวเขาจะถูกเปิดเผยอย่างเป็นธรรมชาติ และผู้ชมจะได้รู้จักตัวละครโดยการติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนที่คดีจะคลี่คลาย เราก็พยายามดำเนินเรื่องให้รวดเร็วโดยโยนคดีต่อไปล่วงหน้า”
แน่นอนว่าข้อเสียของวิธีนี้ก็คือ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ชมที่จะติดตามการดำเนินเรื่องต่อไปได้ทัน โดยยังไม่ได้แยกแยะเรื่องราวให้ครบถ้วน แต่ในทางกลับกัน เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายและความสัมพันธ์มีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้ชมจะมีสมาธิมากขึ้น จุดอ่อนคือการเขียนบทสไตล์นี้ไม่ใช่ซีรีส์เบา ๆ ที่เหมาะจะดูในขณะที่ทำกิจกรรมอื่น ๆ ไปด้วยได้ เพราะค่อนข้างต้องโฟกัสกับเนื้อหาพอสมควร
“หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของบทละครหรือซีรีส์ในความคิดของฉัน โดยเฉพาะแนวดราม่า คือการเรียบเรียงโครงสร้างและจัดองค์ประกอบในเรื่อง เรื่องราวอาจมีเนื้อหาเข้มข้น เรียบง่าย หรือน่าเบื่อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณจัดโครงสร้างอย่างไร สิ่งที่นักเขียนหลายคนยังขาดไปก็คือ พวกเขารักษาองค์ประกอบให้เรียบง่ายมากเกินไป แม้จะมีผู้ชื่นชอบซีรีส์แนวนี้มากมายในเกาหลี แต่ก็มีความคาดหวังและตั้งมาตรฐานไว้สูงมากเช่นกัน ดังนั้น เมื่อคนที่คุ้นเคยกับซีรีส์แนวนี้ของต่างประเทศได้ดู หากพวกเขาพบว่าคุณภาพไม่ดี ก็จะโทษผู้เขียนบท ฉันคิดว่าการวางแผนเชิงกลยุทธ์สำหรับการเขียนบทซีรีส์คือการจัดองค์ประกอบในเรื่อง ดังนั้น ฉันจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสิ่งนี้”
คุณสรรัตน์ชี้ให้เห็นว่า มีจุดที่น่าสนใจหลายประเด็นคือ ถึงแม้ว่าทางคุณชเวรันจะบอกว่าไม่ได้อ้างอิงทฤษฎีโครงสร้างการเขียนบท 3 องก์ (3-Act Structure) แต่สิ่งที่เธอพูดถึงเป็นทฤษฎีเรื่อง Structure of Feeling ที่เป็นโครงสร้างความรู้สึกเชิงลึกที่เกี่ยวกับการทําความเข้าใจเรื่องจิตวิเคราะห์ของผู้ชม ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจมาก เพราะปกติแล้วเวลาเราทําบทให้เรื่องส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนดู นำไปสู่ Audience Analysis หรือการวิเคราะห์กลุ่มผู้ชมที่เป็นเรื่องสําคัญในการทำงานเชิงพาณิชยศิลป์
นักเขียนบท VS ผู้กำกับและนายทุน
คุณสรรัตน์ตั้งคำถามต่อจากประเด็นที่คุณชเวรันพูดถึงตัวละครเอกที่ค่อนข้างมีตําหนิ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นแอนตี้ฮีโร่ ซึ่งช่วงหลังในซีรีส์เกาหลีพบว่ามีกลุ่มตัวละครหลักแนวนี้มากขึ้น เธอคิดว่าอะไรที่ทําให้คาแรกเตอร์หลักที่มีลักษณะของความบกพร่องแบบนี้เป็นที่นิยมในปัจจุบัน
คุณชเวรันกล่าวว่า ในอดีตซีรีส์ที่มีตัวละครพิการหรือหัวข้อเฉพาะ ถือเป็นเรื่องต้องห้ามในเกาหลี เรื่องราวดังกล่าวไม่ได้รับการกล่าวถึงในแง่ดี เนื่องจากกังวลว่าอาจทำให้ผู้ชมไม่สบายใจได้ แต่ตอนนี้ตลาดซีรีส์เกาหลีได้ขยายออกไป และการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์ม OTT (Over-The-Top) และช่องทางใหม่ ๆ ก็นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เช่น ละครที่ออกอากาศทางช่องที่ไม่ใช่กระแสหลักที่เรียกว่า ENA ที่เนื้อหาสามารถครอบคลุมหัวข้อได้กว้างกว่าการออกอากาศทางช่องทีวีสาธารณะที่มีอยู่ในอดีต เดิมทีซีรีส์เกาหลีเป็นละครที่อนุรักษ์นิยมมาก และมีเรื่องราวมากมายที่ไม่สามารถบอกเล่าได้ แต่ตอนนี้เธอคิดว่ามีการสร้างสภาพแวดล้อมให้นักเขียนสามารถสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ได้อย่างกล้าหาญมากขึ้น
ที่มา: ซีรีส์เรื่อง Black ผลงานการเขียนบทของคุณชเวรัน ที่เคยฉายทั้งช่องทีวีของเกาหลีใต้และสตรีมมิงแพลตฟอร์ม
แน่นอนว่ายังมีข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานีโทรทัศน์สาธารณะ เช่น KBS, MBC และ SBS ที่มีข้อจำกัดที่เข้มงวดมาก ถึงแม้ว่าเสรีภาพในการแสดงออกจะมีมากขึ้นบนแพลตฟอร์ม OTT ทั่วโลก เช่น Netflix แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ดี เนื่องจากนักเขียนบางคนไม่สามารถทำงานบน Netflix ได้ คุณสรรัตน์จึงถามต่อถึงกระบวนการทำงานในการเขียนบทร่วมกับโปรดิวเซอร์หรือผู้กํากับ รวมถึงเธอมีวิธีการแก้ไขปัญหาและก้าวข้ามอุปสรรคในการทํางานอย่างไร
คุณชเวรันบอกว่า การเขียนบทภาพยนตร์ไม่ได้มีปัญหามากนัก แต่ส่วนที่ยากคือการตัดบทให้สั้นลง เพราะเธอเขียนเรื่องราวมากเกินไป และปัญหาอีกอย่างคือการมีความขัดแย้งกับผู้กำกับ ปกติแล้วเธอจะเขียนบทประมาณ 6 ตอน ก่อนที่จะเริ่มคัดเลือกนักแสดง จากนั้นผู้กำกับจึงเข้ามา อีกฝ่ายอาจเสนอความเห็นให้แก้ไขบทแล้วส่งผลกระทบต่องาน เธอจึงต้องพยายามโน้มน้าวหรือประนีประนอมให้ลงตัว บางครั้งในกรณีเหล่านี้อาจเกิดปัญหาและทำให้งานเสียหายในที่สุด ในฐานะนักเขียนบทบางครั้งก็ทำให้เธอสงสัยว่าควรทำงานต่อไปหรือไม่
ที่มา: ซีรีส์เรื่อง Black
“ในการทำซีรีส์ บทไม่ใช่งานสุดท้าย แต่เป็นเพียงงานเริ่มต้นเท่านั้น ผลงานที่สมบูรณ์จะถูกสร้างขึ้นก็ต่อเมื่อมีการถ่ายทอดผ่านกระบวนการกำกับและตัดต่อของผู้กำกับเท่านั้น แต่ถ้าบทของฉันได้รับการแก้ไขมากเกินไป มันก็จะไม่ใช่งานของฉันอีกต่อไป ในกรณีเช่นนี้อาจขอให้ลบชื่อผู้เขียนบทออก แต่หากไม่ลบชื่อเครดิตและผลงานนั้นล้มเหลว ก็จะเป็นความผิดของผู้เขียนทั้งหมด”
อนาคตของนักเขียนบทในวงการบันเทิงเกาหลีใต้
คุณชเวรันบอกว่า คนส่วนใหญ่ที่ได้รับการเลื่อนขั้นสู่การวางแผนการผลิต หรือ Pre-Production จะมีรายชื่ออยู่ในตัวแทนของบริษัทกระจายเสียงและแพร่ภาพ (Broadcasting Corporation) หรือบริษัทผลิตภาพยนตร์ และนักเขียนมักจะติดต่อกับผู้กำกับ แม้ว่าผู้อำนวยการสร้างอาจจะติดต่อประสานงานกับนักแสดงและทีมงานในกองถ่าย แต่ผู้กำกับมักจะมีอำนาจควบคุมโดยรวม เนื่องจากนักเขียนมักเน้นไปที่การเขียนบทและไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำโดยตรง งานส่วนใหญ่จึงดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของผู้กำกับ
“แต่ในเกาหลีสถานการณ์จะแตกต่างออกไปเล็กน้อยสำหรับนักเขียนชื่อดัง นักเขียนเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อทุกสิ่ง ตั้งแต่การคัดเลือกนักแสดงไปจนถึงบทภาพยนตร์ มีหลายกรณีที่ผู้กำกับไม่สามารถบอกนักเขียนบทให้เปลี่ยนบทได้ง่าย ๆ ในตัวอย่างหนึ่ง ผู้กำกับที่มีชื่อเสียงด้านการตัดต่อบทและนักเขียนชื่อดังต้องทำงานร่วมกัน และกลายเป็นประเด็นร้อนว่าผู้กำกับสามารถตัดต่อบทของผู้เขียนได้หรือไม่ แต่สุดท้ายผู้กำกับก็เปลี่ยนบทไม่ได้เลย การแย่งชิงอำนาจเช่นนี้มักเกิดขึ้น และไม่ว่าสคริปต์จะเขียนได้ดีแค่ไหน แต่ถ้าคุณเป็นนักเขียนหน้าใหม่ก็ต้องพ่ายแพ้ในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจเหล่านี้”
คุณชเวรันเล่าว่า บางครั้งเมื่อคุณดูบทของนักเขียนหน้าใหม่ซึ่งเขียนได้ดีมาก แต่เมื่อออกอากาศจริงก็มีบางครั้งที่กลายเป็นละครที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าจริง ๆ ที่ได้เห็นสถานการณ์เช่นนั้น ด้วยเหตุนี้เธอจึงคิดว่ามีนักเขียนบทที่มีทักษะดี แต่ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ เพราะไม่ได้โชคดี หรือยังไม่มีชื่อเสียงมากพอที่จะต่อรองในการทำงาน
หลังจากผ่านประสบการณ์นี้มาก่อน คุณชเวรันยอมรับว่าเธอเคยคิดว่าจะเลิกเขียนบทซีรีส์ และหันมาเขียนนวนิยายแทน เพื่อให้งานเขียนของเธอสามารถถ่ายทอดสู่ผู้อ่านได้อย่างสมบูรณ์ แต่สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจทำต่อไป เพราะว่าชอบงานซีรีส์และภาพยนตร์ แม้อาจจะมีปัญหาระหว่างนักเขียนบทกับผู้กำกับบ้าง แต่เธอคิดว่าเพื่อประโยชน์ในการทำงานของทุกฝ่าย จึงควรที่จะมีการพูดคุยกันอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับการทำงาน และกลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีอีกครั้งเมื่อกระบวนการทำงานสิ้นสุดลง
คุณชเวรันยังได้สะท้อนถึงวงการบันเทิงเกาหลีใต้ให้ฟังว่าตลาดละครและซีรีส์เกาหลีเริ่มซบเซา การผลิตซีรีส์ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน และซีรีส์ที่เคยฉายทั้งในวันธรรมดาและสุดสัปดาห์ก็ค่อย ๆ หายไป เป็นเรื่องยากสำหรับนักเขียนบทที่จะหาเลี้ยงชีพ ดังนั้น เธอหวังว่าตลาดนี้จะกลับมาคึกคักอีกครั้งในอนาคต
ทั้งนี้ ในอดีตซีรีส์เกาหลีที่มีกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มอายุเคยได้รับความนิยม แต่ปัจจุบันซีรีส์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในขณะที่จำนวนละครที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นหรือคนดูวัย 20-30 ปีกำลังเพิ่มขึ้น ละครสำหรับวัยกลางคนก็ค่อย ๆ หายไป นอกจากนี้ แนวโน้มดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับรายได้จากการโฆษณาอย่างใกล้ชิด การผลิตละครสำหรับวัยกลางคนกลายเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไม่ดึงดูดโฆษณามากนัก และผลงานเช่นละครรายวันและละครสุดสัปดาห์ก็หายไป เนื่องจากไม่มีดาราดังที่มีแนวโน้มจะได้รับความนิยม ความสามารถในการทำกำไรจึงค่อนข้างต่ำ
“ฉันคิดว่านักแสดงอ่านเทรนด์ได้เร็วกว่าโปรดิวเซอร์ ในกรณีของฉัน มีการผลิตผลงานจำนวนมากที่ไม่ได้เกิดจากการที่สถานีโทรทัศน์หรือบริษัทผลิตภาพยนตร์เป็นผู้กำหนด แต่เป็นเพราะนักแสดงมีความสนใจและต้องการแสดง โดยพูดว่าบทนี้มีเอกลักษณ์และน่าหลงใหล หลายกรณีจึงจบลงด้วยการที่หนังหรือซีรีส์เรื่องนั้น ๆ ถูกตั้งโปรแกรมการฉายไว้ล่วงหน้า”
คุณสรรัตน์ยิงคำถามต่อไปว่าเทรนด์หรือแนวโน้มทิศทางของซีรีส์และภาพยนตร์เกาหลีในอนาคตเป็นอย่างไร คุณชเวรันแสดงความเห็นว่าหากดูจากสถานการณ์ล่าสุดและแนวโน้มการผลิตซีรีส์เกาหลี เธอคิดว่าเทรนด์ในอนาคตไม่ได้จำกัดอยู่เพียงประเภทเดียว แต่คอนเทนต์หลายประเภทจะได้รับความสนใจ อย่างในอดีตซีรีส์ประเภทต่าง ๆ เช่น แนวโรแมนติกคอเมดี้และเรื่องประโลมโลกมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซีรีส์ที่ซับซ้อนที่ผสมผสานระหว่างแนวโรแมนติกคอเมดี้กับระทึกขวัญได้รับความนิยมมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ดูเหมือนว่าจะตอบโจทย์ผู้ชมในตลาดซีรีส์ปัจจุบันได้ดี
การยกระดับอาชีพนักเขียนบทสู่ระดับสากล
อย่างที่ทราบกันดีว่านักเขียนบทเกาหลีได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ นับได้ว่าเป็นอันดับท็อปของเอเชีย นอกจากผลงานหลายเรื่องจะทำรายได้ติดอันดับ Box Office และได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์และเวทีระดับโลกมาแล้ว นักเขียนบทเองยังได้รับข้อเสนอให้มีโอกาสร่วมงานกับผู้ผลิตและบริษัทภาพยนตร์ในฮอลลีวูดด้วยเช่นกัน
คุณชเวรันก็เป็นหนึ่งในนักเขียนบทเหล่านั้น โดยผลงานของเธอ เช่น ซีรีส์เกาหลีแนวระทึกขวัญเรื่อง God's Gift: 14 Days ฮอลลีวูดได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปรีเมกเป็นซีรีส์อเมริกัน และเธอได้รับเครดิตร่วมในการเขียนบทเวอร์ชันใหม่นี้ด้วย
ที่มา: ซีรีส์เรื่อง God's Gift: 14 Days
“ช่วงนั้นบทที่เกี่ยวกับความรักของแม่ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในสหรัฐอเมริกา พวกเขากล่าวว่านักเขียนบทชาวอเมริกันไม่สามารถแสดงความรักของคนเป็นแม่ได้อย่างเหมาะสม และนั่นคือเหตุผลของการรีเมก เราไม่เพียงดูละครอาชญากรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชญากรรมเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญคือการพิจารณาความเป็นมนุษย์และถ่ายทอดเรื่องราวของมนุษย์ ดังนั้น ฉันจึงคิดว่านี่เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก แม้กระทั่งตอนที่สร้างซีรีส์เรื่อง Mouse ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ฉันหวังว่าจะรักษาอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เหล่านี้เอาไว้ได้ ผลงานของฉันอาจยังขาดบางด้านไป แต่ฉันหวังว่าองค์ประกอบนั้นจะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเมื่อนำกลับมารีเมกอีกครั้ง”
คุณสรรัตน์เสริมว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเด็นเรื่องวัฒนธรรม Oriental หรือความเป็นโลกตะวันออก อย่างเรื่องของสายสัมพันธ์แม่ลูกที่ว่ามา น่าจะเป็นจุดเด่นสำหรับคอนเทนต์ของเอเชีย มีซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องที่เน้นประเด็นเรื่องครอบครัวและผู้หญิง ซึ่งมีพลังดึงดูดผู้ชมได้เช่นกัน
ในช่วงท้ายได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมคลาสซักถามประเด็นที่สงสัย ซึ่งคุณชเวรันก็ได้ตอบทุกคำถามอย่างตั้งใจ พร้อมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการเขียนบทของเธอแบบไม่หวงวิชา นับได้ว่าเป็น Master Class การเขียนบทนักเขียนระดับมืออาชีพตัวจริง ทั้งวิทยากรผู้สอน ผู้เรียน และผู้ร่วมดำเนินการเสวนา ใครสนใจคลาสดี ๆ แบบนี้รอติดตามอัปเดตอีกครั้งในกิจกรรมภายใต้โครงการ Content Lab 2025 บอกเลยว่าพลาดไม่ได้!