อุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมภายใต้นโยบาย Cool Japan
ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศญี่ปุ่นเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตระหนักถึง การแข่งขันทางด้านราคาและการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรุนแรงในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกหลักของประเทศ โดยเหตุผลหนึ่งมาจากการลดลงของอัตราการเกิด ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในตลาดอุตสาหกรรมการผลิต อีกทั้งยังเกิดการแข็งค่าของเงินเยนที่ส่งผลให้ยอดการส่งออกสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นลดลง ถ้าหากญี่ปุ่นยังไม่สามารถหาวิธีรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้อาจจะทำให้เกิดการหดตัวในอุตสาหกรรม ยานยนต์และตามมาด้วยการว่างงานของแรงงานในประเทศจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นรัฐบาลก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและศักยภาพในการแข่งขันของมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่มาจากสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ รวมถึงการขยายตัวของภาคบริการภายในประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการส่งออกสินค้าที่มีรากฐานมาจากความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นออกไปยังตลาดโลกมากขึ้น จนเกิดเป็นนโยบาย “Cool Japan” ซึ่งมีแนวคิดการพัฒนาสินค้าและบริการของญี่ปุ่นที่ชาวต่างชาติมองว่ามีความพิเศษหรือ Cool พร้อมทั้งการสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการทูต เพื่อเตรียมพร้อมให้กับการต่อยอดและส่งออกสินค้าและบริการที่มีความเป็นญี่ปุ่นจากนโยบาย Cool Japan ไปสู่นานาประเทศทั่วโลก
ในประเทศญี่ปุ่นแม้จะไม่มีคำนิยามของ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ แต่ใช้คำว่า ‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ แทน ซึ่งทางกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) ได้ระบุว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คือ การใช้กลยุทธ์อำนาจอ่อน (Soft power) เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายของ การขับเคลื่อนและการพัฒนาทางธุรกิจ โดยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของญี่ปุ่นสามารถจำแนกออกเป็น 18 กลุ่มอุตสาหกรรม ตามรายงานของ Hakuhodo (as cited in Emiko & Kiyoshi, 2014, p. 5) ได้แก่ 1) โฆษณา 2) สถาปนิก 3) ศิลปะการแสดง 4) ศิลปะ 5) ออกแบบสร้างสรรค์ 6) ภาพยนตร์ 7) เพลงและวิดีโอ 8) โทรทัศน์และวิทยุ 9) ซอฟแวร์ และ คอมพิวเตอร์ 10) สิ่งพิมพ์ 11) ผ้าและเครื่องแต่งกาย 12) งานฝีมือ 13) ของเล่น 14) เฟอร์นิเจอร์ 15) เครื่องเรือนบนโต๊ะอาหาร 16) เครื่องเพชรพลอย 17) เครื่องเขียน และ 18) เครื่องหนัง
ความสำคัญของอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม ในฐานะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
เนื่องจากการที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เด่นชัดและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในระดับโลก รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งเล็งเห็นถึงข้อได้เปรียบนี้ จึงมีแนวคิดที่จะนำเอาเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าและบริการจากประเทศของตนไปสู่ตลาดโลกให้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในสินค้าสำคัญที่สามารถแสดงออกถึงความเป็นญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจนก็คือ งานฝีมือ (Crafts) ทั้งนี้ งานฝีมือของญี่ปุ่นยังมีรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากกว่า 100 ปี อีกทั้งงานฝีมือจำนวนมากยังคงไว้ซึ่งรูปแบบและวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม จึงถือว่าเป็นหนึ่งในสินค้าที่สามารถนำเสนอความเป็นญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้สินค้าจากงานฝีมือของญี่ปุ่นยังเป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกทั้งในด้านคุณภาพและการออกแบบที่ประณีต ตามที่ METI ได้กำหนดไว้ งานฝีมือในประเทศญี่ปุ่นถูกแบ่งออกเป็น 8 ประเภทหลัก คือ เครื่องปั้นดินเผา (Pottery) สิ่งทอ (Textiles) เครื่องแลค (Lacquerware) งานไม้ (Woodwork) เครื่องโลหะ (Metalwork) ตุ๊กตา (Dolls) กระดาษ (Paperwork) และประเภทอื่นๆ (Miscellaneous) ซึ่งในแต่ละประเภทเองก็จะถูกแบ่งย่อยออกไปอีกตามเทคนิคหรือกระบวนการเฉพาะตัวของ งานนั้นๆ อีกด้วย
ภาพรวมของรายได้รวม (หน่วย: พันล้านเยน) และจำนวนของแรงงานฝีมือ (หน่วย: พันคน) ในอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น
ที่มา: Creative industries: Reality and potential in Japan 2557
จากแผนภาพข้างต้น ถึงแม้ว่า อุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น (Traditional craft industries) ในภาพรวมระหว่างปี ค.ศ. 1990 – 2010 (พ.ศ. 2533 – 2553) จะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของรายได้รวมและจำนวนของแรงงานฝีมือ เนื่องการจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบ (Lifestyle) การดำเนินชีวิตประจำวันของคนในแต่ละยุคสมัย พร้อมทั้งการเข้ามาของสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีราคาถูกจากต่างชาติ อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในส่วนของกลุ่มงานฝีมือและหัตถกรรมนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญและระบุถึงประเด็นที่น่าสนใจว่า ถึงแม้มูลค่าของอุตสาหกรรมในภาพรวมจะลดลง แต่การส่งเสริมอุตสาหกรรมงานฝีมืออย่างต่อเนื่องจะช่วยในส่วนของการต่อยอดและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) โดยจะนำมาซึ่งความรู้ (Know-how) และทักษะฝีมือ (Skills) ที่มีความหลากหลาย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งอาจจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม หรือกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็เป็นได้ รวมถึงการเปิดตลาดงานฝีมือรูปแบบใหม่ ซึ่งการดำเนินงานภายใต้นโยบาย Cool Japan นอกจากจะเป็นการพัฒนางานฝีมือเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยแล้ว ยังเป็นการรักษาเอกลักษณ์และความรู้ ความเชี่ยวชาญแบบดั้งเดิมของงานฝีมือและหัตถกรรมของญี่ปุ่น ทั้งนี้ การสืบสานและพัฒนางานฝีมือและหัตถกรรมยังส่งผลกระทบไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ และชุมชมหรือสังคมในภาพรวม เช่น การสร้างแรงดึงดูดที่น่าสนใจสำหรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชนที่มีการทำงานฝีมือโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ (Artisans) ซึ่งการนำต้นทุนทางวัฒนธรรม (Cultural assets) เหล่านี้มาใช้ ยังช่วยให้การสืบสานทางวัฒนธรรมเป็นไปอย่าง เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในระยะยาวอีกด้วย ดังนั้น ผลลัพธ์ของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาพรวมของ กลุ่มอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม อาจจะไม่ได้นำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่เป็นผลกระทบที่ส่งผลไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น หรือการยกระดับของการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนและสังคมในภาพรวมของประเทศอีกด้วย
หน่วยงานที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ในการดำเนินการและขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบครอบคลุมหลายกระทรวง โดยได้มอบหมายให้กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economics, Trade and Industry: METI) เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของประเทศ ทำหน้าที่สนับสนุนการขยายกิจการของผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นไปยังต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุน ทางด้านเงินทุน ซึ่งภายใต้การดำเนินงานของ METI มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญ คือ สำนักอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing Industries Bureau) ดูแลในเรื่องของการผลิตและการพัฒนา ขีดความสามารถของธุรกิจ และสำนักนโยบายการค้าและข้อมูล (Commerce and Information Policy Bureau) จะดูแลในเรื่องของการตลาดและการสนับสนุนทางด้านการส่งออก เช่น การกระจายข่าวสาร การจัดกิจกรรมทั้ง ในระดับชุมชน ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ รวมถึงการจัดงาน Fair ทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ โดยมอบหมายให้ กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น (Ministry of Education, Culture, Sports and Technology: MEXT) เป็นผู้รับผิดชอบการพัฒนาบุคลากร ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับผู้ที่สนใจศึกษาต่อในสาขาที่เกี่ยวข้องของอุตสาหกรรรมสร้างสรรค์ในประเทศ รวมถึงการสนับสนุนโอกาสให้บุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่อยากจะต่อยอดความรู้ได้ ไปแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะและประสบการณ์กับบุคลากรที่มีความสามารถจากประเทศอื่นๆ ในระดับโลก
ในด้านของการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เฉพาะกลุ่ม อาทิ อุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมได้มี การจัดตั้งสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมงานฝีมือแบบดั้งเดิม (Association for Promotion of Traditional Craft Industries: DENSAN) ขึ้นมา เพื่อพัฒนาและส่งเสริมงานฝีมือและหัตถกรรมแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นให้มีมาตรฐานและคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมทั้งสนับสนุนในเรื่องของการส่งออกและการสร้างตลาดสินค้างานฝีมือทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ (Ministry of Foreign Affair) ทำหน้าที่นำเสนอวัฒนธรรมผ่านสถานทูตของญี่ปุ่นในต่างประเทศ รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์และการโฆษณาแบรนด์ ของประเทศญี่ปุ่น และกระทรวงการที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมและท่องเที่ยว (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism) ทำหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวยังประเทศญี่ปุ่นภายใต้แคมเปญ “Visit Japan” รวมถึงเอกชนที่เป็นอีกหนึ่งกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของญี่ปุ่น ซึ่งในการดำเนินงานของรัฐบาลที่กล่าวไปในข้างต้น จะเป็นปัจจัยช่วยส่งเสริม การพัฒนาธุรกิจของภาคเอกชนให้สามารถพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานและสามารถที่จะแข่งขันในตลาดโลก ภายใต้การอำนวยความสะดวกและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ทั้งนี้ยังเป็น การเชื่อมให้เป้าหมายของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนและภาครัฐเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
แนวทางในการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศ
นโยบาย Cool Japan เกิดจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการจะพัฒนาและเตรียมความพร้อมของ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สามารถสะท้อนความเป็นญี่ปุ่นได้ ก่อนจะส่งออกสินค้าและบริการเหล่านั้นไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่งคั่งของประเทศ (Increase National Wealth) โดยแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. การพัฒนาสินค้าและบริการที่สะท้อนความเป็นญี่ปุ่น และมีศักยภาพในการส่งออก (Combining Japanese Content and Consumer Goods) โดยคัดเลือกกลุ่มสินค้าหรืออุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ในการถ่ายทอดความเป็นญี่ปุ่นได้ และสามารถสร้างความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์หรือบริการทั่วไป ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนการจัดตั้งสมาคมหรือองค์กรเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างบริษัทขนาดใหญ่ที่มีประสบการณ์และบริษัทขนาดเล็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ
2. กระตุ้นกระแสญี่ปุ่นนิยมในต่างประเทศ (Creating Japanese Boom Overseas) ด้วยการแพร่ภาพและนำเสนอเนื้อหาความเป็นญี่ปุ่นผ่านสื่อต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมากมักจะเกิดจากการร่วมมือกับวิทยุและโทรทัศน์ท้องถิ่น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือในการปรับรูปแบบการนำเสนอวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่ส่งออกให้เหมาะสมกับตลาด เช่น การจัดทำสื่อและเนื้อหาที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นโดยมีการสอดแทรก อาหาร สถานที่ หรือภาษาสำหรับตลาดเป้าหมายเข้าไปอยู่ ในเนื้อหาเพื่อลดช่องว่างทางวัฒนธรรมและภาษา นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐของญี่ปุ่นยังส่งเสริม การรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับญี่ปุ่นผ่านทางช่องทางต่างๆ อาทิ การจัดทำรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอความเป็นญี่ปุ่นภายใต้ช่องโทรทัศน์ของสถานีท้องถิ่น การจัดงานนิทรรศการ เทศกาลหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นญี่ปุ่น การเชิญผู้มีอิทธิผลทางความคิด (Influencers) หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง (Celebrity) เข้าร่วมงานกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นเพื่อสร้างความเข้าใจในความเป็นญี่ปุ่น (Japanese Awareness) ตลอดจนจัดทำเว็บไซต์แนะนำความเป็นญี่ปุ่นด้วยเนื้อหาที่มีความน่าสนใจและสะท้อนความเป็นต้นตำรับของญี่ปุ่นได้ เป็นต้น
3. ขยายธุรกิจไปยังประเทศเป้าหมาย (Making Profits Locally) ซึ่งการที่ผู้ประกอบการจะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศได้นั้น จำเป็นต้องสำรวจช่องทางการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้า รวมถึงศึกษากฎระเบียบข้อบังคับและพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมายก่อนเป็นลำดับแรก ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเข้ามาเป็นตัวกลางในการอำนวยความสะดวกและประสานความเชื่อมโยงในการดำเนินธุรกิจ เช่น การจัดงาน ‘Cool Japan World Trial’ เพื่อสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทในต่างประเทศกับผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่น ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับร้านค้าปลีกและผู้จัดจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศเพื่อช่วย ในการกระจายสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังให้การสนับสนุนในการจัดงาน ‘Cool Japan Matching Grand’ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นที่ต้องการขยายความร่วมมือไปยังการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการภายใต้ความร่วมมือกับคู่ค้า ทั้งนี้เพื่อให้การลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในด้านการหาแหล่งเงินทุน ผ่านทางการจัดตั้ง Cool japan Fund เพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทญี่ปุ่นที่ไปเปิดธุรกิจเป้าหมายในต่างประเทศอีกด้วย
4. การดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้จ่ายยังประเทศญี่ปุ่น (Consuming in Japan) โดยภายหลังจาก การเกิดกระแสญี่ปุ่นนิยมและการกระจายสินค้าในต่างประเทศแล้ว หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในญี่ปุ่นจะดำเนินการส่งเสริมการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นในรูปแบบต่างๆ เช่น จัดงาน Tourism Festival เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ หรือจัดงาน International Exhibition เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ เป็นต้น
ภาพรวมกระบวนการและแนวทางการส่งออกวัฒนธรรมของญี่ปุ่นไปยังต่างประเทศ ภายใต้นโยบาย Cool Japan
จากขั้นตอนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ดังกล่าว ประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ภายใต้แนวทางดังกล่าว โดยใช้อุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นได้และมีศักยภาพในการขายสินค้าเหล่านี้ในตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา (Content) อุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion) อุตสาหกรรมอาหาร (Food) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น (Lifestyle) และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Tourism) โดยแต่ละอุตสาหกรรมมีแนวทางในการสื่อสารที่แตกต่างกัน ตามความเหมาะสมและบริบทในการส่งออก มีการสร้างกระแสญี่ปุ่นนิยมผ่านทางละครทีวี แฟชั่นโชว์ วาไรตี้โชว์ ฯลฯ ส่วนแนวทางการกระจายสินค้าของญี่ปุ่นสามารถทำได้ผ่านร้านค้า ร้านอาหาร นายหน้าต่างๆ นอกจากนี้ในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีพื้นที่ที่มีความเป็นต้นกำเนิดของอุตสาหกรรมหรือผลิตภัณฑ์และถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่แตกต่างกัน เช่น อากิฮาบาระสำหรับนักเล่นเกม ชิบูย่าสำหรับเสื้อผ้าวัยรุ่น ตลาดปลาซึกิจิสำหรับปลาดิบ เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นยังมีมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของญี่ปุ่นอีก 2 มาตรการ ได้แก่ การจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจหรือกิจการที่มีความเสี่ยง แต่มีความตั้งใจที่จะลงทุนและดำเนินธุรกิจ ในต่างประเทศในสาขาและแนวทางที่กำหนด และการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโดยรวมและช่วยแก้ไขปัญหาสำหรับกิจการของแต่ละบริษัทในสาขาที่สนับสนุนอีกด้วย
นโยบายสำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขางานฝีมือและหัตถกรรมของญี่ปุ่น
นโยบายในการพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมแบบดั้งเดิม (Traditional craft industries) หรือ Act on the Promotion of Traditional Craft Industries นั้น เริ่มมีการบังคับใช้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2517 เพื่อต่อสู้กับการเข้ามาของกลุ่มผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ที่มีราคาถูกจากต่างชาติ รวมถึงการลดลงอย่างรวดเร็วของการใช้สินค้าจากงานฝีมือและหัตถกรรมแบบดั้งเดิมของประชาชนในประเทศ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นที่นำโดย METI ได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมแบบดั้งเดิม ผ่านการดำเนินงานภายใต้โครงการต่างๆ รวมถึงการจัดตั้งสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมงานฝีมือแบบดั้งเดิม (Association for Promotion of Traditional Craft Industries: DENSAN) เพื่อดูแลและนำนโนบายไปปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มสินค้าจากงานฝีมือที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนและส่งเสริมของรัฐบาลญี่ปุ่น (DENSAN) มีมาตรฐานและคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงได้กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกสินค้าจากงานฝีมือแบบดั้งเดิมขึ้นมา 5 ข้อ ดังนี้
1. งานฝีมือต้องถูกใช้งานอย่างเป็นกิจวัตรในชีวิตประจำวัน
2. งานฝีมือต้องเคยถูกผลิตด้วยมือมาก่อน
3. กระบวนการการผลิตงานฝีมือต้องมีการใช้เทคนิคแบบดั้งเดิมที่มีอายุเกินกว่า 100 ปี
4. วัตถุดิบหลักในการผลิตงานฝีมือต้องไม่ถูกเปลี่ยนแปลงมาเกินกว่า 100 ปี
5. งานฝีมือนั้นต้องมีถิ่นกำเนิดที่ชัดเจนในระดับหนึ่งตามที่กำหนดไว้
โดยหากงานฝีมือใดมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง 5 ข้อ จะได้รับการรับรองจาก METI และ DENSAN ให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นสินค้างานฝีมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น และจะได้รับสิทธิพิเศษจากทางหน่วยงานของภาครัฐ ในการสนับสนุนการขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ การตั้งขายในร้านค้าพิเศษของรัฐบาล รวมไปถึง สิทธิพิเศษในการส่งไปจัดแสดงตามงานที่ต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งการตั้งข้อกำหนดเหล่านี้ ยังช่วยให้เกิดการสร้างมาตรฐานของสินค้าจากงานฝีมือแบบดั้งเดิมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่นที่ทั่วโลกรู้จักและให้การยอมรับ ในปี พ.ศ. 2561 สินค้าจากงานฝีมือแบบดั้งเดิมที่ได้รับการรับรองมีทั้งหมด 230 รายการ ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและพัฒนางานฝีมือยังสามารถส่งงานฝีมือประเภทต่างๆ เข้าสู่ระบบการคัดเลือกและรับรองได้อยู่เสมอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐของญี่ปุ่นนั้นเอง
สินค้างานฝีมือแบบดั้งเดิมที่ได้รับการรับรองของประเทศญี่ปุ่น
ที่มา: Association for Promotion of Traditional Craft Industries: DENSAN, 2561
นอกจากนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมของญี่ปุ่นภายใต้นโยบาย Cool Japan และ การดำเนินงานของสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมงานฝีมือแบบดั้งเดิมยังช่วยในการส่งเสริมซึ่งกันและกัน กล่าวคือ จากแผนการในส่วนแรกที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสินค้างานฝีมือให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น (Supply-Sided) ด้วย การยกระดับมาตรฐานของสินค้าผ่านข้อกำหนดต่างๆ ของ METI และ DENSAN พร้อมทั้งการสนับสนุนและส่งเสริมงานฝีมือแบบดั้งเดิม โดยการกระตุ้นอุปสงค์และการรับรู้ของผู้บริโภค (Demand-Sided) ผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องผ่านการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการสร้างเรื่องราว (Story telling) ให้กับสินค้า เพื่อเปลี่ยนจากประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นเรื่องราวของสินค้าที่จับต้องได้ง่ายขึ้น (History-to-Story) ซึ่งสามารถสังเกตุได้จากการตั้งชื่อสินค้างานฝีมือต่างๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งมักจะมีชื่อของภูมิภาคที่เป็นต้นกำเนิดหรือชื่อเทคนิคเฉพาะของงานฝีมือชิ้นนั้น เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ ผู้บริโภครับรู้ว่างานฝีมือชิ้นนี้มีความพิเศษและโดดเด่นมากกว่า งานฝีมือแบบอื่นในตลาดเดียวกันและยังสามารถสร้างความโดดเด่นและแตกต่างแก่สินค้าที่มีความคล้ายกันไม่ให้เกิดความสับสนได้อีกด้วย เช่น OJIYA-CHIJIMI และ OJIYA-TSUMUGI ในประเภทงานสิ่งทอ หรือ KAWATSURA-SHIKKI และ MURAKAMI-KIBORI-TSUISHU ในงานประเภทเครื่องถม (Lacquerware) ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถทางการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) และป้องกันไม่ให้เกิด Cannibalization กันในสินค้าที่มีความใกล้เคียงกัน
KAWATSURA-SHIKKI
MURAKAMI-KIBORI-TSUISHU
ทั้งนี้ ยังมีโครงการที่นำสินค้างานฝีมือที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นของที่เก่าแก่เข้ามาร่วมมือกับนักออกแบบ (Designer) สมัยใหม่ที่มีชื่อเสียง เพื่อที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ต่อสินค้างานฝีมือให้ดูทันสมัยและจับต้องได้ง่ายขึ้น โดยมี แนวความคิดที่ว่า “คนทั่วไปที่ไม่มีความรู้เรื่องศิลปะก็สามารถรับรู้ได้ว่ามีคุณค่า” เป็นต้น
สำหรับช่องทางในการโปรโมทสินค้าจากงานฝีมือและการส่งออกไปยังต่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐจะมี ส่วนช่วยเหลือในการนำเสนอสินค้าผ่านการจัดงานนิทรรศการ เทศกาล หรือกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น งาน Ambiente (เยอรมัน) งาน Milan Design Week (อิตาลี) เป็นต้น รวมถึงการเปิดโชว์รูมของ DENSAN ในต่างประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นตัวแทนผู้ประกอบการที่ไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป โดยสินค้างานฝีมือแบบดั้งเดิมที่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับสิทธิในการส่งสินค้าของตัวเองไปตั้งในโชว์รูมของทางสมาคมฯ ที่ใช้ชื่อว่า ESCAPE DENSAN ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่จัดแสดงสินค้าแล้วยังทำหน้าที่เป็นสถานที่ติดต่อซื้อขายสินค้า งานฝีมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นอีกด้วย และยังมีการจัดทำหน้าเว็บไซต์ให้มีรูปแบบภาษาอังกฤษเพื่อรองรับกลุ่มผู้บริโภค ชาวต่างชาติ เช่น เว็บไซต์ 100tokyo.jp ที่นำเสนอเรื่องราว สถานที่ และสินค้าในกรุงโตเกียว โดยมีการทำหน้า เว็บไซต์ที่รองรับทุกภาษา เป็นต้น
นอกจากการกระตุ้นอุปสงค์ในต่างประเทศแล้ว รัฐบาลยังมีการกระตุ้นอุปสงค์ของผู้บริโภคภายในญี่ปุ่น เช่นกัน โดยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2527 รัฐบาลได้กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งงานฝีมือแบบดั้งเดิม (Traditional Craft Products Month) ที่นอกจากจะมีการประชุมของบุคคลสำคัญในอุตสาหกรรมงานฝีมือ ก็ยังมีการจัดงานสังสรรค์ให้คนในแวดวงได้มาพบปะพูดคุยกัน และมีการจัด Workshop ให้ความรู้ตามร้านค้าตัวแทนของภาครัฐ พร้อมทั้งการจัดกิจกรรมที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น NIPPON QUEST ที่เป็นการแข่งขันเพื่อค้นหาสินค้าหรืออาหารที่ผู้บริโภคมีความพึงพอใจมากที่สุด ซึ่งหนึ่งในหมวดสินค้าที่แข่งขันกันนั้นก็คือ กลุ่มสินค้าจาก งานฝีมือ (Crafts) นั้นเอง
ในด้านของการพัฒนาบุคลากรในกลุ่มอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ โดยสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมงานฝีมือแบบดั้งเดิม (DENSAN) นั้น นอกจากจะก่อตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมตัวสินค้างานฝีมือแล้ว ยังก่อตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่จะเป็นศูนย์กลางของบุคลากรในแวดวงงานฝีมืออีกด้วย เหตุผลที่รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือในการสร้างศูนย์กลางขึ้นมา เนื่องจากอุตสาหกรรมงานฝีมือของญี่ปุ่นในอดีตนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยช่างฝีมือจากตระกูลช่างใหญ่ ซึ่งแต่ละตระกูลก็จะความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างในงานฝีมือของตัวเอง ซึ่งการที่รัฐบาลสร้างศูนย์กลางขึ้นมาและรวบรวมตระกูลช่างฝีมือทั้งเล็กและใหญ่เข้าไว้ด้วยกันนั้นจะสามารถส่งเสริมให้ช่างฝีมือจากตระกูลต่างๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและแบ่งปันองค์ความรู้ที่ตนเองเชี่ยวชาญ และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ในงานฝีมือไม่ให้หยุดนิ่งและไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ (Connection) ทั้งภายในแวดวงงานฝีมือชนิดเดียวกัน และระหว่างแวดวงงานฝีมือที่แตกต่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การรวมหน่วยตามแนวตั้ง (Vertical Integration) ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพและครบวงจร
นอกจากนี้ รัฐบาลภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น (Ministry of Education, Culture, Sports and Technology: MEXT) มีแผนการพัฒนาบุคลากรที่อยู่ในระบบอุตสาหกรรมงานฝีมือให้มีความสามารถในระดับมาตรฐานสากล ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนบุคคลที่จะกลายมาเป็นบุคลากรในอุตสาหกรรมงานฝีมือในอนาคตให้ได้เรียนรู้และพัฒนาฝีมือให้เป็นมืออาชีพ โดยได้ก่อตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลพันธกิจที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมโดยเฉพาะขึ้นมาคือ Agency for Cultural Affairs (BUNKA) เพื่อทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น โดยมาตรการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมงานฝีมือสามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเด็นหลัก ดังนี้
- การสนับสนุนและส่งเสริมช่างฝีมือ ด้วยการสร้างเครือข่ายระหว่างช่างฝีมือแขนงต่างๆ เพื่อให้เกิด การแบ่งปันองค์ความรู้ด้านศิลปะและงานฝีมือ จัดงานเทศกาลวัฒนธรรมระดับชาติที่มีจุดประสงค์ ในการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้เข้าร่วมงาน
- การสนับสนุนและส่งเสริมช่างฝีมือในอนาคต เช่น การออกนโยบายให้โรงเรียนมัธยมปลายทุกแห่งจัดงานวัฒนธรรมประจำปี เพื่อทำให้เยาวชนได้สัมผัสวัฒนธรรมและประเพณีของชาติจนไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่แปลกประหลาด และการสร้างห้องประดิษฐกรรม (Fabrication Laboratory: Fab Lab) ขึ้น โดยมีจุดประสงค์ให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องงานฝีมือและงานประดิษฐ์ ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการประดิษฐ์ ซึ่งที่ Fab Lab จะมีการเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็นไว้ให้ทั้งหมด และมีการเก็บค่าใช้จ่ายในการเข้ามาใช้งานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเครื่องมือที่ Fab Lab อำนวยความสะดวกไว้ให้นั้นมีทั้งเครื่องมือทั่วไปและเครื่องมือจำพวกเทคโนโลยีขั้นสูงที่หาใช้งานได้ยาก เช่น Laser Cutter, เครื่องพิมพ์สามมิติ ฯลฯ โดยในปัจจุบันนี้มี Fab Lab ถึง 12 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น
- การสร้างระบบเมืองศิลปะและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เป็นโครงการที่ถูกริเริ่มโดย UNESCO ในปี พ.ศ. 2557 ที่ต้องการจะสร้างเครือข่ายของเมืองสร้างสรรค์ เพื่อรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมไว้ในขณะเดียวกันก็ดึงเอาประโยชน์ของอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมออกมาให้ได้มากที่สุด โดยที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำหน้าที่ส่งเสริมนโยบายด้วยการสร้างเครือข่ายช่างศิลป์และช่างฝีมือภายในประเทศ แล้วจึงค่อยขยายไปสู่ระดับนานาชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลยังสร้างแรงจูงใจให้เกิดเมืองสร้างสรรค์ขึ้นด้วยการมอบรางวัลให้กับเมืองที่มีการสนับสนุนศิลปะและวัฒนธรรมอีกด้วย
- การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับนานาชาติ โดยการส่งบุคลากรที่อยู่ในแวดวงงานฝีมือไปเข้าร่วม งานนิทรรศการ เทศกาล หรือกิจกรรมต่างๆ ในระดับโลกเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ด้านงานฝีมือ และยังมีการส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านงานฝีมือไปเรียนรู้ที่ต่างประเทศเพื่อพัฒนาตนเองให้มีความสามารถมากขึ้น นอกจากนั้นภาครัฐก็ได้จัดตั้งเครือข่ายของบุคลากรในแวดวงงานฝีมือเพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การพัฒนาองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ และให้การสนับสนุนเครือข่ายสมาคมงานฝีมือมีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- การสนับสนุนลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา โดยการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึง และทำให้ลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญากลายเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายและแพร่หลายในหมู่ผู้ประกอบการ อีกทั้งยังมีการจัดทำหลักสูตรอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาให้กับผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมงานฝีมือ ซึ่งนโยบายที่กล่าวมา ได้มีการปรับใช้ให้เหมาะสมกับการค้าระหว่างประเทศด้วย
- การพัฒนาดูแลพิพิธภัณฑ์ โดยทาง Agency for Cultural Affairs จะทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในญี่ปุ่นผ่านการโปรโมทและให้ความสนับสนุนผ่านทางนโยบายภาครัฐ และให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่หรือได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น
โครงการที่น่าสนใจ
จากแนวทางการพัฒนาดังกล่าวข้างต้น ภาครัฐบาลและเอกชนได้ร่วมกันดำเนินการตามโครงการและแผนปฏิบัติการที่สามารถส่งเสริมทั้งการกระตุ้นอุปสงค์และการพัฒนาอุปทาน โดยมีตัวอย่างของโครงการที่น่าสนใจ คือ Craft Renaissance Project ‘WAO’ เป็นแผนปฏิบัติการของรัฐบาลญี่ปุ่นที่นำเอาทั้งนักออกแบบ ศิลปิน และผู้ดูแลแบรนด์ (Brand Curator) มารวมตัวกัน เพื่อพัฒนาภาพลักษณ์ของสินค้างานฝีมือญี่ปุ่นให้มีคุณค่า และ น่าค้นหา โดยมีกระบวนการดำเนินงาน ดังนี้
1. ระบบการประเมินสินค้า (Curation System / Evaluation) สินค้างานฝีมือจะถูกตรวจสอบ และเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญทางการประเมินสินค้า และนักออกแบบหรือศิลปินแนวหน้าก่อนที่จะ ถูกส่งออกไปสู่ตลาดผู้บริโภค
2. ค้นหาบุคลากรที่มีพรสวรรค์ ควบคู่กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Discovering Young Talents and Developing Human Resources) ผ่านการก่อตั้งเครือข่าย 47 Club E-Commerce ซึ่งจะรวบรวมข่าวสารเกี่ยวกับช่างฝีมือจากทั้ง 47 จังหวัดของญี่ปุ่นเอาไว้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการขยายตัวของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง
3. การส่งเสริมการพัฒนาด้วย ‘Select Shops’ (Promotion of Development using ‘Select Shops’ / High-End Department Stores) เนื่องจากร้านค้าต่างๆ ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นนั้น มีทั้งความเชี่ยวชาญ และเครือข่ายที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว สินค้างานฝีมือแบบดั้งเดิมจะถูกโปรโมทผ่านร้านค้าเหล่านี้อย่างจริงจังโดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภคระดับ High-End ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ
4. การพัฒนาการสื่อสารทางธุรกิจ (Development of Business Negotiations) เพื่อเจาะเข้าสู่ตลาด High-End รัฐบาลจึงเลือกที่จะใช้กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นช่องทางในการสื่อสารสินค้าของ Cool Japan เช่น งานฝีมือ อาหาร ฯลฯ
5. การเริ่มต้นการสื่อสารในต่างประเทศ (Initiations to Overseas Media/PR) โดยการเชื้อเชิญให้ผู้นำทางแฟชั่นและนักข่าวจากต่างประเทศได้เข้ามาสัมผัสกับประสบการณ์ที่เรียกว่า Cool Japan ในญี่ปุ่น ซึ่งจะนำไปสู่การรับรู้และตระหนักถึงแบรนด์และสินค้างานฝีมือของญี่ปุ่น (Raise Brand Awareness)
6. การจัดนิทรรศการและการขายสินค้าในญี่ปุ่นและต่างประเทศ (Exhibitions and Sales in Japan and Overseas) เพื่อชักชวนให้ผู้บริโภคต่างชาติโดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรปเกิดความสนใจในงานฝีมือของญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะ กลุ่มที่ชื่นชอบสินค้าสร้างสรรค์ และกลุ่มที่ชื่นชอบแฟชั่น
นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐยังมีการดำเนินโครงการและแผนปฏิบัติการที่เน้นการผลักดันอุตสาหกรรม งานฝีมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นอีกหลายโครงการ เช่น โครงการ Craft Meet Project ซึ่งเป็นการคัดเลือกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์จากงานฝีมือและหัตถกรรมของญี่ปุ่นที่มีความโดดเด่นจากภูมิภาคต่างๆ เพื่อนำเสนอคุณค่าและความงามของงานฝีมือ ตลอดจนคุณค่าของทักษะฝีมือและความเชี่ยวชาญของช่างฝีมือที่สืบทอดต่อกันมาของญี่ปุ่นไปสู่ระดับโลก ด้วยการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม งานฝีมือแบบดั้งเดิม ทำให้สินค้าจากงานฝีมือของญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและได้รับการยอมรับในตลาดระดับสากล
ปัจจัยความสำเร็จของการสนับสนุนเชิงนโยบายและการดำเนินของหน่วยงานภาครัฐ
จากการวิเคราะห์ของที่ปรึกษา ปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมงานฝีมือภายใต้นโยบาย Cool Japan มี 5 ประการ ได้แก่ การบริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรมให้เหมาะสมกับบริบททางสังคม (Cultural Capital Management) การบูรณาการแผนการพัฒนาระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Integrated Plan and Implementation) การนำเสนอในช่องทางที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ (Effective Presentation & Communication) และการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน โดยมีรายละเอียดจากการวิเคราะห์ ดังนี้
1. การบริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรมให้เหมาะสมกับบริบททางสังคม ถือเป็นกลไกสำคัญที่กำหนดแนวทางการในการใช้ทุนทางวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นให้ไปในทิศทางเดียวกัน รวมไปถึงการปรับใช้ทุนทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นให้เข้ากับบริบทของสังคมในประเทศเป้าหมาย (และประเทศญี่ปุ่นเอง) อีกด้วย เช่น ในตลาดทั่วไป (Mass) รัฐบาลจะสนับสนุนให้ศิลปินร่วมสมัย และนักออกแบบที่มีชื่อเสียงได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์หรือออกแบบสินค้างานฝีมือเพื่อที่จะทำให้สินค้างานฝีมือมีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย ไม่ดูเป็นสิ่งที่โบราณและตกยุค ในขณะเดียวกัน ในตลาดชั้นสูง (High-End) ก็สนับสนุนให้งานฝีมือ ได้กลายเป็นงานฝีมือแบบดั้งเดิมตามมาตรฐานของ METI เพื่อเพิ่มมูลค่าและทำให้ภาพลักษณ์ของงานฝีมือแบบดั้งเดิมเป็นสินค้าที่มีค่า มีคุณภาพ และคุ้มค่าแม้จะมีราคาที่สูงก็ตาม ทั้งนี้ นโยบายของญี่ปุ่นจะมีการกำหนดเป้าหมายของแต่ละนโยบายและลงรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนของแผนการไว้อย่างชัดเจน มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามที่ได้วางแผนไว้ เช่น การที่ METI ยังคงตรวจสอบและรับรองสินค้างานฝีมือที่ได้มาตรฐานให้กลายเป็นสินค้างานฝีมือแบบดั้งเดิมอยู่เรื่อยๆ
2. การบูรณาการแผนการพัฒนาระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเชื่อมโยงแนวทางการพัฒนานโยบาย Cool Japan เข้ากับแนวทางการขยายธุรกิจของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนในจุดที่ภาคเอกชนต้องการ ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนเองก็พร้อมที่จะปรับตัวและเข้าร่วมกับแผนปฏิบัติการที่ภาครัฐนำเสนอ ซึ่งทำให้เกิดการบูรณาการและการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพจากทุกภาคส่วน
3. การนำเสนอในช่องทางที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ ญี่ปุ่นทำการเผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวกับงานฝีมือของญี่ปุ่นด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทั้ง Hard Power และ Soft Power โดยส่งสารผ่านบุคคลที่มีชื่อเสียง สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อสมัยใหม่ (Online) โดยการสื่อสารเหล่านี้ จะถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมของประเทศปลายทางก่อน รวมถึงการเตรียมพร้อมให้ช่องทางสื่อสารภายในญี่ปุ่นเองสามารถที่จะรองรับกับผู้บริโภคจากชาติอื่นได้ด้วย ซึ่งการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับงานฝีมือของญี่ปุ่นมีหลายรูปแบบ เช่น การส่งสินค้างานฝีมือของญี่ปุ่นไปจัดแสดงตามงานนิทรรศการหรือเทศกาลต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การนำเสนองานฝีมือผ่านเว็บไซต์ 100 tokyo.jp ซึ่งรองรับการแสดงผลไว้หลายภาษา รวมถึงการส่งศิลปินและช่างฝีมือที่มีความสามารถไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศร่วมกับช่างฝีมือจากประเทศอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะฝีมือ ตลอดจนวัฒนธรรมระหว่างกันอีกด้วย
4. การกำหนดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน กล่าวคือ หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ดูแล การพัฒนาเศรษฐกิจเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่าง METI ได้วางแนวทางการพัฒนา ‘Platform’ จากการดำเนินนโยบายแบบ Top-down ที่มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจนในการสร้างอุปสงค์และอุปทานที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป้าหมายของประเทศ พร้อมทั้ง การสร้างสภาพแวดล้อม (Eco-system) ที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ รวมถึงการต่อยอดไปสู่การขยายช่องทางในการขายและการส่งออก ทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายสามารถเข้าสู่ Platform ชุดนี้ จากการส่งเสริมและสนับสนุนแบบ Bottom-up Development ซึ่งมักจะมาจากการดำเนินงานของหน่วยงานเฉพาะกลุ่ม อาทิ DENSAN ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องของการทำแผนปฏิบัติการหรือโครงการ เพื่อพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมงานฝีมือแบบดั้งเดิม ในการยกระดับผลิตภัณฑ์นั้นเอง
ที่มา: กรณีศึกษาต้นแบบที่ดีของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขางานฝีมือและหัตถกรรมในประเทศไทยจากการสัมภาษณ์เชิงลึก โดย บริษัทเอฟฟินิตี้ จำกัด จาก รายงานแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขา: งานฝีมือและหัตถกรรม, 2562