Research & Report

Creative Talk Session กับ 3 นักสร้างสรรค์จาก 3 อุตสาหกรรม แฟชั่น โฆษณา และภาพยนตร์ซีรีส์

ในงานประกาศรางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ประจำปี 2567 (Creative Excellence Awards 2024: CE Awards 2024) ในวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรมเสวนา Creative Talk Session โดย 3 วิทยากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยที่มีผลงานโดดเด่น ในหัวข้อ “Empowering Creativity: Unlocking Thailand’s Potential for Global Soft Power” หรือ “เสริมสร้างพลังความคิดสร้างสรรค์ ปลดล็อกศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่เวทีระดับโลก” ที่มาเล่าถึงการค้นหาแรงบันดาลใจ และนำแรงบันดาลใจนั้นมาสร้างสรรค์เป็นผลงานใน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ แฟชั่น โฆษณา และภาพยนตร์ซีรีส์ 

วิทยากรมากความสามารถทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ คุณภิพัชรา แก้วจินดา Co-founder ของแบรนด์ PIPATCHARA จากอุตสาหกรรมแฟชั่น คุณประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ Executive Creative Director และ Co-founder ของบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร จากอุตสาหกรรมโฆษณา และคุณศิวโรจณ์ คงสกุล ผู้กำกับภาพยนตร์และซีรีส์เรื่อง สืบสันดาน โดยบริษัท กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส จํากัด ตัวแทนจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ รายละเอียดสำคัญจากกิจกรรมเสวนามีอะไรบ้าง เรารวบรวมมาให้ในบทความนี้แล้ว

คิดจะรันวงการแฟชั่นสร้างสรรค์อย่างไรให้เป็นที่ยอมรับ และส่งผลเพื่อสังคม

คุณภิพัชรา แก้วจินดา ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ PIPATCHARA ได้กล่าวถึงจุดแข็งของแบรนด์ว่าคือการที่ PIPATCHARA มีจุดมุ่งหมายตั้งต้นว่าจะเป็น Fashion For Community (แฟชั่นเพื่อชุมชน) จนได้กลายเป็นที่ยอมรับและได้รับความสนใจไม่ใช่เฉพาะจากเรื่องของดีไซน์เท่านั้น แต่มีองค์ประกอบในเรื่องของการใช้วัสดุที่เน้นความยั่งยืนมาร่วมด้วย นอกจากนี้ทางแบรนด์ยังได้ทำงานกับชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งการได้พูดคุยกับคนในชุมชนก็เป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจอีกแหล่งหนึ่งเช่นเดียวกัน องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้แบรนด์ PIPATCHARA กลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ทำโฆษณายังไงให้โดนใจ ฟังแนวคิดใหม่ ๆ จากเจ้าของรางวัล Cannes Lions

คุณประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ Executive Creative Director และ Co-founder ของบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร ได้กล่าวถึงโฆษณา “สัมมากรไม่ใช่สรรพากร” ผลงานที่ชนะรางวัล Cannes Lions International Festival of Creativity รางวัลที่ใหญ่ที่สุดในวงการโฆษณา ซึ่งการจะได้รางวัล Cannes Lions นั้นแน่นอนว่ายากมาก แต่เอเจนซีไทยก็คว้ารางวัลนี้กันทุกปี เนื่องจากประเทศไทยของเรามีบุคลากรที่มีคุณภาพมากมาย จุดเริ่มต้นของแนวคิดของโฆษณา “สัมมากรไม่ใช่สรรพากร” นี้มาจากการที่คนทั่วไปไม่รู้ว่าสัมมากรเป็นแบรนด์เกี่ยวกับอะไร แม้ว่าจะทำโฆษณาที่มีเนื้อหาลึกซึ้งแค่ไหนคนทั่วไปก็ยังจดจำไม่ได้ โฆษณาตัวนี้จึงมีจุดมุ่งหมายในการสื่อสารให้แบรนด์สัมมากรเป็นที่จดจำในฐานะแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ที่ขายบ้าน และไม่ใช่หน่วยงานสรรพากรที่ทำหน้าที่เก็บภาษี เนื่องจากเคยมีคนสับสนชื่อแบรนด์กับหน่วยงานรัฐจริง ๆ คุณประสิทธิ์และทีมงานจึงตั้งใจว่าจะทำให้ตัวแบรนด์ไม่ดูสูงจนจับต้องไม่ได้ แต่ต้องมีระดับเทียบเท่ากับผู้บริโภค แม้จะกังวลว่าชาวต่างชาติอาจไม่เข้าใจข้อความที่โฆษณาต้องการจะสื่อ แต่ปรากฏว่าปัญหาการเรียกชื่อผิดนี้เป็นปัญหาที่มีร่วมกันทั่วโลก และเป็นการที่แบรนด์พลิกกลยุทธ์จากการทำให้แบรนด์ดูมีมูลค่าสูงส่ง ลงมาให้เท่ากับคนอื่น จึงกลายเป็นโฆษณาที่โดนใจคณะกรรมการกันถ้วนหน้านั่นเอง

สืบสันดาน ซีรีส์ไทย ๆ ที่โดนใจคนทั่วโลก

คุณศิวโรจณ์ คงสกุล ผู้กำกับภาพยนตร์และซีรีส์เรื่อง สืบสันดาน โดยบริษัท กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส จํากัด ได้กล่าวถึงซีรีส์เรื่อง สืบสันดาน ว่าเป็นการร่วมมือระหว่างกันตนาที่มีรากฐานเรื่องบทประพันธ์ที่มีคุณภาพ กับสตรีมมิงแพลตฟอร์ม Netflix ซึ่งนับว่ามีเม็ดเงินให้กับผู้ผลิต ผู้กำกับ และทีมงานได้สูงที่สุด ตอนที่ระดมความคิดเพื่อผลิตผลงาน คุณศิวโรจณ์นึกถึงการเล่าเรื่องความกดดันทางเศรษฐกิจที่เป็นสถานการณ์ในปัจจุบันที่ไม่ไกลตัวจนเกินไป และอยากจะทำอะไรที่เป็นออริจินัล ไม่ต้องกังวลว่าต้องเป็นแบบฮอลลีวูด บอลลีวูด หรือเกาหลี แต่เราจะเป็นไทยแบบไหนถึงจะไปได้ดี

คุณศิวโรจณ์กล่าวว่า ซีรีส์เรื่องนี้คือการซื่อสัตย์กับตนเอง ทำให้ไม่ต้องกลัวว่าจะมี References ของคนอื่นมาครอบ หรือมีการนำผลงานของคนอื่นมาใช้อย่างไม่ตั้งใจในเนื้องานนั่นเอง จุดแข็งของซีรีส์เรื่องนี้จึงไม่ใช่เพียงความคิดสร้างสรรค์ แต่เป็นการรู้จักตัวเองและนำมาประมวลผลว่าเรามีดีอะไรบ้าง คุณศิวโรจน์มีความคิดที่จะทลายเส้นแบ่งระหว่างงานศิลปะที่ถูกมองว่าเข้าถึงยาก กับละครที่ถูกมองว่าเข้าถึงง่ายมาโดยตลอด สืบสันดาน จึงเป็นซีรีส์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำลายพรมแดนเหล่านี้

ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปไกลระดับโลก

คุณภิพัชรากล่าวว่า การที่แบรนด์ PIPATCHARA เป็นที่พูดถึงมากขึ้น เนื่องจากใน 2-3 ปีที่ผ่านมามีการใช้ขยะกําพร้าจำพวกขยะรีไซเคิลมาทำเป็นชุดในคอลเล็กชัน ไม่ว่าจะเป็นฝาขวดน้ำ ขวดนมเปรี้ยว ช้อนส้อมพลาสติก ไปจนถึงพลาสติกบรรจุอาหารทั้งสีใสและสีดำ โดยแนวคิดนี้ต้องขอบคุณคุณทับทิม Co-founder ของแบรนด์ที่นำเสนอว่าเรื่องขยะนั้นจำเป็นต้องจัดการ จึงเกิดเป็นโครงการที่ทำร่วมกับวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ชื่อว่า “YOLO” โดยดูว่าเขามีขยะอะไรบ้าง และเป็นขยะที่มาจากครัวเรือนเท่านั้น เราสามารถเพิ่มมูลค่าของขยะเหล่านั้นได้มากขึ้น ในขณะที่ประชาคมโลกก็ให้ความสนใจเรื่องความยั่งยืนกันอยู่แล้ว แบรนด์ PIPATCHARA จึงเป็นการแสดงให้โลกเห็นว่าเมืองไทยก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังขอยกเครดิตให้เซเลบริตี้ที่หยิบคอลเล็กชันของแบรนด์มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นคุณลิซ่า Blackpink หรือคุณแอน แฮธาเวย์ นักแสดงฮอลลีวูด และอีกหลาย ๆ ท่าน

ด้านคุณประสิทธิ์มองว่า โฆษณาไทยไประดับโลกกันมาโดยตลอดแต่คนอาจจะไม่ค่อยรับรู้ ด้านฝีมือนั้นคนไทยเรามีกันอยู่แล้ว แต่ค่าแรงของโปรดักชันโฆษณาในไทยยังต่ำอยู่ จึงมองว่าการที่จะต่อยอดวงการโฆษณาให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศได้นั้น ศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ดี ๆ อยู่ในร่างกายกับคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นสวัสดิการที่ดีของคนทำงานจึงสำคัญมากที่จะช่วยส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ในวงการโฆษณา

ด้านคุณศิวโรจณ์เสริมว่า แรงสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญแต่มักจะขาดความต่อเนื่อง และไม่ควรส่งเสริมแบบหว่านแหเพื่อเน้นปริมาณ โดยอาจจะลดจำนวนเรื่องที่สนับสนุน แต่เพิ่มทุนเพื่อให้นักสร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้นได้

ทั้งหมดนี้คือมุมมองของ 3 นักสร้างสรรค์ไทยจาก 3 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่โดดเด่นและน่าจับตามองในปีนี้ ที่เราเชื่อว่าจะเป็นกำลังขับเคลื่อนการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้คนทั้งโลกได้รู้จัก และอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือการผนึกกำลังและความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนนักสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อให้พวกเขาได้รังสรรค์ผลงานที่ทั้งสร้างสรรค์และสอดรับกับเทรนด์โลก โดยที่ยังคงไว้ซึ่งดีเอ็นเอของตนเองได้อย่างแท้จริง