ส่องผลกระทบทั้งบวกและลบ “หลังม่านแฟชั่นวีค”
เม็ดเงินมหาศาลสะพัดงานแฟชั่นวีค (Fashion Week) หลักหมื่นล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่าแสนคน แต่โลกยังต้องการคำอธิบายจากบิ๊กอีเวนต์นี้ ในเรื่องผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
ช่วง ม.ค. - ก.พ. ของทุกปี เมืองสำคัญต่าง ๆ ทั้งปารีส มิลาน และนิวยอร์ก กำลังเริ่มต้นสัปดาห์แฟชั่นของตน เป็นเวทีสำคัญสำหรับการเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ ดึงดูดนักออกแบบ นางแบบ อินฟลูเอนเซอร์ และแฟชั่นนิสต้าทั่วโลกมาร่วมกันอัปเดทเทรนด์ สไตล์ สี สิ่งทอ เทคนิคการพิมพ์ วัสดุ หรือแม้แต่เทรนด์ความงามที่จะเกิดขึ้นในฤดูกาลข้างหน้า ซึ่งไม่เพียงนำเสนอกระแส ความเย้ายวนใจ และภาพลักษณ์ที่หรูหราเท่านั้น แฟชั่นวีคยังมีส่วนช่วยทำให้เมืองมีชีวิตชีวาขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ภาคการค้า ท่องเที่ยว บริการ และสื่อ
https://www.timeout.com/newyork/shopping/fashion-week
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
แฟชั่นวีคทำหน้าที่เป็นเวทีปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ดึงดูดความสนใจจากทั่วโลกไปยังนักออกแบบท้องถิ่น สร้างผลกระทบทวีคูณขยายวงไปไกลกว่าการแสดงโชว์บนรันเวย์
- ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน แฟชั่นวีคมีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นของเมืองเจ้าภาพ ยกตัวอย่างเช่นงาน New York Fashion Week (NYFW) รายงานจาก Zoe Report พบว่าแฟชั่นวีคประจำปี สามารถสร้างรายได้เข้าสู่เมืองถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งสูงกว่าการจัดการแข่งขันเทนนิส U.S. Open หรือ Super Bowl โดย NYFW สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมงานได้กว่า 232,000 คน สร้างการจ้างงานราว 180,000 ตำแหน่ง ในสาขาอาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่ออร์แกไนเซอร์ ช่างแต่งหน้า ไปจนถึงคนจัดเลี้ยงและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อย่างไรก็ตามผลกระทบจาก NYFW ไม่ได้มีเฉพาะในวงการแฟชั่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ของเมือง เกิดการลงทุนและกระตุ้นการบริโภคในท้องถิ่น โรงแรมมักถูกจองจนเต็ม และธุรกิจในท้องถิ่น เช่น ร้านอาหาร ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นในระหว่างการจัดงาน
- ผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรม แฟชั่นวีคนำพามาซึ่งกลุ่มคนที่หลากหลายเชื้อชาติ เพศสภาพและวัฒนธรรม เข้ามาทำงานด้วยกัน หนีไม่พ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ตลอดจนการใช้แฟชั่นวีคเป็นแพลตฟอร์มอันทรงพลังในการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยมักเน้นย้ำในประเด็นที่กำลังเป็นกระแสในระดับโลก เช่น ความยั่งยืน ความหลากหลาย และทัศนคติเชิงบวกต่อร่างกาย ส่งอิทธิพลต่อบรรทัดฐานและค่านิยมทางสังคม
อินฟลูเอนเซอร์ ตัวแปรดึงดูดความสนใจสู่แฟชั่นวีคและสนับสนุนกระแสบริโภคนิยม
การเกิดขึ้นของยุคอินฟลูเอนเซอร์ถือเป็นจุดเปลี่ยนของวงการ จากเดิมที่ฟรอนต์โรว์เคยสงวนไว้สำหรับสื่อแฟชั่นหรือ Buyer แต่ปัจจุบันเต็มไปด้วยเหล่าคนดังที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น Muse ของแบรนด์ อินฟลูเอนเซอร์มีส่วนช่วยเพิ่มการรับรู้ให้กับแบรนด์และงานแฟชั่นวีค สร้างบทสนทนาและการแชร์ข้อมูลเพิ่มการมองเห็นในตลาด เป็นสะพานเชื่อมระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการแต่งตัวตาม และกระตุ้นยอดขายสินค้าแฟชั่นผ่านสื่อโซเชียล ทุกวันนี้เราจะสังเกตได้จากการปรากฏตัวของเหล่านักร้องนักแสดงชาวเอเชียในงานแฟชั่นวีคแต่ละครั้ง สร้างมูลค่าเพิ่มและนำมาซึ่งยอดซื้อจากเหล่าแฟนคลับได้มหาศาล
https://www.koreaboo.com/news/han-so-hee-unreleased-pictures-paris-fashion-week-leaves-netizens-shook
ตัวอย่างจากงานล่าสุด “Paris Haute Couture Week 2024” เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา นักแสดงหญิงชาวเกาหลีใต้ Han So-hee ซึ่งโด่งดังจากซีรีส์เรื่อง Gyeongseong Creature ได้ปรากฏตัวที่โชว์ของ Dior คอลเล็กชันเสื้อผ้าชั้นสูงฤดูกาล Spring/Summer ในฐานะ House ambassador ของแบรนด์ รายงานจาก Lefty เว็บไซต์จัดเก็บข้อมูลด้านแฟชั่น ได้ทำการคำนวณมูลค่าทางสื่อ (Earned Media Value: EMV) จากโพสต์ที่เธอร่วมชมโชว์คอลเล็กชันล่าสุดบนอินสตาแกรม ตีมูลค่าได้สูงถึง 6.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 220 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า อินฟลูเอนเซอร์และผู้ติดตามเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อตลาดสินค้าแฟชั่นทั่วโลก ดันกระแสบริโภคนิยมให้เติบโตต่อเนื่องสวนทางกับสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะความตึงเครียดระหว่างประเทศ ข้อมูลจาก Statista Market Insights ประเมินว่ารายได้ในตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยปี 2024 คาดการณ์จะสูงไปแตะ 62.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโตสะสม (CAGR 2024-2028) อยู่ที่ 8.21% ซึ่งตัวเลขรายได้นี้มาจากการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคราว 2.8 พันล้านคนทั่วโลก โดยทวีปเอเชียครองสัดส่วน 44.3% ของตลาดโลก
เมื่อแฟชั่นวีคถูกตั้งคำถามเรื่องความยั่งยืน
การจัดงานแฟชั่นวีคแต่ละครั้ง ผลักให้เกิดข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ความหรูหราของการจัดงานที่เหล่าแบรนด์ต่าง ๆ งัดออกมาดึงดูดความสนใจ สวนทางกับกระแสโลกที่เรียกร้องเรื่องความยั่งยืน ไม่แปลกที่งานอย่างแฟชั่นวีคย่อมถูกตั้งคำถามถึงการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น นักเคลื่อนไหวหลายคนชี้ให้เห็นว่าสัปดาห์แฟชั่นเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและก่อให้เกิดมลภาวะมากมาย การแสดงโชว์แต่ละครั้งก่อให้เกิดขยะปริมาณมหาศาล ใช้พลังงานสูง และปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจากการขนส่งและการเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน รวมไปถึงส่งเสริมวัฒนธรรมฟาสต์แฟชั่นและการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน รากของปัญหาที่แท้จริงจากแฟชั่นวีคคือ การปลูกฝังเทรนด์แบบฉาบฉวยและส่งสัญญาณว่าเสื้อผ้าของฤดูกาลที่แล้วล้าสมัย ปรัชญานี้ไหลลงมาสู่แบรนด์ฟาสต์แฟชั่น เร่งผลิตเสื้อผ้าใหม่ออกมาวางขายอย่างรวดเร็ว เพื่อทันให้ผู้บริโภคทั่วไปได้ใส่เสื้อผ้าที่มีอินสไปร์มาจากรันเวย์หลังจบโชว์ รวม ๆ แล้วแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นในแต่ละปีผลิตเสื้อผ้าใหม่ราว 150 พันล้านชิ้นต่อปี
ตัวอย่างผลกระทบจากงาน NYFW แม้จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลแต่ก็สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมมากเช่นเดียวกัน จากการศึกษาในปี 2020 ประเมินความเสียหายจากแฟชั่นวีคว่า คาร์บอนไดออกไซด์ถูกปลดปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศในช่วงการจัดงานสัปดาห์แฟชั่นนิวยอร์กมากกว่า 240,000 ตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับความเสียหายของประเทศเล็ก ๆ คิดเป็น 37% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดต่อปี
การสร้างอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องถูกทบทวนและคิดใหม่ โดยเฉพาะแนวความคิดเรื่องเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นำไปสู่การผลิตเสื้อผ้าเกินความต้องการและสร้างขยะเพิ่มขึ้น แบรนด์แฟชั่นควรสร้างกฏเกณฑ์และปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติใหม่ เพื่อผลิตผลงานและโชว์ที่สอดคล้องกับกระแสความยั่งยืน เช่น ลดจำนวนวันจัดงาน ลดจำนวนแขก ลดความอลังการของการสร้างฉากประกอบโชว์ เป็นต้น
https://ww.fashionnetwork.com/news/Copenhagen-fashion-week-inks-sustainable-accord-with-zalando,1257465.html
Copenhagen Fashion Week (CPHFW) ต้นแบบความยั่งยืนที่ทุกรันเวย์ควรเอาอย่าง
CPHFW ปี 2023 ได้กำหนดมาตรฐานความยั่งยืนใหม่สำหรับกิจกรรมอย่างแฟชั่นวีค โดยออกข้อกำหนดและแนวปฏิบัติสำหรับแบรนด์ที่เข้าร่วม สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมแฟชั่นตามวิถีแห่งความยั่งยืน ข้อกำหนดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ CPHFW ในปี 2023-2025 มีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและการใช้ทรัพยากร ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวครอบคลุมในประเด็นสำคัญ 5 ประการ
- กลยุทธ์ แบรนด์จะต้องฝังวิถีปฏิบัติเรื่องความยั่งยืนและมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนไว้ในกลยุทธ์ของตน โดยคำนึงถึงความหลากหลายและความเท่าเทียมกันในการบริหารจัดการ
- การออกแบบ แบรนด์จำเป็นต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนและผ่านการรับรองอย่างน้อย 50% ของคอลเล็กชัน เป็นวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยจัดทำเป็นรายการวัสดุที่ใช้และรายการสารต้องห้ามตามข้อกำหนด EU REACH (https://environment.ec.europa.eu/topics/chemicals/reach-regulation_en) พร้อมกับแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงอายุการใช้งานของสินค้าด้วย เพื่อวางแผนมอบชีวิตที่สองให้กับสินค้าโดยไม่ทิ้งเป็นขยะให้เสียเปล่า
- สภาพการทำงาน แบรนด์จะต้องมีหลักปฏิบัติด้านแรงงานที่เป็นธรรม สภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ และเคารพความแตกต่างหลากหลายสำหรับพนักงานทุกคน ไม่เพียงแต่เฉพาะแบรนด์ของตนเอง แต่ยังต้องควบคุมไปถึงห่วงโซ่อุปทานของแบรนด์ด้วย
- การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค แบรนด์ต้องแน่ใจว่าได้สื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์และแผนปฏิบัติด้านความยั่งยืนของตนให้กับลูกค้าได้รับทราบในทุกแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับแฟนคลับของแบรนด์
- รันเวย์โชว์ แบรนด์ต่าง ๆ ต้องมั่นใจได้ว่ามีของเสียเป็นศูนย์จากการออกแบบฉากและอุปกรณ์ตกแต่งโชว์ โดยเน้นวัสดุที่รีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมไปถึงแบรนด์จะต้องหาวิธีชดเชยผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากงานโชว์ของตนด้วย
ข้อกำหนดด้านความยั่งยืนของ CPHFW นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยเป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนว่าความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ทำได้แต่รอไม่ได้ สามารถพิจารณารายละเอียดของข้อกำหนดได้ที่ copenhagenfashionweek.com/article/cphfw-publishes-its-2023-annual-sustainability-report
แฟชั่นวีคมีหลายแง่มุมให้ขบคิด เพื่อสร้างสมดุลระหว่างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและจัดการกับข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทย ด้วยทรัพยากรที่จำกัดอาจต้องกลับมาทบทวนการจัดงานแฟชั่นวีคประจำปีของเรา จะเลือกเดินไปสุดทางปั่นกระแสบริโภคนิยมเพื่อเป็นหนึ่งในเมืองแฟชั่นโลก หรือเลือกที่จะชูเรื่องความยั่งยืนเป็นแกน พร้อมพัฒนาสู่งานต้นแบบให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นในอาเซียนได้เดินตาม ดึงดูดแบรนด์ดัง ๆ ทั่วอาเซียนมาร่วมสร้างความคึกคัก แต่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้น้อยที่สุด
ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Information Center: CIC)