Research & Report

“สำรับอาหารสายมู” ความเป็นไปได้ใหม่ ชูอาหารสุขภาพไทยสู่ตลาดโลก

ทุกจานมีเรื่องราว อาหารไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสะท้อนถึงวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และแนวคิดเกี่ยวกับสมดุลของธรรมชาติ หลักการกินตาม “ธาตุ” ดิน น้ำ ลม และไฟ มีผลให้เกิดรสชาติและส่วนผสมเฉพาะของอาหาร ไทยควรดันภูมิปัญญานี้ สร้างแนวทางการนำเสนออาหารเพื่อสุขภาพที่มีเสน่ห์ แตกต่างในตลาดโลก

ข้าวปลา หยูกยา คำโบราณที่มักใช้คู่กัน บ่งบอกวิถีของบรรพบุรุษในการใช้อาหารเป็นยา วิธีจัดการกับวัตถุดิบท้องถิ่นตามฤดูกาลที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ด้วยเชื่อว่าวัตถุดิบอาหารจะเปลี่ยนไปตามจังหวะของธรรมชาติ หลักการกินตาม “ธาตุเจ้าเรือน” มีที่มาจากตำราแพทย์แผนไทยที่สืบทอดกันมา เน้นการผสานสรรพรส สร้างสรรพคุณให้เกิดความกลมกลืนในอาหารทุกคำ เลือกใช้วัตถุดิบอาหารที่เหมาะสมกับธาตุเจ้าเรือนของตนเองเพื่อเสริมสุขภาพและภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย มรดกเหล่านี้ถูกถ่ายทอดลงในเมนูอาหารที่เรากินกันในปัจจุบันโดยไม่รู้ตัว เช่น ต้มยำ อาหารธรรมดาสามัญ ที่ประกอบไปด้วยความร้อนจากพริก (ธาตุไฟ) ความเปรี้ยวจากมะนาว (ธาตุลม) ความเข้มข้นของเห็ด (ธาตุดิน) และความเย็นจากน้ำซุป (ธาตุน้ำ) พร้อมด้วยสมุนไพรและเครื่องเทศที่หลากหลาย เกิดการผสมผสานรสชาติและธาตุที่ลงตัว

การกินเพื่อสุขภาพเป็นเทรนด์ของอุตสาหกรรมอาหารที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมาระยะหนึ่งแล้ว ข้อมูลจาก Business Research Insights ระบุว่า ตลาดอาหารสุขภาพทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง มีมูลค่าราว 135.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 เติบโตร้อยละ 9.36 ต่อปี จนอาจทำสถิติไปแตะ 232.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐได้ในปี 2030 ทั้งนี้เป็นผลมาจากความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบของอาหารต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารเฉพาะทางที่มีส่วนช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการของโรคเรื้อรังต่าง ๆ  โดยตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตอบรับกับแนวโน้มนี้อย่างมาก เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การเติบโตของชนชั้นกลางที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับการกลับมาให้ความสำคัญกับแนวคิดการดูแลสุขภาพแบบดั้งเดิม เช่น อายุรเวทและการแพทย์แผนจีน ที่เริ่มผสมผสานให้เข้ากับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ ทำให้อาหารเพื่อสุขภาพกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคในภูมิภาคนี้

หลักการกินตามธาตุเจ้าเรือนของไทย มีศักยภาพที่จะขยายไปมีอิทธิพลต่อตลาดอาหารโลกได้อย่างไร กุญแจสำคัญอยู่ที่การปรับให้เข้ากับพฤติกรรมการบริโภคแบบสากล ควบคู่กับนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะในหมวดอาหารแปรรูป เครื่องดื่ม หรือขนมกินเล่น ที่จะช่วยนำพาหลักคิดของไทยให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างขึ้น ตัวอย่างสูตรปรุงอาหารต่างถิ่นแต่ปรับตามวิถีการกินแบบธาตุเจ้าเรือน เช่น การทำเส้นโซบะจากแป้งบักวีต 100% ผสมกับน้ำพิลังกาสา สมุนไพรพื้นบ้านที่มีรสร้อน ฝาด มีสรรพคุณแก้ท้องเสีย แก้ลมพิษ แก้ธาตุพิการ รวมร่างกันจนกลายเป็นองค์ประกอบในสำรับอาหารญี่ปุ่นเพื่อสุขภาพ ที่มีสรรพคุณทางยา เป็นต้น อีกเทรนด์หนึ่งที่ไทยไม่ควรมองข้าม คือการใช้อาหารมาตอบโจทย์ความกังวลด้าน Mental Health ของผู้บริโภคยุคใหม่ ช่วยบรรเทาความวิตกกังวลจากปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าสมุนไพรไทยหลายตัวมีสรรพคุณช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้นได้ ความท้าทายอยู่ที่การปรุงให้กลมกล่อมและนำเสนอให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

แล้ววิธีการที่ไทยจะโปรโมตเรื่องนี้ ควรทำอย่างไร อาจเริ่มต้นด้วยการทำความร่วมมือกับห่วงโซ่อุปทานอาหารสุขภาพระดับโลก โดยเฉพาะแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและติดตลาดอยู่แล้ว นำเสนอแนวคิดเรื่องการกินตามธาตุเจ้าเรือนปรับให้เข้ากับตลาดอาหารโลก นอกจากนี้อาจนำเสนอผ่านโรงเรียนสอนทำอาหารไทยทั่วโลก ช่วยเผยแพร่แนวคิดและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการกินอาหารที่บำรุงทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ ผ่านเวิร์กช็อปเพื่อสร้างความเข้าใจและแบ่งปันวิถีการกินแบบโบราณนี้กับผู้บริโภคทั่วโลก

โหราศาสตร์กับการกินอาหารตามธาตุ ก็เป็นการผสมผสานแนวความคิดที่น่าสนใจ เพราะโหราศาสตร์ ความศรัทธา และความเชื่อผูกติดกับวิถีชีวิตของคนไทยในทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมืองหรือชนบท ในกรอบความศรัทธานั้น สามารถแปรเปลี่ยนเป็น “ยา” ที่ช่วยรักษาได้ทั้งกายและใจให้แข็งแรงไปพร้อมกัน “รสศาสตร์ศรัทธา” เป็นกรอบแนวคิดที่จะช่วยเสริมอัตลักษณ์ให้อาหารไทยโดดเด่นในตลาดอาหารโลกได้ การทดลองทางความคิดนี้ถูกนำเสนออยู่ในนิทรรศการ “โหราอาหาร สำรับเสริมร่าง สร้างใจ” ที่ชวนทุกท่านมาสำรวจดวงชะตาและข้าวปลาอาหารที่ทานอยู่เป็นประจำ ผ่านเลนส์ของความเชื่อที่แฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาจากยุคก่อน ทำความรู้จักกับวัตถุดิบที่ถูกคัดสรรมาให้ถูกกับอาหารตามตำราแพทย์แผนไทย ที่เชื่อว่าร่างกายของคนประกอบสร้างขึ้นมาจากธาตุทั้ง 4 เสมือนการผสมผสานความเชื่อทางโหราศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ไว้ด้วยกัน นิทรรศการนี้จัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ Food Innopolis at Kasetsart University และ CEA เปิดให้ทุกท่านเข้าชมฟรี ตั้งแต่วันนี้ - 5 พ.ค. 67 เวลา 11.00 - 19.00 น. ณ TCDC COMMONS MunMun Srinakarin ชั้น 3

 

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Information Center: CIC)