Research & Report

Music Copyright 103: คู่มือการใช้ลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียง ตอน สิทธิที่ค่ายเพลงต้องรู้!

จริงไหมที่ยุคนี้ทุกคนสามารถเป็นศิลปินได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งค่ายเพลง 

ประโยคนี้ฟังดูเหมือนจะจริง แต่จริงแค่ครึ่งเดียว เพราะการที่เพลงหนึ่งเพลงในโลกออนไลน์จะถูกส่งไปถึงผู้ฟังหมู่มากจนสร้างรายได้กลับมาให้ศิลปินได้ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ศิลปินจะทำโดยลำพัง จึงทำให้ศิลปินส่วนใหญ่ยังคงต้องการ “ที่พึ่งพา” หรือ “ค่ายเพลง” ซึ่งมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการตลาด คอนเทนต์ โซเชียลมีเดีย และทีมอื่น ๆ อีกมากที่คอยสนับสนุนให้เพลงและศิลปินไปถึงเป้าหมาย รวมไปถึงคอยเป็นหลังบ้านให้กับศิลปินในการดูแลค่าลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียง ซึ่งเป็นก้อนรายได้ที่สำคัญมากในโลกสตรีมมิงยุคปัจจุบัน

หลังจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้เผยแพร่คู่มือ Music Copyright ออกไปแล้วทั้งสองฉบับ ได้แก่ Music Copyright 101: คู่มือการใช้ลิขสิทธิ์ดนตรีเบื้องต้น ที่พาคนรักเสียงเพลงไปทำความเข้าใจภาพใหญ่ของลิขสิทธิ์ดนตรี ตามด้วย Music Copyright 102: คู่มือการใช้ลิขสิทธิ์ดนตรีที่ชาวออนไลน์ต้องรู้ ว่าด้วยเรื่องราวของลิขสิทธิ์เพลงบนสื่อดิจิทัล ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาสู่ซีรีส์ภาคต่อกับ Music Copyright 103: คู่มือการใช้ลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียง ตอน สิทธิที่ค่ายเพลงต้องรู้! ที่จะพาค่ายเพลงและคนดนตรีไปเปิดโลกลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียงแบบลงลึกแทร็กต่อแทร็ก โดยร่วมมือกับ สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงไทย (TECA/IFPI Thailand) ในการจัดทำข้อมูลชุดนี้ขึ้น 

เพราะค่ายเพลงหนึ่งค่าย ก็เปรียบเสมือนโรงงานผลิตเพลงขนาดย่อมที่มีบทบาทในการดูแลรายได้ให้กับศิลปิน ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลธุรกิจของตนให้อยู่รอดด้วย คู่มือความยาว 50 หน้าเล่มนี้ ประกอบไปด้วยเนื้อหาและสำนวนภาษาที่ย่อยง่าย ภาพประกอบและอินโฟกราฟิก ที่จะช่วยให้ค่ายเพลงได้ทำความเข้าใจและไม่หลงลืม “รายได้จากค่าลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียง” อันเป็นรายได้ที่สร้างเม็ดเงินให้กับธุรกิจและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในสายอาชีพ รวมไปถึงให้ความรู้แก่ผู้ขอใช้เพลงที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะมาช่วยกันสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมดนตรีให้เติบโตไปพร้อมกัน เริ่มจากติดกระดุมเม็ดแรกที่เรื่องลิขสิทธิ์ให้ถูกต้อง! 

Download PDF
Desktop
Mobile