Research & Report

ถอดบทเรียนเรื่องที่ศิลปินควรรู้และเตรียมตัว ก่อนไปแสดงในเทศกาลดนตรีในต่างประเทศ

เชื่อว่าศิลปินหลายคนคงเคยมีความฝันที่จะได้ไปขึ้นเวทีการแสดงดนตรีในต่างประเทศสักครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ทว่าไม่ใช่ศิลปินทุกรายที่จะสามารถก้าวไปสู่จุดนั้นได้อย่างง่ายดาย นอกจากฝีมือและจังหวะบนเส้นทางสายอาชีพนักร้อง-นักดนตรีที่แต่ละคนมีโอกาสแตกต่างกันไป การได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านเงินทุน และความรู้ด้าน Know-How ก็นับเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

โครงการ Music Exchange เป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรีในปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนศิลปินของไทยที่มีศักยภาพไปแสดงผลงานดนตรีในเทศกาลดนตรีในต่างประเทศ ส่วนหนึ่งของกิจกรรมส่งเสริมศิลปิน ทางโครงการจึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดนตรีของไทย อย่างคุณพงศ์สิริ เหตระกูล Festival Director Siam Music Festival และคุณปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี ผู้ร่วมก่อตั้ง AXEAN Music Consultancy มาร่วมให้คำแนะนำแก่ศิลปินที่เข้าร่วมโครงการ Music Exchange ซึ่งทั้งสองท่านมีประสบการณ์ในการจัดงานแสดงโชว์เคสของศิลปิน รวมทั้งการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ และผู้จัดเทศกาลดนตรีในต่างประเทศ  

การแสดงของศิลปินไทยวง DREAMGALS ที่เทศกาล Hypefest Hong Kong 2024 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ฮ่องกง

ก่อนจะโกอินเตอร์ไปสู่เส้นทางแห่งความฝันก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด มาเช็กลิสต์บทเรียนเรื่องที่ศิลปินควรรู้และเตรียมตัว ก่อนไปแสดงในเทศกาลดนตรีในต่างประเทศ เพื่อเป็นคู่มือให้ทั้งศิลปินและผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต

1. การเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทางไปแสดงในต่างประเทศ

TONTRAKUL ศิลปินไทยจากโครงการ Music Exchange เดินทางไปร่วมงานเทศกาล Gwangju Busking Worldcup Festival 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองควังจู เกาหลีใต้ ในวันที่ 1 - 2 ตุลาคม 2567

1.1 ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการทำวีซ่า

สิ่งสำคัญอันดับแรกคือต้องศึกษากฎระเบียบและเงื่อนไขในการไปแสดงดนตรีของประเทศที่จะเดินทางไป เพราะแต่ละประเทศมีกฎไม่เหมือนกัน เช่น กลุ่มประเทศในอาเซียนที่ปกติแล้วคนไทยสามารถไปท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า แต่ถ้าเป็นกรณีของศิลปินที่ไปทำการแสดง ต้องดูเงื่อนไขว่างานเทศกาลที่ไปร่วมนั้น เป็นงานแสดงประเภทโชว์เคสที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หรือว่าเป็นการแสดงในเชิงพาณิชย์ที่ศิลปินได้รับค่าตัวด้วย บางประเทศจึงอาจต้องมีเอกสารอนุญาตให้ทำงาน (Work Permit) หรือยื่นเรื่องขอเป็นวีซ่าทำงานของศิลปินโดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะต้องเผื่อเวลาสำหรับการขอวีซ่าให้ทันกับกำหนดการแสดงด้วย

การแสดงของ WIM ศิลปินไทยในเทศกาลดนตรี SXSW Sydney ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 14 - 20 ตุลาคม 2567 ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย

ทั้งนี้ ในบางประเทศ เช่น อินโดนีเซียที่หากศิลปินไปแสดงโดยที่ได้รับค่าจ้าง จำเป็นต้องมี Performer Visa ซึ่งเคยมีกรณีตัวอย่างที่ศิลปินไทยวงหนึ่งไปแสดงโชว์เคสที่อินโดนีเซียปี 2566 จากนั้นก็ไปเล่นอีกงานหนึ่งซึ่งได้รับค่าจ้างในการแสดงเช่นกัน ทำให้เกิดปัญหาเพราะเข้าใจไม่ตรงกัน เนื่องจากวีซ่าประเภท Performer Visa ของอินโดนีเซีย เป็นวีซ่าแบบ Single Visa ที่ใช้สำหรับการแสดงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น โดยต้องใช้เงิน 2 ล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย หรือประมาณ 125 ดอลลาร์สหรัฐ แต่การขอวีซ่าชนิดนี้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและระบบราชการที่ซับซ้อน จึงต้องมีตัวแทนบริษัทโปรโมเตอร์ที่อยู่ในอินโดนีเซียเป็นผู้ดำเนินการให้

การแสดงของศิลปินไทยวง LUSS ในเทศกาล AXEAN Festival 2024 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 27 - 29 กันยายน 2567 ที่อินโดนีเซีย

1.2 รีเสิร์ชข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้ชมและเทศกาลดนตรี เพื่อวางเป้าหมายในการแสดง

การแสดงของศิลปินไทย Pyra ในเทศกาล SXSW Sydney ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 14 - 20 ตุลาคม 2567 ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย

ก่อนศิลปินจะไปทำการแสดงในต่างประเทศ ควรรีเสิร์ชเกี่ยวกับเรื่องกลุ่มผู้ชมของประเทศหรือเมืองนั้น ๆ ให้ดีด้วย รวมถึงหากงานนี้เคยจัดมาก่อนแล้ว กลุ่มผู้ชมมีลักษณะเป็นอย่างไร เคยมีวงอะไรมาแสดงแล้วบ้าง และถ้ารู้จักวัฒนธรรมดนตรีของเมืองนั้นได้ก็จะยิ่งดี เพราะที่ผ่านมามีกรณีที่สุ่มเสี่ยง เช่น ศิลปินวงร็อกเมทัลไปแสดงที่ไต้หวันแล้วไปเล่นเพลงคัฟเวอร์ของศิลปินอเมริกันที่ถูกคนไต้หวันแบน ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการแสดงหรือการเอ่ยถึงประเด็นที่เป็นเรื่องอ่อนไหวของคนในประเทศนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางสังคมหรือการเมืองก็ตาม

นอกจากนี้ ในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์หรือจีน ที่มีระเบียบการเซนเซอร์เนื้อเพลงในการแสดงในเทศกาลดนตรี จึงต้องมีการส่งเนื้อร้องไปให้กับทางเจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้วยว่ามีคำหยาบหรือเปล่า รวมถึงมีการพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องเพศ ยาเสพติด การเมือง หรือศาสนาหรือไม่

การแสดงของ Gabe Watkins ที่เทศกาล 2024 TMC Christmas Town ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 12 -15 ธันวาคม 2567 ที่ไต้หวัน

เมื่อทำการรีเสิร์ชข้อมูลแล้ว สิ่งสำคัญในการแสดงโชว์เคสลำดับถัดไป คือการตั้งเป้าหมาย (Set Goal) ของตัวศิลปินเองว่าอยากจะไปในทิศทางไหนต่อ เช่น หากเราอยากไปแสดงในเทศกาลนี้ ก็ควรต้องรู้ว่างานนั้นมีที่มาจากไหน ผู้ที่เราติดต่อด้วยทำงานอยู่ในฐานะอะไร เป็นเอเจนซีตัวแทน หรือว่าเป็นเจ้าของเทศกาลดนตรี เพื่อที่จะได้ติดต่อและนำเสนอผลงานได้อย่างเหมาะสม ถ้าหากว่าศิลปินไม่ได้ทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับงานนั้นมาก่อน ว่าแนวของเฟสติวัลนั้นชอบสไตล์เพลงแบบไหน หรือวงดนตรีที่เคยไปแสดงในเทศกาลนั้นมีแนวดนตรีใกล้เคียงกับเราหรือไม่ ก็อาจจะทำให้เสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

การแสดงของศิลปินไทย YONLAPA ที่ได้รับเลือกจากโครงการ Music Exchange ในเทศกาล Baybeats Music Festival 2024 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 11 - 12 ตุลาคม 2567 ที่สิงคโปร์

1.3 เตรียมตัวจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และซื้อประกันการเดินทาง

นอกจากการทำวีซ่า ยังมีเรื่องการขนส่งอุปกรณ์ดนตรีต่าง ๆ และแนวทางปฏิบัติที่ใช้ได้จริง อย่างเรื่องการซื้อประกันการเดินทางที่จำเป็นและครอบคลุม ทั้งประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ รวมถึงเรื่องการจองตั๋วเครื่องบิน และการจองโรงแรมที่พักล่วงหน้าให้พร้อม 

1.4 ศึกษาเรื่องภาษีการนำเข้าสินค้าไปจำหน่าย และเตรียมเอกสารศุลกากร

ในกรณีที่ศิลปินมีการนำสินค้าไปจำหน่ายในเทศกาลดนตรีที่ต่างประเทศ จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเรื่องเอกสารค้ำประกัน A.T.A. CARNET ที่ใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรแทนใบขนสินค้าระหว่างประเทศอีกด้วย โดยบางประเทศ เช่น งานเทศกาลดนตรี AXEAN Festival 2024 ของอินโดนีเซีย อนุญาตให้ศิลปินนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในงานเทศกาลดนตรีได้ แต่คิดค่าคอมมิชชัน 15 เปอร์เซ็นต์ หรือบางประเทศก็อาจมีกฎระเบียบและเงื่อนไขแตกต่างกันออกไป นอกจากเรื่องศุลกากรแล้ว จึงขึ้นอยู่กับผู้จัดงานเทศกาลดนตรีในประเทศนั้น ๆ อีกด้วย

การจำหน่ายสินค้าที่ระลึกอย่างเสื้อยืดและหมวกของวง Whispers ศิลปินไทยที่ไปร่วมแสดงในเทศกาล Outbreak Winter Fest ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ที่เมืองแมนเชสเตอร์ อังกฤษ

1.5 วางแผนงบประมาณและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

สำหรับงบประมาณในการสนับสนุนศิลปินในการไปแสดงดนตรีในต่างประเทศของโครงการ Music Exchange ปี 2567 ครอบคลุมค่าเดินทางระหว่างประเทศ, ค่าเดินทางภายในประเทศที่ศิลปินไปทำการแสดง, ค่าตั๋วเครื่องบิน, ค่าที่พัก รวมทั้งค่าทำพาสปอร์ตและวีซ่า แต่ไม่ได้รวมค่าจ้างของศิลปิน รวมทั้งค่าตัวของทีมงานต่าง ๆ เช่น วงดนตรีแบ็กอัป หรือช่างภาพที่ศิลปินหรือค่ายเพลงจ้างไปทำงานด้วย

ทั้งนี้ จุดประสงค์ของงบประมาณโครงการเป็นไปตามหลักการเพื่อให้ศิลปินไปแสดงในต่างประเทศแล้วสามารถสร้างโอกาสให้กับตนเองได้มากที่สุด ไม่ใช่ว่าเดินทางไปเล่นดนตรีเสร็จแล้ว จะต้องเดินทางกลับเลยเท่านั้น หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาอยู่ต่อเพื่อทำกิจกรรมการแสดง หรือพบปะเพื่อสร้างเครือข่ายคอนเน็กชันกับตัวแทนผู้จัดเทศกาลดนตรีก็ได้เช่นกัน แต่ว่าต้องทำให้คุ้มค่ากับการเดินทางไปที่สุด โดยเป็นไปตามแผนการทำงานที่ศิลปินวางไว้และเซ็นบันทึกข้อตกลงกับทางโครงการ

ศิลปินวง KIKI และทีมงาน เดินทางไปร่วมแสดงในเทศกาลดนตรี RINGO MUSIC FEST 2024 ที่ญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 28 กันยายน 2567

1.6 ศึกษาข้อมูลและจัดเตรียมวิธีการเดินทางภายในประเทศที่จะไปทำการแสดงให้พร้อม

นอกจากการจองตั๋วเครื่องบิน ศิลปินควรศึกษาวิธีการเดินทางภายในประเทศที่จะไปทำการแสดง หากมีทีมงานหลายคนและมีอุปกรณ์ดนตรีขนาดใหญ่ที่ต้องนำไปหลายชิ้น อาจให้ตัวแทนผู้จัดงานเทศกาลดนตรีช่วยติดต่อประสานงานเรื่องการเดินทาง เช่น ติดต่อจองรถตู้ที่สามารถบรรทุกสัมภาระได้มาก เพื่อความสะดวกในการเดินทาง เป็นต้น

รถตู้พาหนะที่ศิลปินใช้เดินทางจากสนามบินไปยังที่พักและสถานที่จัดงานเทศกาลดนตรี 

2. สิ่งที่ควรทำเมื่อมีโอกาสได้ร่วมแสดงโชว์เคสหรือขึ้นแสดงในเทศกาลดนตรีต่างประเทศ

ศิลปินไทยวง PRETZELLE ถ่ายภาพร่วมกับตัวแทนผู้จัดงานเทศกาลดนตรีในเทศกาล IDOL KINGDOM SHANGHAI ที่จัดขึ้นในวันที่ 2 ตุลาคม 2567 ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน

2.1 การเตรียมตัวเข้าพบ Delegate หรือตัวแทนผู้จัดงานเทศกาลดนตรี

ศิลปินวง 4EVE ร่วมแสดงในเทศกาลไทย (Thai Festival) ในต่างประเทศ ซึ่ง CEA ร่วมกับกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดงานเทศกาลไทย ณ กรุงปักกิ่ง (Thai Festival in Beijing 2024) ในวันที่ 21 - 23 มิถุนายน 2567 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน 

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญสำหรับศิลปินที่จะเดินทางไปแสดงในต่างประเทศ คือการเตรียมตัวในการเข้าพบกับคณะผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ หรือส่วนราชการต่าง ๆ ไปจนถึงเอเจนซีหรือตัวแทนผู้จัดงานเทศกาลดนตรี (Delegate) รวมทั้งการออกสื่อหรือโชว์ตัวในงานอีเวนต์ ซึ่งต้องมีการพบปะและให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หรือเข้าร่วมรายการที่เผยแพร่ในช่องทางสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ท้องถิ่น และสตรีมมิงแพลตฟอร์มต่าง ๆ ศิลปินจึงต้องทำการบ้านก่อนไปร่วมงานหรือทำการแสดงทุกครั้ง 

ทั้งนี้ เป้าหมายในการไปร่วมงานเทศกาลดนตรี คือการแสดงผลงานและการสร้างคอนเน็กชัน ศิลปินจึงควรใช้โอกาสที่ได้ไปร่วมงานเทศกาลดนตรีในต่างประเทศให้คุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ บางงานที่มีการประชุม Conference ด้วย ซึ่งจะมีทั้งตัวแทนผู้จัดงานเทศกาลดนตรี หรือ Buyer และเจ้าของเทศกาลดนตรีต่าง ๆ มาร่วมงาน ศิลปินจึงควรไปร่วมกิจกรรมเพื่อทำความรู้จักกับผู้ที่เข้าร่วมการประชุม Conference เหล่านี้ เพื่อสร้างเครือข่าย (Networking) ร่วมกับบุคลากรในอุตสาหกรรมดนตรีระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต

การเข้าร่วมกิจกรรม Conference พบปะกับตัวแทนในอุตสาหกรรมดนตรีของศิลปินไทย Mindfreakkk ในงานเทศกาลดนตรี SXSW Sydney ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 14 - 20 ตุลาคม 2567 ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย

2.2 การนำเสนอผลงานต่อตัวแทนผู้จัดงานเทศกาลดนตรี

สำหรับขั้นตอนการ Pitch นำเสนอผลงานของศิลปินต่อตัวแทนผู้จัดงานเทศกาลดนตรี ควรพูดให้สั้นกระชับและเข้าใจง่ายว่าดนตรีของเราเป็นแบบไหน เพื่อไม่ให้ผู้ฟังรู้สึกรำคาญหรือถูกยัดเยียด เช่น เล่าว่าเพลงของเราเป็นแนวไหน ถ้าหากมีการผสมผสานหลายแนว ให้บอกว่า Genre หลักคือแนวเพลงประเภทใด หรือยกตัวอย่างว่าคล้ายกันกับศิลปินคนไหนบ้าง เพื่อให้คนฟังเห็นภาพชัดเจน

2.3 การเตรียมองค์ประกอบด้านการตลาดและแบรนด์

ผู้เชี่ยวชาญแนะให้เตรียมองค์ประกอบ ทั้งด้านการตลาดและการสร้างเอกลักษณ์ในทุก ๆ ด้านของแบรนด์ให้มีความเป็นมืออาชีพที่สุด รวมทั้งเรื่องการดีไซน์และการสื่อสารทางการตลาด (Marketing Communication) ที่ควรสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด โดยต้องคำนึงถึงการวางภาพลักษณ์ของศิลปินและกลยุทธ์ทางการตลาด ทั้งการสร้างอัตลักษณ์ที่แสดงถึงตัวตนและการสร้างแบรนด์ส่วนบุคคล (Personal Branding) เช่น โลโก้ของวง การเลือกใช้โทนสี และภาพรวมของ Visual Branding หรือการสร้างแบรนด์ด้วยภาพ ที่ช่วยสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ของศิลปิน ทุกองค์ประกอบควรสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับสไตล์ของแนวดนตรีและคาแรกเตอร์ส่วนตัวของศิลปินด้วย

การแสดงของ Ugoslabier วงดนตรีเมทัลไทยในเทศกาล Blackandje Fest 2024 ที่จัดขึ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ในอินโดนีเซีย คือตัวอย่างศิลปินไทยที่มีการวางภาพลักษณ์แบรนด์ของศิลปินอย่างชัดเจน ทั้งโลโก้ของวง การคุมโทนสี และฉากการแสดงบนเวทีที่เข้ากับคอนเซ็ปต์แนวดนตรีของวง

2.4 การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์อิเล็กทรอนิกส์และนามบัตร

สำหรับสื่อที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ศิลปินและธุรกิจอย่าง Press Kit ในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้เอกสารประชาสัมพันธ์แบบ Physical ที่เป็นกระดาษแล้ว แต่จะใช้ EPK (Electronic Press Kit) ที่เป็นสื่อประชาสัมพันธ์อิเล็กทรอนิกส์แทน อย่างไรก็ตาม แม้ว่า EPK จะเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่นามบัตรยังเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างคอนเน็กชันในธุรกิจเพลงและอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งสามารถสร้างความประทับใจได้เช่นกัน โดยอาจเพิ่มลูกเล่นในการดีไซน์นามบัตรให้มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ เข้ากับลักษณะของธุรกิจด้านดนตรี เป็นต้น

ทั้งนี้ ศิลปินสามารถทำ EPK เก็บไว้ใน Google Drive แล้ว Generate เป็น QR Code เพื่อความสะดวกในการสแกนขณะร่วมงานอีเวนต์ หรือทำเป็นเว็บไซต์โดยใช้โปรแกรมง่าย ๆ อย่าง WordPress นอกจากนี้ ยังอาจทำเป็น Linktree ที่สามารถเชื่อมต่อกับลิงก์โซเชียลมีเดียของศิลปินได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าสิ่งที่มองเห็นและสามารถจับต้องได้อาจสร้างความประทับใจได้มากกว่า แต่ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องความลำบากของผู้รับที่ต้องพกพากลับบ้านด้วย

ตัวอย่าง Linktree ที่สามารถเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียของวง Rocketman หนึ่งในศิลปินไทยในโครงการ Music Exchange ซึ่งรวมลิงก์โปรโมตผลงานทั้งหมดของศิลปิน

2.5 การโปรโมตผลงานผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย

กลยุทธ์การตลาดโดยใช้โซเชียลมีเดียในยุคนี้มีความสำคัญมาก ศิลปินควรโปรโมตการแสดงของตนเอง โดยใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการนำเสนอ เพื่อสื่อสารกับแฟนเพลงผู้ติดตาม และขยายฐานแฟนเพลงกลุ่มใหม่ ๆ รวมถึงโปรโมตผลงานที่ศิลปินกำลังทำอยู่เสมอ เพราะหากทาง Delegate เข้ามาเช็กข้อมูลของศิลปิน จะได้มีข้อมูลผลงานทุกอย่างพร้อม

2.6 การทำตัวอย่างเพลง (Music Samples)

ศิลปินควรมีตัวอย่างผลงานให้แฟนเพลงได้ทดลองฟัง โดยการคัดสรรเพลงที่ดีที่สุดมาสร้างเป็นเพลย์ลิสต์ และแชร์ลิงก์สำหรับสตรีมในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Spotify, SoundCloud และคลิป Reels วิดีโอสั้น ๆ ใน YouTube เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถชมหรือรับฟังผลงานของพวกเขาได้อย่างรวดเร็ว

ตัวอย่าง SoundCloud ผลงานของศิลปินวง DREAMSGALS

2.7 การจัดทำใบปลิวประชาสัมพันธ์การแสดง (Show Flyers) 

สำหรับงานเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ที่ศิลปินอาจยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก การทำใบปลิวโบรชัวร์ตารางโชว์การแสดงไปเดินแจกผู้ชมภายในงาน นับเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์และสร้างคอนเน็กชันที่ดี ทั้งยังช่วยโปรโมตศิลปินให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ มือกลองและนักดนตรีไทยวง Annalynn ที่เคยไปแสดงดนตรีในเฟสติวัลต่างประเทศ แชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่าการแจกใบปลิวในงานเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ เช่น ในจีนที่มีผู้ชมจำนวนมาก นับเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผล และช่วยให้มีผู้คนตามมาชมการแสดงของพวกเขาด้วยวิธีการโปรโมตนี้ 

2.8 สินค้าของศิลปิน (Merchandise)

ในกรณีที่ทางผู้จัดงานเทศกาลดนตรีอนุญาตให้ศิลปินนำสินค้าไปจำหน่ายได้ เช่น ซีดีเพลง, เสื้อยืด, สติกเกอร์, เข็มกลัด ฯลฯ ศิลปินควรจัดเตรียมสินค้าไปขายในงานเทศกาลดนตรีนั้น ๆ เพราะจำนวนยอดขายอาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ศิลปินประเมินได้ว่างานแสดงของตนเองดีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ศิลปินไทยที่เคยไปแสดงในต่างประเทศได้แชร์ประสบการณ์ว่าการจำหน่ายสินค้าในมิวสิกเฟสติวัลนั้นมียอดขายน้อยกว่างานแสดงโชว์เคส เพราะมีคู่แข่งคือศิลปินท้องถิ่นที่เป็นที่นิยมมากกว่า แต่หากมีแฟนเพลงที่สนใจการแสดงของพวกเขา ส่วนใหญ่มักจะตามมาสั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ของศิลปินในภายหลัง 

ศิลปินวง SOBBOY เขียนข้อความและลายเซ็นให้กับผู้ชม ในการจำหน่ายเสื้อและสินค้าที่ระลึกของวงในงานเทศกาลดนตรี Unlimited Freedom Festival ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 1 - 3 พฤศจิกายน 2567 ที่ไต้หวัน

3. ข้อพึงปฏิบัติระหว่างการแสดงโชว์เคสหรือร่วมงานเทศกาลดนตรีในต่างประเทศ

Numcha ศิลปินไทยที่ได้รับเลือกให้ไปร่วมแสดงในเทศกาล ASIYA Asian Music Festival & Conference ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ที่ฟิลิปปินส์ โดยทำการแสดงร่วมกับวง flu ศิลปินท้องถิ่นชาวฟิลิปปินส์

3.1 การสร้างมิตรภาพกับศิลปินต่างชาติและสร้างเครือข่ายกับตัวแทนในอุตสาหกรรมดนตรี

นอกจากไปทำการแสดงแล้ว การเข้าร่วมงานเทศกาลดนตรีในต่างประเทศเป็นโอกาสที่จะได้ทำความรู้จักกับศิลปินและบุคลากรในอุตสาหกรรมดนตรีจากนานาชาติ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าการสร้างคอนเน็กชันเป็นสิ่งสำคัญ หากเราสร้างมิตรภาพได้บ้างแล้วก็อาจนำเสนอตัวโดยช่วยแนะนำให้ศิลปินคนอื่นรู้จักกันกับเพื่อนของเราได้ และอีกฝ่ายก็จะสร้างเพื่อนให้เราด้วยเช่นกัน 

ศิลปินวง Rexrez ขณะทักทายกับศิลปินต่างชาติและทีมผู้จัดงานในเทศกาลดนตรี ROTTING NOISE TOKYO 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567

3.2 การมอบของขวัญที่ระลึก

อย่าลืมพกของขวัญที่ระลึกต่าง ๆ โดยอาจเป็นสินค้า Merchandise ของศิลปิน, สติกเกอร์, ซีดี หรือการซื้อเครื่องดื่มแจก ฯลฯ สำหรับมอบให้กับตัวแทนผู้จัดงานเทศกาลดนตรี (Delegate) และศิลปินคนอื่น ๆ โดยเชิญชวนให้มาชมการแสดงของเรา เคล็ดลับนี้จะช่วยสร้างความประทับใจและเชิญชวนให้ศิลปินคนอื่น ๆ มาชมการแสดงของเราได้

ผู้เชี่ยวชาญแนะว่าถ้าเป็นของที่พกพากลับบ้านได้ ก็ไม่ควรมีขนาดใหญ่เกินไป อาจมอบเป็นถุงผ้าเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้รับ แต่ถ้าเป็นของที่ใช้แล้วทิ้ง ก็ขอให้ใช้แล้วเก็บไว้ในความทรงจำตลอดไปได้ ยกตัวอย่างเช่น Press Kit ของศิลปินเกาหลีที่ทำซองบุหรี่กระดาษ โดยด้านนอกพรินต์โลโก้ที่เป็นสีแบรนดิ้งของวง ข้างในมีบุหรี่และไฟแช็ก พร้อมนามบัตรและ Press Kit นอกจากนี้ ยังมี USB ที่ใส่ไฟล์เพลงอยู่ในนั้นด้วย แม้อาจจะไม่ได้พกพาสะดวกนัก แต่ว่าก็ทำให้ผู้รับจดจำได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะทำไฟแช็กหายบ่อย เพราะฉะนั้นจึงช่วยอำนวยความสะดวกให้พวกเขาได้เช่นกัน หากไฟแช็กนั้นติดสติกเกอร์หรือโลโก้ของศิลปิน ซึ่งสามารถพกพาติดตัวไปไหนได้ทุกที่ ผู้รับก็มักจะนำไปโชว์ให้กับตัวแทนผู้จัดเทศกาลคนอื่นดูและเล่าที่มาที่ไปด้วยว่าได้ไฟแช็กนี้มาอย่างไร เป็นต้น

กระเป๋าผ้าที่ศิลปินไทยวง SANIMYOK นำไปมอบเป็นที่ระลึกให้กับศิลปินต่างชาติและผู้จัดงานเทศกาลดนตรี JERSEY EIGHT 2024 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 19 - 20 ตุลาคม 2567 ที่ญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างวิธีการทำของที่ระลึกให้น่าประทับใจของศิลปินเกาหลีอีกวงหนึ่ง ที่มีไอเดียสร้างสรรค์โดยการแจกถ่านแบตเตอรี่ 9 โวลต์ พร้อมติดสติกเกอร์ เบอร์โทรศัพท์ และอีเมลของตนเอง แล้วนำไปแจกเพื่อเป็นการสร้างสัมพันธ์กับวงดนตรีวงอื่น เพราะบางครั้งที่ไปทำการแสดงในประเทศที่กระแสไฟฟ้าไม่ตรงกัน แต่ไม่มีตัวแปลงกระแสไฟ หรือหัวเสียบของปลั๊กไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ่าน 9 โวลต์ที่เหมาะสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการพลังงานสูง จึงนับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากในกรณีที่อุปกรณ์ดนตรีบางอย่างเกิดแบตเตอรี่หมดขึ้นมากะทันหัน

วง Whispers ศิลปินจากโครงการ Music Exchange 2024 ถ่ายภาพร่วมกับศิลปินต่างชาติและทีมผู้จัดงานเทศกาลดนตรี Outbreak Winter Fest ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ที่เมืองแมนเชสเตอร์ อังกฤษ

4. สิ่งที่ควรทำหลังจากการไปแสดงที่เทศกาลดนตรีในต่างประเทศ

เมื่อทราบถึงการเตรียมตัวก่อนไปแสดงและระหว่างร่วมงานเทศกาลดนตรีในต่างประเทศแล้ว CEA และผู้เชี่ยวชาญยังได้ย้ำถึงสิ่งที่ควรทำหลังจากการไปแสดงในต่างประเทศ ดังนี้

4.1 การทำคอนเทนต์บันทึกการเดินทาง

ศิลปินควรทำคอนเทนต์เพื่อเก็บไว้เป็นบันทึกการเดินทาง ว่าเมื่อไปร่วมการแสดงที่เทศกาลดนตรีในต่างประเทศกลับมาแล้ว ได้อะไรบ้าง โดยอาจทำเป็นรูปแบบ Vlog การเดินทาง หรือวิดีโอบันทึกการแสดงบนเวที และโพสต์ในช่องทางโซเชียลมีเดียของศิลปิน นอกจากจะเป็นการโปรโมตผลงานแล้ว ยังช่วยในการประเมินผลความสำเร็จในการแสดงของศิลปินเอง และจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาโครงการต่อไปในอนาคตอีกด้วย

บันทึกการเดินทางของศิลปินวง PRETZELLE ที่ไปทำการแสดงในต่างประเทศ เช่น เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งศิลปินใช้โปรโมตในโซเชียลมีเดีย

4.2 การติดตามผลหลังการแสดง

หลังจากทำการแสดงเสร็จแล้ว ศิลปินควรมีการติดตามผลหลังการแสดง (Follow up) โดยสรุปผลและทบทวนการแสดงของตนเอง เช่น พิจารณาว่าการแสดงในงานที่ผ่านมาดีหรือไม่ มีจุดที่ต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร และคนดูตอบสนองอะไรกับการแสดงของเราบ้าง โดยการจดบันทึกไว้สำหรับการแสดงครั้งต่อไป รวมทั้งทบทวนข้อมูลติดต่อของเรา เช่น คุณได้พบปะกับใครภายในงาน และพูดคุยเรื่องอะไรบ้าง นอกจากนี้ ควรทำสรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อให้เห็นถึงงบที่ใช้ไปในแต่ละงาน

Numcha ถ่ายภาพที่ระลึกร่วมกับนักดนตรีและผู้ที่มาชมการแสดงในเทศกาล ASIYA Asian Music Festival & Conference ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ที่ฟิลิปปินส์

4.3 การรักษาคอนเน็กชันกับตัวแทนผู้จัดงานเทศกาลดนตรี

สิ่งสำคัญข้อสุดท้ายคืออย่าลืมรักษาคอนเน็กชันด้วยการติดต่อกลับไปหาตัวแทนผู้จัดงานที่เราได้พูดคุยด้วย โดยอาจส่งข้อความหรืออีเมลไปเพื่อขอบคุณ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราต้องการที่จะไปแสดงในงานเทศกาลดนตรีของเขาจริง ๆ และหวังว่าจะมีโอกาสได้ร่วมงานกันในอนาคต

การพบปะกับตัวแทนผู้จัดงานเทศกาลดนตรี และการบันทึกประสบการณ์ของ WIM ระหว่างที่เข้าร่วมงานเทศกาลดนตรี SXSW Sydney ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 14 - 20 ตุลาคม 2567 ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย

ทั้งหมดนี้คือบทเรียนจากประสบการณ์ตรงของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดนตรี ที่โครงการ Music Exchange เชิญมาเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ แก่ศิลปินไทยที่ไปทำการแสดงในเทศกาลดนตรีในต่างประเทศแบบครบจบตั้งแต่ช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเดินทางไปทำการแสดง นับได้ว่านอกจากโครงการจะช่วยสนับสนุนศิลปินไทยให้มีโอกาสได้ไปแสดงศักยภาพในเวทีระดับสากลแล้ว ยังช่วยให้ศิลปินที่สนใจไปโปรโมตผลงานในต่างประเทศ ได้เห็นถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะนำ Thai Music Wave ไปแสดงพลังบนเวทีระดับโลกต่อไปในอนาคต