DATA & Statistics

Gift Economy สุขนี้มีมูลค่า 2 ล้านล้าน

ตลาดอุตสาหกรรมของขวัญของไทย (ล้านบาท)

วัฒนธรรมการให้และรับของขวัญ (Gift Giving) ถือเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ที่เกิดมาควบคู่กับมนุษยชาติ และมีวิวัฒนาการไปตามแต่ละยุคสมัย เป็นขนบนิยมสากลทั่วโลกเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพราะนัยสำคัญคือการแสดงมิตรไมตรีจิตและการขอบคุณตอบแทนกลับ จะแตกต่างกันก็เพียงรูปแบบและวิธีการ ซึ่งยึดโยงกับประเพณีในพื้นถิ่นนั้น ๆ  
 


แม้ว่าการให้ของขวัญจะไม่จำเป็นต้องตอบแทนกลับในรูปแบบ “สิ่งของ” เสมอไป แต่ตามธรรมเนียมปฏิบัติในหลายประเทศทั่วโลกนั้น การให้และได้รับคืนกลับ คือหลักที่พึงปฏิบัติเสมอ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของธรรมเนียมตามปกติ หรือเป็นประเพณีตามเทศกาลโอกาสพิเศษต่าง ๆ และได้กลายเป็นระบบ “เศรษฐกิจของขวัญ” (Gift Economy) ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปแล้วทั่วโลก
 

อุตสาหกรรมของขวัญทั่วโลก โตแค่ไห 

มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมของขวัญทั่วโลก ในปี 2562 จากเว็บไซต์ Technavio และ Episerver ได้ให้ข้อมูลตามนี้

●    ตลาดค้าปลีกของขวัญ (Gift retail) ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท* และคาดว่าจะเติบโตประมาณ 2% ขึ้นไปแตะ 6.84 หมื่นล้านดอลลาร์ (2.1 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2567
●    ค่าใช้จ่ายในการซื้อของขวัญผ่านช่องทางออนไลน์ทั่วโลก มีมูลค่าประมาณ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (7.98 แสนล้านบาท) โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมแบ่งออกเป็นของที่ระลึก ของตกแต่งตามฤดูกาล และการ์ดอวยพร เป็นต้น 


ค่าใช้จ่ายในการซื้อของขวัญ แบ่งตามประเทศ ข้อมูลโดย Western Union 

 

●    ประเภทสินค้าของขวัญที่น่าจับตามอง คือ ของขวัญเฉพาะบุคคล (Personalized gifts) ที่ผ่านการตกแต่งด้วยการปัก แกะสลัก หรือ พิมพ์ชื่อ/ภาพ ของผู้ให้และผู้รับ กำลังเป็นที่นิยมในตลาด จากข้อมูลพบว่า สินค้าของขวัญกลุ่มนี้ในปี 2562 สามารถสร้างรายได้ถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (6.14 แสนล้านบาท) และมีแนวโน้มเติบโตประมาณ 7.7% ขึ้นไปถึง 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.32 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2570 โดยคาดการณ์ว่าผู้บริโภคในทวีปอเมริกาเหนือจะเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญในประเภทสินค้านี้

*(อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 30.7 บาท)

 

Gift Industry ใครเป็นใครในอุตสาหกรรมนี้ 

หากลองร่างแผนภาพซัพพลายของอุตสาหกรรมของขวัญ จะพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับหลากหลายธุรกิจ เริ่มตั้งแต่

●    ผู้ผลิตสินค้าที่ถูกนำมาใช้เป็นของขวัญ 
อ้างอิงจากการแบ่งหมวดหมู่สินค้าของกลุ่มอุตสาหกรรม จากสมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน (Thai Gifts Premiums & Decorative Association: TGP) ซึ่งมีการแบ่งหมวดหมู่สินค้าที่เกี่ยวข้องไว้ทั้งสิ้น 18 ประเภท ประกอบด้วย
1.    ดอกไม้ประดิษฐ์ (Artificial flower)  
2.    ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและของเล่น (Baby & Toys)
3.    ผลิตภัณฑ์ความงามและสปา (Beauty & Spa)
4.    เซรามิก/ แก้ว/ เครื่องปั้นดินเผา (Ceramic/ Glass/ Pottery)
5.    เครื่องแต่งกาย/ เครื่องประดับ (Costume/ Jewelry)
6.    ของตกแต่งบ้าน (Home decorative)
7.    ผลิตภัณฑ์จากเรซิ่น (Resin decorative)
8.    เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics)
9.    ผ้าและสิ่งทอสำหรับตกแต่งบ้าน (Fabric/ Home textiles)
10.    เฟอร์นิเจอร์ (Furniture)
11.    เครื่องครัว (Kitchenware)
12.    กระเป๋าหนังและอุปกรณ์ตกแต่งที่ทำจากหนัง (Bag and leather)
13.    ผลิตภัณฑ์จากโลหะ/ ทองแดง/ ทองเหลือง / พิวเตอร์ (Metal/ Bronze/ Brass/ Pewter)
14.    กระดาษ/ กระดาษสา (Paper and Saa paper)
15.    ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง (Pet product)
16.    บุหงา/ เทียนหอม / ธูปหอม (Potpourri/ Candle/ Aroma incense)
17.    ของพรีเมี่ยม (Premiums and promotional product)
18.    ผลิตภัณฑ์จากไม้ (Wood product)

●    ผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวเนื่อง 
เป็นสินค้ากลุ่มอุปกรณ์ตกแต่งให้สมบูรณ์สวยงาม เช่น บรรจุภัณฑ์ กระดาษห่อของขวัญ อุปกรณ์ตกแต่ง และการ์ดอวยพร

●    ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และ E-commerce: ที่เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าของขวัญ รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการจัดเซ็ตของขวัญ การห่อและตกแต่ง เป็นต้น

●    เดลิเวอรี่และงานบริการส่งมอบของขวัญ: ปัจจุบัน ธุรกิจเดลิเวอรีเริ่มทำธุรกิจนอกเหนือจากการเป็นผู้ส่งของเพียงอย่างเดียว โดยบริษัทบางแห่งเพิ่มฟังก์ชั่นให้พนักงานส่งของทำหน้าที่สร้างบรรยากาศและประสบการณ์ประทับใจแก่ผู้รับของขวัญแทนผู้ให้ด้วย เช่น ในโอกาสวันเกิดและวันวาเลนไทน์

 

ส่องวัฒนธรรมของขวัญ ‘ญี่ปุ่น’ 
พิธีกรรมทำเงินสะพัด Gift Economy

รากวัฒนธรรมการมอบของขวัญของชาวญี่ปุ่นนั้น เดิมทีได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน ในอดีตถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นทางการ โดยช่วงเวลาของการมอบของขวัญที่สำคัญประจำปี จะมอบกันใน 2 โอกาส คือ ในช่วงฤดูร้อน เรียกว่า Ochugen (โอะ-ชู-เง็น) เป็นการมอบของขวัญกลางปี โดยจะเริ่มมอบกันในช่วงวันที่  1 กรกฎาคม ไปจนถึง 15 สิงหาคม และมอบในช่วงฤดูหนาว เรียกว่า Oseibo (โอ-เซ-โบะ) เป็นการมอบของขวัญในช่วงสิ้นปี จะเริ่มมอบกันตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมจนถึงสิ้นปี

นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังมีธรรมเนียมการมอบของขวัญกันตามโอกาสสำคัญอื่น ๆ หนึ่งในข้อปฏิบัติทางสังคมที่จะมีการมอบของขวัญให้กันอยู่ตลอดทั้งปี คือ Omiyage (โอ-มิ-ยา-เกะ) เป็นการมอบของฝาก หรือ ของที่ระลึกหลังกลับมาจากการเดินทาง ซึ่งมักเป็นของฝากที่กินได้ เมื่อเดินทางกลับมาจากที่ต่าง ๆ ชาวญี่ปุ่นมักจะทำการมอบ Omiyage ให้กับเพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน และมอบให้กับสมาชิกในครอบครัว 

จากข้อมูลสรุปปี 2019 จาก White Paper on Tourism in Japan พบว่า ชาวญี่ปุ่นใช้เงินสำหรับการบริโภคช่วงเวลาท่องเที่ยวเฉพาะในประเทศ สูงถึง 22 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 6.19 ล้านล้านบาท* แม้ว่าจะไม่ชัดเจนว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก หรือการชอปปิงเพื่อซื้อสินค้าของฝากของที่ระลึก แต่ก็เป็นเม็ดเงินที่ค่อนข้างสูงมาก ซึ่งเกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกวัฒนธรรมจะคงอยู่ได้ตลอดไป ปัจจุบัน สถาบันครอบครัวของญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ความสัมพันธ์ทางเครือญาติเริ่มลดลง การมอบของขวัญตามประเพณีดั้งเดิมจึงมีแนวโน้มลดทอนความจริงจัง แต่การให้ของขวัญเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ ความรัก ความเคารพที่มีต่อคนใกล้ชิดเช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง และเพื่อน แบบที่ไม่คำนึงถึงประเพณีและความเป็นทางการ กำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพื่อปรับให้เข้ากับยุคสมัย 

* (อัตราแลกเปลี่ยน 100 เยน = 28.16 บาท)

จากข้อมูลในเว็บไซต์ Statista ตั้งแต่ปี 2015 – 2020 สรุปให้เห็นถึงมูลค่าการค้าปลีก (Retail value) ในกลุ่มสินค้าของขวัญ ทั้งในภาพรวมทุกเทศกาล และเฉพาะเทศกาล Ochugen/ Oseibo โดยพบว่า มูลค่าการค้าปลีกกลุ่มสินค้าของขวัญในทุกเทศกาล ปี 2020 นั้น มีการคาดการณ์ตัวเลขไว้ที่ 10.92 ล้านล้านเยน หรือ ประมาณ 3.07 ล้านล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มมูลค่าสูงขึ้นทุกปี 

อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้กลับสวนทางกับมูลค่าการค้าปลีกของขวัญเฉพาะเทศกาล Ochugen/ Oseibo ซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี เหตุเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้พิธีการในการมอบของขวัญตามเทศกาลแบบดั้งเดิมมีสัดส่วนที่ลดลง

จากผลสำรวจข้อมูลผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จำนวน 1,000 คน จากเว็บไซต์ MyNavi.jp ระบุว่า การมอบของขวัญตามเทศกาล Ochugen/ Oseibo เป็นเรื่องที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น ผู้มอบของขวัญมักประสบปัญหาเรื่องการจัดหาของขวัญที่ดูดี ซึ่งตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง ประเมินกันว่าของขวัญ 1 ชิ้น ที่มอบให้กันในเทศกาลหลัก จะอยู่ในช่วงราคา 3,000-5,000 เยน หรือ ประมาณ 800-1,500 บาท 

แม้อาจดูไม่แพงมากนักหากเทียบกับรายได้ต่อหัวของชาวญี่ปุ่น แต่ถ้าลองคิดเล่น ๆ ว่าเราต้องมอบของขวัญเหล่านี้ให้กับคนแวดล้อมใกล้ตัวทั้งหมด เพื่อแสดงความขอบคุณในมิตรไมตรีที่มีให้กัน จำนวน 2 ครั้งต่อปี ก็จะเป็นเม็ดเงินที่สูงพอสมควรสำหรับมนุษย์เงินเดือน 

นอกจากปัญหาของผู้ให้แล้ว ผู้รับเองก็ประสบปัญหาในอีกมุมหนึ่งเช่นกัน เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคมของญี่ปุ่น เมื่อเราได้รับของขวัญ ก็ต้องมีการส่งมอบของขวัญคืนเป็นการตอบแทนน้ำใจ ซึ่งก็จำเป็นต้องมีหน้าตาและราคาที่สมน้ำสมเนื้อกัน รวมไปถึงหากเป็นการได้รับมอบของขวัญจากคู่ค้าเชิงธุรกิจ อาจจะต้องส่งการ์ดหรือจดหมายขอบคุณตอบกลับไปด้วย ผู้บริโภครุ่นใหม่บางคนจึงมองว่าเป็นภาระ และกลายเป็นเหตุให้ตัวเลขมูลค่าการค้าปลีกของขวัญในช่วงเทศกาล Ochugen/ Oseibo มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจาก Nikkei Asia นำเสนอมุมปัญหาหนึ่งของการมอบของขวัญตามเทศกาลเอาไว้ว่า ด้วยความถี่และธรรมเนียมในการมอบของขวัญที่ค่อนข้างจริงจัง จึงมีการเลือกของขวัญในช่วงเทศกาลของขวัญโดยมิได้คำนึงถึงรสนิยมหรือความต้องการของผู้รับ ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมักได้รับของขวัญที่เป็นอาหาร เครื่องดื่ม ขนม และผลไม้ ที่มากมายเกินกว่าที่สมาชิกในบ้านจะบริโภคได้หมด

การสำรวจข้อมูลในปี 2017 โดย Japan's National Institute of Population and Social Security พบว่า 19.4% ของครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อาศัยอยู่ด้วยกันสองชั่วอายุคน ประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร แต่ขณะเดียวกันในแต่ละปีนั้น ญี่ปุ่นกลับเผชิญภาวะการทิ้งอาหารเหลือมากถึง 27.6 ล้านตันทั่วประเทศ เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นเชิงสังคมที่สร้างความกังวลใจให้กับชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งที่คำนึงถึงเพื่อนร่วมชาติ จำนวนกว่า 16% ที่ยังมีรายได้ต่ำ จัดอยู่ในสถานะยากจน และมีแนวโน้มหารายได้ไม่เพียงพอต่อการบริโภคอาหารในแต่ละวัน จึงมีความพยายามปรับเปลี่ยนทัศนคติการมอบของขวัญในช่วงเทศกาล ไปเป็นการบริจาคแก่ผู้ด้อยโอกาสเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในคราวเดียวกันด้วย


ส่องตลาด ‘จีน’ 
อะไรก็ดูยิ่งใหญ่ แม้กระทั่งการให้ของขวัญ

เทศกาลสำคัญที่ประชาชนชาวจีนจะส่งมอบของขวัญให้แก่กันนั้น มีอยู่หลายกลุ่มเทศกาล ทั้งที่เป็นเทศกาลแบบดั้งเดิม และแบบที่รับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา โดยแบ่งได้ดังนี้

1.    เทศกาลที่เป็นประเพณีดั้งเดิม 
คนไทยเชื้อสายจีนอาจจะค่อนข้างคุ้นเคย เพราะมีการรับขนบธรรมเนียมนี้มาถือปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลตรุษจีน เทศกาลไหว้พระจันทร์ และเทศกาลบ๊ะจ่าง ชาวจีนจะนิยมมอบขวัญให้แก่กันตามประเพณีในเทศกาลเหล่านี้ แต่ในปัจจุบัน สภาพโครงสร้างของประชากรจีนเปลี่ยนไป กลุ่มผู้บริโภคที่เกิดในช่วงปี 1980–1989 (พ.ศ. 2523–2532) ซึ่งเป็นกลุ่มวัยผู้ใหญ่ตอนต้น-ตอนกลาง ได้กลายมาเป็นคนทำงานและหารายได้หลักของครอบครัว ซึ่งคนกลุ่มนี้มักไม่เคร่งในประเพณีดั้งเดิมเหมือนคนรุ่นพ่อแม่ในช่วง เจน X ทำให้ผู้บริโภคหลักของเทศกาลแบบดั้งเดิมเกิดภาวะหดตัวลงอย่างมาก 

2.    เทศกาลคู่รัก 
ชาวจีนให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้ใน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ 
1) วันวาเลนไทน์สากล (Valentine’s Day) 14 กุมภาพันธ์ 
2) วันวาเลนไทน์จีน (Qixi Festival) หรือตำนานหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า ซึ่งตรงกับคืน 7 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน 
3) วันบอกรัก 520 (520 Day) หรือทุกวันที่ 20 พฤษภาคม ซึ่งเลข 520 ในภาษาจีนจะพ้องเสียงคล้ายกับคำว่า “หว่ออ้ายหนี่” หรือ I Love You 
  
การสำรวจข้อมูลของเว็บไซต์ iiMedia Research พบว่า ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเทศกาลคู่รัก และมีการส่องมอบของขวัญให้แก่คู่รักทั้ง 3 ช่วงเวลาในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยราคาของของขวัญที่มอบให้กันจะอยู่ในระดับราคาปานกลางถึงสูงมาก 

3.    เทศกาลอื่น ๆ 
ชาวจีนยังมีขนบนิยมที่จะส่งมอบของขวัญเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรักเคารพ เช่น เทศกาลวันแม่ วันพ่อ และเทศกาลวันครู แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวจีนมักจะแสดงการขอบคุณด้วยการส่งมอบอั่งเปาและการ์ดอวยพรทางออนไลน์แทน จึงทำให้การส่งมอบของขวัญในเทศกาลดังกล่าวมีแนวโน้มลดลง

จากขนาดตลาดกลุ่มสินค้าของขวัญในประเทศจีน ระหว่างปี 2018–2020 ใน iiMedia research ระบุว่า ภาพรวมตลาดสินค้ากลุ่มนี้ของจีนในปี 2020 (ตัวเลขคาดการณ์) อยู่ที่ 1.09 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 5.14 ล้านล้านบาท* หากเปรียบเทียบกับขนาดตลาดในปีก่อนหน้าจะเห็นว่ ามีสัดส่วนที่สูงขึ้นประมาณ 13% 

นอกจากนี้ หากพิจารณาข้อมูลเชิงลึก ยังพบความสัมพันธ์กันระหว่างอุตสาหกรรมของขวัญและ Live E-commerce ในส่วนของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายของสินค้าทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งมีแนวโน้มเป็นกลุ่มเดียวกัน พิจารณาได้จากช่วงอายุของผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม Taobao Live โดยสัดส่วนผู้ใช้งานสูงที่สุด อยู่ในช่วงอายุ 24-30 ปี ถึง 64.7% จากจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมด 

ในช่วงใกล้วันเทศกาลงานสำคัญที่ผู้บริโภคมองหาของขวัญให้แก่กัน Taobao Live มักจะมีการเปิดตัวสินค้าและเคมเปญลดราคาพิเศษสำหรับวันสำคัญ โดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาด เชิญคนดังหรือ Influencer มาทำการแนะนำสินค้า ส่งผลบวกให้ยอดขายสินค้าของขวัญในช่วงเทศกาลมีสัดส่วนที่สูงมาก 

ข้อมูลอุตสาหกรรมในภาพรวมระบุว่า ยอดขายสินค้าออนไลน์ของจีนในปี 2019 สูงถึง 10.63 ล้านล้านหยวน (50.15 ล้านล้านบาท) เมื่อเทียบกับปี 2012 ที่เริ่มมีการซื้อขายสินค้าผ่าน E-commerce จะพบว่ามีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 87.5% มีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 อุตสาหกรรม Live E-commerce ของจีน จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 9.61 แสนล้านหยวน (4.53 ล้านล้านบาท) หรือเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า กว่า 54.8% ซึ่งข้อมูลในข้างต้นล้วนแสดงให้เห็นถึงแรงส่งที่แข็งแกร่งตลอดทั้งซัพพลายเชน ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจของจีน

*(อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน = 4.72 บาท)

ข้อควรรู้ หาก ‘ไทย’ จะรุกตลาดของขวัญจีน 

●    หลายปีที่ผ่านมานี้ รายได้และรายจ่ายของประชาชนชาวจีนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ แม้ประชาชนชาวจีนบางส่วนจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 แต่ประชาชนส่วนใหญ่ ยังคงมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลให้ความสามารถในการจับจ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

●    ผู้บริโภคหลักในตลาดของขวัญจีน เริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคของผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่อยู่ในช่วงอายุ 24-30 ปี การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในเทศกาลคู่รัก ซึ่งถือว่าเป็นเทศกาลที่กลุ่มผู้บริโภควัยนี้ให้ความสนใจ และพร้อมจับจ่ายสินค้าของขวัญกันอย่างเต็มที่ 

●    ผู้บริโภคชาวจีนวัยสูงอายุ ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ดังนั้นกลุ่มสินค้าผลไม้เกรดพรีเมี่ยม และขนมที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นเอกลักษณ์ สะท้อนความเป็นไทย และมีนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ น่าจะเหมาะสมผู้บริโภคในกลุ่มนี้

●    ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับการมอบของขวัญในช่วงเทศกาลต่าง ๆ และราคาต่อหน่วยในการเลือกซื้อแต่ละครั้งก็อยู่ในระดับกลางถึงสูง ดังนั้น การเข้าไปสู้กับตลาดจีนด้วยราคา จึงไม่ใช่ทั้งกลยุทธ์ที่เหมาะสม และไม่อาจแข่งขันด้านราคากับจีนได้ด้วย

การพัฒนาให้สินค้ามีคุณภาพสูง แปลกใหม่ ถูกจริตผู้บริโภค น่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งศึกษาและดำเนินการ จากข้อมูลของ Statista ในปี 2020 มีการสำรวจความต้องการประเภทสินค้าของขวัญ ในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนระดับเศรษฐีร้อยล้าน (Millionaire) จำแนกตามเพศ พบว่า กลุ่มเศรษฐีนี ต้องการสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางมากที่สุด ส่วนกลุ่มผู้บริโภคเพศชาย มักมองหาของขวัญในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลที่น่าสนใจที่ผู้ประกอบการไทยควรจะศึกษาและพัฒนาสินค้าของขวัญให้ตอบสนองกับความต้องการของตลาด

 

ไลฟ์สไตล์ไทย ๆ 
ฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อน Gift Economy

ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย ปัจจุบันมีจำนวนรวมกว่า 6,000 กิจการ จากการรวบรวมข้อมูลของสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทยปี 2562 พบว่า ตลาดของขวัญ ของชำร่วย และของตกแต่งบ้านทั้งในประเทศและส่งออก มีมูลค่ารวมกว่า 64,000 ล้านบาท 

ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นตลาดของที่ระลึกที่ขายให้กับนักท่องเที่ยว มูลค่ามากกว่าปีละ 28,000 ล้านบาท ตลาดของชำร่วยที่บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ใช้ในการส่งเสริมการขาย ปีละกว่า 10,000 ล้านบาท และตลาดของขวัญ ของชำร่วย ตระกร้าของขวัญ อีกกว่า 2,000 ล้านบาท ส่วนการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศมีมูลค่าประมาณ 24,000 ล้านบาท 

ตลาดของขวัญ ของชำร่วยของไทย

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ ประสบปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องเป็นหลัก จากผลกระทบโควิด-19 เนื่องจากธุรกิจกว่า 81.3 % พึ่งพิงรายได้จากต่างชาติเป็นหลัก ทั้งในส่วนของการขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ 

ทั้งนี้ ในภาพรวมของอุตสาหกรรม ทางสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย คาดการณ์ว่าปี 2563 มูลค่าตลาดจะลดลงมากกว่า 40% ในจำนวนนี้เป็นยอดส่งออกที่จะลดลงกว่า 20% ขณะที่ตลาดในประเทศ ยังได้รับผลกระทบซ้ำจากการไหลบ่าของสินค้านำเข้าจากจีนราคาถูก ผ่านผู้ค้ารายย่อยตาม E-commerce Platform ต่าง ๆ กลุ่มผู้บริโภคชาวไทยจึงมีแนวโน้มใช้สินค้าที่ออกแบบและผลิตภายในประเทศในสัดส่วนที่ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหลายราย หันไปผลิตหน้ากากอนามัยและถุงผ้า เพื่อประคองธุรกิจเป็นการชั่วคราว
 

Local Market คือทางออก

หากเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ หรือ การเปิดประเทศล่าช้ากว่าที่คาดการณ์กันไว้ ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย จะปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อรักษาตัวรอดอย่างไร หากเรายังยึดโยงกับเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวหรือภาคการส่งออกเป็นหลัก ดังนั้น การผลักดันให้เกิดการอุปโภค-บริโภคสินค้าภายในประเทศ เฉกเช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น และ จีน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะการสร้าง Gift Economy ให้เป็นระบบ ซึ่งจะเป็นการสร้างศักยภาพใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย โดยมีประเด็นที่ควรต้องเร่งทำความเข้าใจ ดังนี้

Age Group
●    ศึกษาและทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละช่วงวัย เพราะเชื่อว่าแต่ละกลุ่มอายุย่อมมีความต้องการที่จะเสพสินค้าไลฟ์สไตล์ในฟังก์ชั่นที่แตกต่างกัน การพัฒนาสินค้า 1 ชิ้น ให้ตอบโจทย์ให้ครบทุกวัย อาจจะไม่ใช่แนวคิดที่ดีอีกต่อไป 

Trend
●    สร้างสรรค์สินค้าตามเทรนด์ที่ผู้บริโภคกำลังให้ความนิยม เช่น สินค้าเฉพาะบุคคล ที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อสามารถกำหนดสีและวัสดุที่ใช้ทำได้ด้วยตัวเอง แม้กระทั่งการพัฒนา Character หรือใส่ข้อความและภาพที่สื่ออัตลักษณ์ความเป็นตัวตนเข้าไปในชิ้นงานได้ น่าจะช่วยเพิ่มกำไรได้มากกว่า

Technology
●    สินค้าในกลุ่มไลฟ์สไตล์ส่วนใหญ่มักพึ่งพาแรงงานฝีมือ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงและส่อเค้าจะหาแรงงานเข้ามาทำงานได้ยากขึ้น ดังนั้น การหาตัวช่วยในการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน อาทิ 3D Printing หรือเครื่องกัดขึ้นรูปวัสดุ (CNC Milling Machine) อาจเป็นตัวเลือกเพื่อย่นระยะเวลา หรือลดต้นทุนในการผลิตของกิจการได้

Collaboration
●    การคอลแลบกันระหว่างแบรนด์ หรือ Co-Brand เป็นวิธีการทางการตลาดที่ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากแต่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต้องมีกระบวนความคิดที่ยืดหยุ่น และไม่ยึดติดกับแนวทางการพัฒนาสินค้าแบบเดิม ๆ พยายามมองหาฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ที่แบรนด์ไม่สามารถเข้าถึงได้หากขายสินค้าแบบเดิม ๆ หรือง่ายที่สุดคือ การร่วมพัฒนาสินค้ากับคนดัง หรือ Influencers ที่มีฐานแฟนคลับที่แข็งแรง 

Create Demand
●    การจะพึ่งพาตลาดในประเทศเพื่อทดแทนกำลังซื้อเดิมนั้น อาจจำเป็นต้องใช้การสร้างดีมานด์อย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานภาครัฐและสมาคมวิชาชีพในกลุ่มสินค้าของขวัญและไลฟ์สไตล์ไทย รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันการเงิน อาจร่วมมือกันเพื่อช่วยส่งเสริม ตั้งแต่การช่วยเรื่องเงินทุนหมุนเวียนในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ภายในประเทศ ไปจนถึงการออกนโยบายสนับสนุนต่าง ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อนำสินค้าไปใช้ในส่วนราชการ คล้ายกับการส่งเสริมสินค้านวัตกรรมผ่านบัญชีนวัตกรรมไทย โดยการจัดซื้อเพื่อนำไปใช้สอย ตกแต่ง ซ่อมแซม อาคารสถานที่ รวมไปถึงการจัดซื้อเพื่อใช้เป็นของที่ระลึกประจำส่วนงาน หรือไว้สำหรับมอบให้กับหน่วยงานพาร์ทเนอร์ ทั้งในและต่างประเทศตามโอกาสสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น 

 

แหล่งที่มาข้อมูล:
https://www.bangkokbanksme.com/en/gift-economy-thai-products-chinese-market https://www.posttoday.com/economy/news/632856
https://www.realestate-tokyo.com/living-in-tokyo/japanese-culture/business-gifts/
https://nippaku.wordpress.com/2017/09/07/gift-giving-in-japan/
https://www.ted.com/talks/alex_gendler_what_is_a_gift_economy/transcript?language=en#t-29283
https://medium.com/climate-conscious/the-beauty-of-a-gift-economy-ce481e366e31
https://www.fun-japan.jp/th/articles/4666
https://www.statista.com/statistics/701821/japan-gift-retail-market-size/
https://www.statista.com/statistics/702173/japan-year-end-gifts-retail-market-size/
https://www.statista.com/statistics/260755/preferred-gifts-for-men-by-chinese-millionairs/
https://www.statista.com/statistics/260764/preferred-gifts-for-women-by-chinese-millionairs/
https://www.marumura.com/oseibo/
https://www.entrepreneur.com/article/356056
https://start.askwonder.com/insights/online-gift-industry-uk-global-outlook-2-du34pdtm9
https://www.custom-gateway.com/global-market-personalised-gifts-will-rise-31-billion-2020/
https://www.marieclaire.com/home/g32237552/digital-gifts/
https://www.realestate-tokyo.com/living-in-tokyo/japanese-culture/japanese-gifts/
https://jpninfo.com/thai/9602
https://www.iimedia.cn/c400/73004.html
https://asia.nikkei.com/Editor-s-Picks/Tea-Leaves/
https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/454180